31 มีนาคม 2568 เป็นเหตุระทึกที่เกือบกลายเป็นเหตุชุลมุน กรณีที่เมื่อช่วงสายของวัน ที่จู่ๆ มีการเผยแพร่ว่า อาคารสูงหลายแห่งในพื้นที่ กทม.สั่งอพยพผู้คนอย่างโกลาหล โดยมีการระบุว่า "รู้สึกถึงความสั่นไหวของอาคาร" บางแห่งถึงขนาดมีรายงานว่า "พบอาคารยุบตัว-เอียง โดยระหว่างมีสัญญาณเตือนภัยพบว่า มีเสียงดังคล้ายกับมีการแตกร้าวของอาคาร" จนมีการตั้งคำถามว่า เกิดแผ่นดินไหว หรือ อาฟเตอร์ช็อกขึ้นหรือไม่ อย่างไร
แต่ภายหลังทางรัฐบาล ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันหนักแน่นว่า
วันนี้ประเทศไทยไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ส่วนอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหว ที่ประเทศเมียนมา ก็ไม่ส่งผลถึงประเทศไทย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับที่ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ในฐานะ ผอ.ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร จากเหตุแผ่นดินไหว ได้ออกมาย้ำ
"ขอให้ประชาชนตั้งสติ ย้ำไม่มีแผ่นดินไหวเพิ่มเติม อาคารโครงสร้างแข็งแรงไม่มีเหตุให้พัง"
ทั้งนี้ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เผชิญกับภาวะโรค ที่มีชื่อว่า “เมาแผ่นดินไหว” หรือ “โรคเวียนหัวหลังแผ่นดินไหว” ทำให้รู้สึกเหมือนตนเองกำลังโคลงเคลงหรือเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัวของมนุษย์
การเผชิญกับภาวะโรคสมองเมาแผ่นดินไหว ในบางรายอาจมีผลกระทบที่รุนแรง และอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลและโรคไมเกรน ซึ่งจะมีแนวโน้มและอาการมากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตามหากมีอาการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการบรรเทาโรคสมองเมาแผ่นดินไหว และวิธีจัดการความเครียด ดังต่อไปนี้
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
1. สูดหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ เหมือนการทำสมาธิ จะช่วยให้ผ่อนคลาย และระบบการทรงตัวจะค่อย ๆ เริ่มกลับมาทำงานอย่างปกติ
2. ดื่มน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำขิง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
3. พักสายตาจากหน้าจอมือถือ หยุดการเพ่งหรือจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการไถฟีดข่าว เพราะสายตาจะเห็นการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
4. มองไปที่จุดไกล ๆ ภาพที่ผ่อนคลายสบายตา เช่น เส้นขอบฟ้า ผืนนา และภาพธรรมชาติต่างๆ หรือนอนราบลงจะช่วยทำให้อาการดีขึ้น
5. พูดคุยกับผู้อื่น เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจและผ่านเหตุการณ์เดียวกันมา
6. หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือจำกัดเวลาในการติดตามข่าว เพราะจะเป็นการกระตุ้นความเครียดได้ง่าย
7. หาที่พักที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หากยังรู้สึกตื่นตระหนกอยู่ ควรไปนอนพักที่ในสถานที่รู้สึกปลอดภัยก่อน
8. สามารถกินยาแก้เมารถ เพื่อรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แล้วนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากใครที่ปวดหัวหลังแผ่นดินไหว ก็สามารถกินยาแก้ปวดรักษาตามอาการได้
"รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชน หากประชาชนยังมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถขอคำปรึกษาผ่าน http://here2healproject.com ซึ่งเป็นโครงการระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชท เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจะมีข้อแนะนำการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้น
ทั้งนี้ หากยังมีอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที หรือหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 หรือสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323"