svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สภาสูง รุมถล่มรัฐบาลระบบแจ้งเตือนภัยประเทศล่าช้าล้มเหลว

สภาสูง รุมถล่มรัฐบาลระบบแจ้งเตือนภัยประเทศล่าช้าล้มเหลว – หวังแผ่นดินไหวครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย ปชช.ต้องช่วยตัวเอง

พลตำรวจตรีรมย์สิทธิ์ วีริยาสรร สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 จนส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทำให้ประชาชนหวาดวิตกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ขนาด 30 ชั้นถล่มลงมา รวมถึงยังเกิดเหตุอาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานครไม่ปกติ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระบวนการรับมือแผ่นดินไหว แทบจะไม่เคยมีการถ่ายทอดการรับมือเหตุดังกล่าวจนเกิดการอพยพวุ่นวาย การจราจรติดขัดเป็นอัมพาท  ทำให้หน่วยกู้ชีพ ไม่สามารถเข้าพื้นที่เป้าหมายได้ สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์วิกฤต ประชาชนจำนวนมาก ยังไม่ได้รับข้อความ SMS เดือนภัย ตั้งแต่การเกิดเหตุสึนามิ จนปัจจุบัน 20 ปี แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังไม่เห็นภาพ การบัญชาการเหตุการณ์ การบริหารภาวะวิกฤตของผู้บริหารประเทศ จนทำให้เกิดวิปโยคในประเทศ ประชาชนกังวลถึงความปลอดภัย ดังนั้น จึงจำเป็นที่ สว.ควรจะได้ร่วมกันระดมความเห็น เพื่อเสนอไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา ที่เห็นว่า ระบบเตือนภัยของประเทศจากภาครัฐ ยังไม่มีอะไรดีขึ้นตั้งแต่เหตุสึนามิ จนปัจจุบัน ซึ่งมีการแจ้งเตือนให้เข้าพื้นที่ภายหลังเกิดเหตุไปแล้ว 5-6 ชั่วโมง หรือ 5 ทุ่ม ซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่ใช่การแก้ปัญหาเร่งด่วน และไม่เคยมีการซักซ้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติ พร้อมยกตัวอย่างการแจ้งเตือนภัยของประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ที่มีการแจ้งเตือนอย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพถึงประชาชน ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการระบบ Cell Broadcast ตั้งศูนย์การเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีการฝึกซ้อมประจำปี และเสริมความรู้ให้กับประชาชน พร้อมเร่งประเมินอาคารพื้นที่เสี่ยง ติดตั้งระบบเซ็นเตอร์ตรวจจับเพิ่มเติม เป็นต้น

ด้าน นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ครอบครัวนายกรัฐมนตรี เผชิญภาวะวิกฤตมาแล้ว ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เผชิญเหตุสึนามิ, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เผชิญมหาอุทกภัย ปี 2554 และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เผชิญเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะนำประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤตมาใช้บ้าง แต่รัฐบาลกลับไม่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมยังสะท้อนปัญหาการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ จนมาทราบเหตุภายหลังโลกโซเชียลมีการเผยแพร่ และไม่มีเจ้าภาพสั่งการในที่เกิดเหตุ หน่วยงานรัฐไม่มีใครบัญชาการสถานการณ์ และล่าช้า หน่วยงานภาคประชาสังคม กลับเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้เร็วกว่า

 

นางสาวนันทนา ยังเห็นว่า ที่ผ่านมาการสื่อสารของรัฐบาล ไม่เคยทำให้ประชาชนอุ่นใจ ตั้งแต่เกิดเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะ หรือ Cell Broadcast แต่ภัยพิบัติต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นจนปัจจุบัน แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนว่า เกิดเหตุอะไรขึ้น เกิดที่ไหน และควรปฏิบัติตนอย่างไร เกิดการเกี่ยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐในการส่งข้อความ เพราะไม่ทราบว่า จะต้องส่งข้อความอย่างไร จนเวลาผ่านไป เพิ่งแจ้งวิธีการปฏิบัติตน ภายหลังเกิดการณ์ผ่านไปแล้ว 23 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า ข้อความที่ภาครัฐส่งมานั้นเป็นการเตือนสติตัวเองมากกว่าหรือไม่ ให้ส่งข้อความถึงประชาชนให้เร็ว ดังนั้น ตนเองหวังว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ประชาชนจะต้องสื่อสาร หาข่าว และช่วยเหลือตัวเองเอง

 

ขณะที่ นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ประเทศไทยยังอ่อนแอในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ดังนั้น ตนเองจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะ หรือ Cell Broadcast และฝึกพร้อมการอพยพในโรงเรียน เสมือนการฝึกอพยพจริง การอพยพจากตึกสูง เสมือนการอพยพเหตุหนีไฟ และจะต้องกำหนดการก่อสร้างอาคารหลังจากนี้ จะต้องรับแรงแผ่นดินไหวได้

 

นายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ตนเองรับไม่ได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยสาธารณะ ทั้งที่มีการถอดบทเรียนตั้งแต่เหตุสึนามิ แต่ระบบ Cell Broadcast ก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งตนเองเชื่อว่า กาสิโนที่รัฐบาลกำลังผลักดัน จะสำเร็จก่อนระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะ

 

ด้าน นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ตึกมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทของ สตง.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระถล่มว่า หากเป็นตึกของหน่วยงานราชการอื่นถล่ม สตง.คงเร่งสอบสวน และเอาผิดให้ได้ แต่ปัจจุบันใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ สตง.และนายกรัฐมนตรีเอง ก็ไม่ยังไม่ความชัดเจนในการตรวจสอบ และตนก็กังวลการตรวจสอบ สตง.และการถอดถอน สตง. รวมถึง กสทช.ที่มีอำนาจหน้าที่ในกำกับระบบสื่อสาร ก็ไม่มีใครสามารถถอดถอนได้ สว.ทำหน้าที่ได้เพียงเห็นชอบ แต่ไม่สามารถถอดถอนได้ เปรียบเสมือนการตีเช็กเปล่าให้องค์กรอิสระเหล่านี้ ทั้งที่การส่งข้อความ SMS นั้น ก็ไม่ได้ยาก ตนจึงเห็นว่า เป็นข้อบกพร่อง ที่นายกรัฐมนตรี ควรจะแก้ไขปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย ประธานวุฒิสภา จะได้นำความเห็นทั้งหมด เสนอไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป