svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อ.ปริญญา" หนุน กกต.รับรองผลเลือก สว.ก่อน สอยทีหลัง เชื่อสภาสูงชุดใหม่ยึดโยง ปชช.มากขึ้น

28 มิถุนายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

"อ.ปริญญา" หนุน กกต.รับรองผลเลือก สว.200 คนก่อน ค่อยสอยผู้ที่กระทำผิดทีหลัง มั่นใจ สภาสูงชุดใหม่ยึดโยงประชาชนมากขึ้น

28 มิถุนายน 2567 นายปริญญา เทวานฤมิตกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนา "สว.67 ทางข้างหน้าจากสิ่งที่เห็น" ในหัวข้อ "เลือก สว.จะได้ประกาศผลหรือไม่ ปัญหาการฮั้ว กกต.จะสอยอย่างไร" ว่า ผลการเลือก สว.ที่ผ่านมา สะท้อนว่า ควรใช้การเลือกตั้ง สว.โดยตรงจากประชาชน เพราะระบบการเลือก สว.ครั้งนี้ เป็นไปตามที่ตนเองเคยได้ทำนายไว้ เพราะผู้ที่ได้เปรียบที่สุด จะต้องพวกเยอะ หรือจัดตั้งพวกให้ได้มากที่สุด และจะต้องมีทุนทรัพย์ หรือมีเครือข่ายในพื้นที่ และจะต้องมีดวงในกรณีที่มีการจับฉลาก โดยเฉพาะการแบ่งกลุ่มอาชีพ และจับฉลากในกรณีที่มีคะแนนเท่ากัน 

นายปริญญา ยังเห็นว่า ในขั้นตอนของการรับรองผลการเลือก สว.หรือการประกาศผล สว. 200 คนนั้น ยังเป็นปัญหาว่า จะต้องประกาศผลครบ 200 คน ในคราวเดียวหรือไม่ หรือสามารถประกาศเท่าที่ประกาศก่อนได้ ซึ่งส่วนตัวนั้น สนับสนุนให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้ได้ สว.ชุดใหม่จำนวน 200 คนเข้าไปทำหน้าที่แทน 250 สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ก่อน และหลังจากนั้น ค่อยดำเนินการสอยผู้กระทำผิด ซึ่งแม้การจัดตั้งนั้น จะไม่เป็นความผิด ถ้าไม่มีการให้ผลประโยชน์ แต่ถ้าเป็นพรรคการเมือง แม้ไม่ให้ผลประโยชน์ ก็เป็นความผิด จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการประกาศผลการเลือก สว. 

เช่นเดียวกับระยะเวลาการรับรองผลการเลือกตั้ง ที่ให้อำนาจ กกต.สามารถรับรองผลการเลือกได้ ไม่น้อยกว่า 5 วันนับจากวันที่มีการเลือกนั้น นายปริญญา เห็นว่า หาก กกต.จะเปลี่ยนใจ ขยับกรอบเวลาการรับรองผลการเลือกตั้งออกไปเกินกว่า 2 กรกฎาคมนี้ หรือ 5 วัน ก็จะต้องมีความชัดเจนว่า กกต.จะขยับเวลาออกไปกี่วัน 
 

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายปริญญา ยังมั่นใจด้วยว่า สว.ชุดใหม่นี้ เครือข่ายบ้านใหญ่จะมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และเชื่อว่า สว.ชุดใหม่จะรับฟังเสียงของประชาชนนอกสภามากขึ้น รวมถึงยังเชื่อว่า การเมืองหลังจากนี้ จะถือเป็นการจบสิ้นของ สว.ที่ คสช.คัดเลือก และสว.ชุดใหม่ น่าจะดีกว่ายุค คสช. เพราะสามารถปลดล็อกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเลือกกรรมการองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้ รวมถึงยังมีความหวัง ที่จะเห็น สว.ที่ทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย 

ส่วนการควบคุมเสียง หรือทิศทางของวุฒิสภาเหมือนที่ผ่านมานั้น นายปริญญา เห็นว่า จะไม่มีกลุ่มการเมืองใด ที่สามารถครองเสียงวุฒิสภาได้เกินครึ่ง เพราะก็ยังมี สว.ภาคประชาชน มากกว่า ดังนั้น ในการเลือกกรรมการองค์กรอิสระจะไม่มีใครกำหนดได้ และจะเกิดการต่อรอง พร้อมเชื่อว่า การทำหน้าที่ของ สว.จะมีบทบาทมากขึ้น เกิดจุดเริ่มต้นใหม่ของ สว.ภาคประชาชน พร้อมขอให้จับตาการเลือกประธานวุฒิสภา จากกรณีที่ไม่มีเครือข่ายพรรคการเมืองคุมเสียงได้ชัดเจนเกินครึ่งหนึ่งของวุฒิสภา 

"พิชาย" ถอดรหัสสนาม สว.ค่ายแดงแพ้ยับ-ค่ายน้ำเงินเป็นทางเลือกอำนาจเก่า ชี้ชะตา "เศรษฐา" ได้ 

ขณะที่ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองศาสตราจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวในการเสวนาเดียวกัน  ว่า ระบบการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถป้องกันการฮั้วได้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จนถึงประเทศ และยังมีการจัดตั้งเครือข่ายผู้มีสิทธิพล ที่มีอำนาจ และเงินอย่างหนาแน่น รวมถึงเครือข่ายในระดับจังหวัด ข้ามจังหวัดภายใต้ร่มเดียวกัน หรือเป็นเครือข่าย "สายน้ำเงิน" ซึ่ง สว.ที่ได้รับเลือกมาเป็นจำนวนมาก ไม่ได้สะท้อนตัวแทนกลุ่มอาชีพอย่างแท้จริง 

นายพิชาย ยังเชื่อว่า เครือข่ายสายน้ำเงิน มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับกลุ่มบางกลุ่มในสังคมไทย และ กกต.ก็จะไม่กล้าตรวจสอบ และคาดหวังได้ยากว่า กกต.จะตรวจสอบเพื่อเอาผิดย้อนหลังแก่ สว.เหล่านี้ เหมือนในการเลือกตั้ง สส.ที่ในเครือข่ายดังกล่าวมีการกระทำผิดมากที่สุด 

นายพิชาย ยังเห็นความสัมพันธ์ดังกล่าวในเชิงบวกต่อพื้นทางการเมืองของ สส.พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง กับจังหวัดที่ผู้ได้รับการ สว.ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งสะท้อนว่า เป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนระบบการจัดตั้ง เนื่องจากอาจมีทรัพยากร และมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางกลุ่มในสังคมไทย 

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองศาสตราจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า
นายพิชาย ยังเห็นในอีกด้านหนึ่งว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ ได้เห็นความพ่ายแพ้ของเครือข่ายสีแดง ซึ่งสะท้อนว่า ศักยภาพในการจัดตั้งสีแดงในยุคปัจจุบันอ่อนแอลงจากเดิมมาก และบ่งชี้ว่า บารมีทางการเมืองของผู้ที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายสีแดง ตกต่ำลง โดยสะท้อนจาก ความพ่ายแพ้ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นความไม่ไว้วางใจต่อเครือข่ายสีแดง และไม่ประสงค์ให้สายสีแดง คุมทั้งสภาล่าง และสภาสูง โดยเลือกใช้พรรคสีน้ำเงิน เพื่อคุมเสียงสภาสูงต่ออำนาจบางอำนาจ เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเชิงอุปถัมภ์ เมื่อมีเสียงข้างมากในสภา 100 เสียงขึ้นไป ก็ทำให้วุฒิสภาชุดนี้ เป็นอนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ แต่ความเข้มข้นอาจจะน้อยกว่า สว.ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ และในภาพรวม จะสามารถสร้างพันธมิตรชั่วคราวในบางประเด็น เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปได้ 

นายพิชาย ยังประเมินภูมิทัศน์การเมืองในการเลือก สว.ครั้งนี้ กับการเลือกตั้ง สส.ในปี 2570 ว่า กลุ่มแรก เครือข่ายสีแดง ที่เป็นประชานิยมฝ่ายขวา แต่แพ้การเลือก สว. เพราะศักยภาพในการจัดตั้งอ่อนแอลง และในการเลือก สส.ก็ยังอ่อนแอลงเช่นเดียวกัน จนแพ้ให้เสรีประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนว่า อาการหนัก และในการเลือก อบจ.ปทุมธานี ก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นอีกครั้ง และยังสะท้อนว่า จุดแข็งเครือข่ายสีแดง ได้กลายเป็นจุดอ่อนไปทั้งหมด และโอกาสฟื้นก็ยากลำบาก เพราะไม่สามารถจัดตั้งสู้อนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ หรือ เครือข่ายสีน้ำเงินได้ ซึ่งมีร่อยรอยมาตั้งแต่การเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ดังนั้น เครือข่ายบ้านใหญ่กลายเป็นของเครือข่ายสีน้ำเงิน ที่อำนาจและทรงพลังมากที่สุด 

ส่วนเครือข่ายสายสีน้ำเงินนั้น นายพิชาย เห็นว่า สามารถครองสภาสูงได้ และมีเสียงอยู่ในสภาล่าง จึงมีความเป็นไปได้ ที่เครือข่ายนี้ เมื่อไปรวมกับอำนาจเดิม ก็สามารถกำหนดชะตากรรมของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในเดือนหน้า เพราะกลุ่มอำนาจเดิม อาจมองว่า เครือข่ายสีแดงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแล้ว 

นายพิชาย ยังกล่าวถึงกลุ่มเสรีประชาธิปไตย ที่เป็นฝ่ายค้านเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะมีประชาชนหนุนหลังมากที่สุด ก็ยังมีแนวโน้มจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และการเลือก สว.ครั้งนี้ เพราะได้สะท้อนการเมืองที่ประชาชนไม่ได้พึงปรารถนา จนอาจนำไปสู่ผลการเลือกตั้งปี 2570 ในอนาคต 

นายพิชาย ยังได้เตือนสายสีน้ำเงิน แม้จะคุมเสียงข้างมากใน สว.ได้ แต่การกระทำตามอำเภอใจมากเกินไป เพราะเชื่อว่า ประชาชนจำนวนมากจะไม่ยอม พร้อมให้กำลังใจเครือข่ายสายเสรีประชาธิปไตย ที่จะเป็นหัวหอกสร้างการเปลี่ยนแปลงในสภาสูง

"ปุรวิชญ์" ชี้ สว.67 สะท้อนโครงข่ายการเมือง - เชื่อจะคล้าย สว.40 เกิดใบสั่งจิ้มเลือกกรรมการองค์กรอิสระ

นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้าน นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ไม่สามารถป้องกันได้การฮั้วได้ แม้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.จะออกแบบกระบวนการเลือกไขว้ไว้ก็ตาม และกระบวนการรับสมัครในการรับรองคุณสมบัติอาชีพตัวเองนั้น ก็เป็นช่องโหว่ที่ปรากฏขึ้นจริง แต่ก็สนับสนุนให้ เบื้องต้น กกต.ควรประกาศรับรองผลการเลือกไปก่อน เพื่อให้ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และทำให้ สว.ชุดเก่าได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงแม้ สว.ชุดใหม่ จะมีค่ายบ้านใหญ่ แต่หน้าตาก็ดูดีกว่า สว.ชุดที่ผ่านมา เพราะเห็นได้จากที่คนธรรมดา สามารถเข้าไปทำหน้าที่ได้ และเป็นเสียงที่สามารถช่วยขับเคลื่อนารเมืองที่ควรเดินหน้าประเทศทางเมืองในทางที่ควรจะเป็นได้ 

นายปุรวิชญ์ ยังเห็นว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ ไม่ได้ปรากฏแค่เครือข่าย แต่ได้กลายเป็น Co-ordinated Block Vote เป็นโครงข่าย ที่นำหลายเครือข่ายมารวมกัน ประสานกันอย่างหลวม ๆ เพื่อรับประกันการเลือก สว. สะท้อนได้จากคะแนนการเลือก สว.ในหลายกลุ่มอาชีพ จนสามารถทำนายล่วงหน้าได้ว่า สภาพการณ์ สว.ชุดใหม่ จะคล้ายกับ สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีความชัดเจนว่า จะมีการจับกลุ่มกัน และจะยิ่งเห็นความชัดเจนในอนาคตว่า ในการเลือกกรรมการอิงค์กรอิสระ ที่ในอดีตมีค่ายสีแดงมาก แต่ปัจจุบัน ได้กลายเป็นสีน้ำเงิน สามารถขายสัดส่วนเสียงได้ ซึ่งในเริ่มแรกจะเป็นเครือข่ายเล็ก ๆ และจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เห็นใบสั่งการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ ที่สามารถให้คุณให้โทษ และสามารถกำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยได้ และจะมี สว.ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายค้าน เป็นขาประจำในการคัดค้านเรื่องต่างๆ ในสภาสูง

นายปุรวิชญ์ ยังได้ไล่เรียงตารางเวลาการเลือกกรรมการองค์กรอิสระหลังจากนี้ ที่จะเกี่ยวข้องกับวุฒิสภา วาระการทำงาน 5 ปีนับจากนี้ เพราะวาระกรรมการองค์กรอิสระหลายองค์กร จะครบวาระในช่วง 2-3 ปีนี้ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.ที่จะครบวาระ 6 คนจาก 7 คน, ตุชาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช. 3 คน ในช่วงปลายปีนี้ และกรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 คนในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะสามารถเห็นแบบแผนการลงมติได้  ในปี 2568 กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะครบวาระ 5 คน และการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

รวมถึงในปี 2570 จะมีกรรมการ ป.ป.ช.อีกส่วนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไป หรือ การเลือกตั้ง สส. รวมถึงในปี 2571 ก็จะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน 

logoline