svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

สธ.เตือนประชาชนระวัง ‘นิ่วทอนซิล’ เจ็บคอ-มีกลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณเตือน

23 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวัง “นิ่วทอนซิล” ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อราในช่องปาก

การทำความสะอาดช่องปาก เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ หากไม่ได้รับการดูแล อาจมีเศษอาหารติดอยู่บริเวณซอกหลืบของต่อมทอนซิลจนเกิดการรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อราจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า “นิ่ว” บริเวณต่อมทอนซิล

“นิ่วทอนซิล” คืออะไร?
นิ่วทอนซิล หรือ Tonsil Stones เป็นการรวมตัวกันของแบคทีเรียและเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ตามซอกหลืบและเกิดอุดที่บริเวณท่อทอนซิล ซึ่งนิ่วทอนซิลจะมีลักษณะเป็นก้อนสีขาวเหลืองขุ่นๆ ขนาดเท่าเมล็ดข้าวหรือเมล็ดถั่ว แม้ว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่นิ่วทอนซิลนี้จะส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้

สธ.เตือนประชาชนระวัง ‘นิ่วทอนซิล’ เจ็บคอ-มีกลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณเตือน

กลิ่นปาก…เกี่ยวข้องกับ “นิ่วทอนซิล” ได้อย่างไร?

เมื่อเกิดการหมักหมมของทั้งเศษอาหาร เศษเนื้อที่ตายแล้ว และน้ำลาย จึงเรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวกันของแบคทีเรียชั้นดีที่ส่งผลให้มีกลิ่นปากหรือลมหายใจเหม็น นอกจากนี้ก้อนนิ่วทอนซิลยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก หรือทอนซิลบวมได้

สธ.เตือนประชาชนระวัง ‘นิ่วทอนซิล’ เจ็บคอ-มีกลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณเตือน

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า นิ่วทอนซิลเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาทอนซิลอักเสบหลายครั้งมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการติดเชื้อของทอนซิลทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อส่วนเกินมากขึ้น และเนื้อเยื่อเหล่านี้อาจก่อตัวเป็นซอกและร่องในต่อมทอนซิล จึงทำให้เซลล์ที่ตายแล้ว น้ำลาย และเศษอาหารต่าง ๆ ติดอยู่จนเกิดการรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อรา สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ จับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า “นิ่ว”

นิ่วทอนซิลเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของต่อมทอนซิล มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลืองหรือสีขาวขนาดเท่ากับเมล็ดถั่ว โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก เกิดการระคายเคือง เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรือทำให้ต่อมทอนซิลบวม หรือเจ็บบริเวณหู ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินประสาทร่วมระหว่างหูและต่อมทอนซิลได้

ทางด้าน พญ.กัลยาณี วิทยเจียกขจร นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) กล่าวถึงการวินิจฉัยนิ่วทอนซิลว่า แพทย์จะวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องมือตรวจที่ช่องคอ หรือบางกรณีอาจใช้ภาพเอกซเรย์ หรือภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใดๆ หากอาการ ไม่รุนแรง แต่หากนิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่หรือมีอาการ เช่น เจ็บคอ มีกลิ่นปากมาก ต่อมทอนซิลบวมอักเสบ หรือปัญหา ในการกลืนอาหาร ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

สธ.เตือนประชาชนระวัง ‘นิ่วทอนซิล’ เจ็บคอ-มีกลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณเตือน

สำหรับการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีที่มีนิ่วทอนซิลขนาดเล็ก สามารถกลั้วคอบ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ หรือใช้คอตตอนบัดก้านสำลีเขี่ยออกได้ แต่ถ้ามีขนาดปานกลางถึงใหญ่ อาจจะต้องทำการผ่าตัดต่อมทอนซิล เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วออกไป ส่วนวิธีป้องกัน ทำได้โดยการดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปาก วิธีนี้จะช่วยลดการก่อตัวของนิ่วและกลิ่นปาก ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบ

หรือหากพบสิ่งผิดปกติของต่อมทอนซิล ควรรีบเข้าพบแพทย์ ไม่ควรใช้เครื่องมือเอาออกเอง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือทำให้เลือดออกได้

 

 

 

source : สสส. / โรงพยาบาลเปาโล

logoline