31 มีนาคม 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศพม่า ส่งให้ภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบความเสียหายโดยเฉพาะตึกสูง อย่างเหตุตึก สตง.ถล่ม ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ย่านจตุจักร มีคนงานเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้สูญหายจำนวนมาก เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีหลายตึกสูงในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย ทั้ง สำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล
จนมีการตั้งคำถามว่า จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ไกลถึงประเทศพม่า ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า 1,300 กิโลเมตร แต่ทำไมตึกสูงในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหายหลายแห่ง ขณะที่บ้านเรือนประชาชนที่มีความสูง 1 ถึง 2 ชั้น กลับรู้สึกว่าสั่นเพียงเล็กน้อย เท่านั้น
ล่าสุด ช่อง เฟซบุ๊ก WiTcast เผยแพร่คลิปการสาธิตและคำอธิบาย เกี่ยวกับคลื่นความถี่ของแผ่นดินไหว โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ระบุว่า
แรงการสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบต่อ อาคารที่มีความสูง กลาง ต่ำ จะแตกต่างกันออกไป ถ้าการสั่นสะเทือนช้าๆ จะส่งผลกระทบต่อตึกสูงมากกว่า
ถ้าแรงสั่นสะเทือนมีความถี่ระดับกลาง ส่งผลกระทบต่ออาคารที่มีความสูงขนาดกลาง
ถ้าแรงสั่นสะเทือนมีความถี่สูง จะส่งผลกระทบต่ออาคารและบ้านเรือนที่มีความสูง 1 ถึง 2 ชั้น หรือสูงไม่มาก ตรงนี้ คาดว่า บ้านเรือนที่มี ความสูง 1 - 2 ในพื้นที่ภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ
กรณีนี้จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใด ตึกสูงใน กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ไกลจากประเทศพม่ากว่า 1,300 กิโลเมตร จึงได้รับความเสียหายหลายหลายแห่ง