svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รู้ลึกรู้จริงเรื่อง “ไอโอดีน” สารอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้

27 มิถุนายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ขาดไอโอดีนไม่ได้เป็นแค่ “โรคคอพอก” ส่องความสำคัญของแร่ธาตุชนิดนี้ที่ไม่ได้มีแค่ในเกลือหรืออาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังพบในพืชผักผลไม้ แล้วร่างกายต้องการมากน้อยแค่ไหน กินมากไปอันตรายหรือไม่ เรามีคำตอบ!!

ไอโอดีน (lodine) คือแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อทุกเซลล์ในร่างกาย แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้อ ต้องรับจากภายนอกเท่านั้น และมีความสำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย มีส่วนช่วยในการเจริญและเติบโตของระบบประสาทและสมอง หากได้รับไอโอดีนมากเกินไปก็อาจทำให้เกิด “ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ” ในทางกลับกันหากขาดสารไอโอดีน ก็มีผลทำให้เกิด “โรคคอพอก” ทำให้สมองเกิดความพิการในเด็กทารก ร่างกายอ่อนเพลีย โดยกลุ่มที่อยู่ในภาวะเสี่ยง เช่น ทารกในครรภ์มารดา เด็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยเรียน และเด็กวัยรุ่น เป็นต้น

รู้หรือไม่? เกลือทะเล และเกลือสินเธาว์ ไม่มีไอโอดีน!! เพราะไอโอดีนระเหยออกไปในขั้นตอนการตากน้ำทะเลให้เป็นเกลือ แต่สารไอโอดีนที่มีในเกลือคือสิ่งที่ถูกเติมลงไป

รู้ลึกรู้จริงเรื่อง “ไอโอดีน” สารอาหารสำคัญที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้

แหล่งที่มาของไอโอดีน

อาหารที่มีสารไอโอดีนตามธรรมชาติพบมากในพืชและสัตว์ทะเล เช่น

  • ปลาทะเล 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 25-70 ไมโครกรัม
  • สาหร่ายทะเลแห้ง 100 กรัม มีสารไอโอดีน 200-400 ไมโครกรัม สำหรับสาหร่ายเป็นอาหารที่มีไอโอดีนค่อนข้างสูง และยังเป็นแหล่งของสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสาหร่ายแต่ละชนิดจะมีปริมาณไอโอดีนที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของสาหร่าย 
  • หอยนางรมปรุงสุกปริมาณ 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 110 ไมโครกรัม เป็นอาหารที่มีไอโอดีนสูง มีโปรตีน วิตามินบี 12 สังกะสี ซีลีเนียม ทองแดง ธาตุเหล็ก และกรดไขมันโอเมก้า3
  • กุ้งทะเล ปริมาณ 100 กรัม มีสารไอโอดีนประมาณ 40–59 ไมโครกรัม เป็นอาหารแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน วิตามินบี 12  ซีลิเนียม และฟอสฟอรัส

ผักผลไม้ก็มีไอโอดีน

ในผักและผลไม้มีไอโอดีนตามธรรมชาติ แต่ปริมาณไม่มากเมื่อเทียบกับเกลือเสริมไอโอดีน (เกลือ 1 ช้อนชาเท่ากับ 5 กรัม มีไอโอดีนประมาณ 150 ไมโครกรัม) ตัวอย่างปริมาณไอโอดีนในผักผลไม้ เช่น

  • ใบชะมวง มีสารไอโอดีนประมาณ 18 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • ยอดสะเดาลวก มีสารไอโอดีนประมาณ18 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • ยอดส้มป่อย มีสารไอโอดีนประมาณ 17 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • ยอดมะกอกป่า มีสารไอโอดีนประมาณ 14 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • ผักมันปู มีสารไอโอดีนประมาณ 12 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • ผักหวานบ้าน มีสารไอโอดีนประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • กล้วยน้ำว้าสุก มีสารไอโอดีนประมาณ 12 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • กล้วยหอมสุก มีสารไอโอดีนประมาณ 12 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
  • กล้วยไข่สุก มีสารไอโอดีนประมาณ 9 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม

นอกจากนี้ ไอโอดีนยังมีในไข่ไก่ โดยไข่ไก่ 1 ฟอง จะให้ปริมาณไอโอดีนที่ประมาณ 22–24 ไมโครกรัม หากเป็นไข่ที่เสริมไอโอดีนด้วย จะมีปริมาณไอโอดีนสูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อฟอง สำหรับผลิตภัณฑ์นมที่มีไอโอดีน เช่น โยเกิร์ต นม ชีส รวมถึงสามารถพบในน้ำนมแม่ และนมสูตรสำหรับทารก

ความต้องการไอโอดีนในแต่ละวัย

ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย มีดังนี้

  • ทารกแรกเกิดจน-ก่อนอายุครบ 6 เดือน ได้รับสารไอโอดีนจากน้ำนมแม่
  • ทารกอายุ 6-11 เดือน ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 70 ไมโครกรัม
  • เด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับสารไฮโอดีนวันละ 90 ไมโครกรัม
  • เด็กวัยรุ่นอายุ 9-12 ปี ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 120 ไมโครกรัม
  • เด็กวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 130 ไมโครกรัม
  • ผู้ใหญ่ ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม
  • หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรได้รับสารไอโอดีนวันละ 250 ไมโครกรัม

ตามคำแนะนำในการบริโภคไอโอดีน โดยสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ต้องเสริมสารไอโอดีน ได้แก่

น้ำปลา ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 และไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มีคำแนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา (เกลือ 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 กรัม มีไอโอดีน ประมาณ 150 ไมโครกรัม) หรือผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับการกินอาหารที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ เช่น อาหารทะเล ผัก และผลไม้บางชนิด

สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความต้องการไอโอดีนมากกว่าปกติ จำเป็นต้องกินยาเม็ดเสริมไอโอดีน วันละ 1 เม็ด ทุกวัน ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอดให้นมบุตร 6 เดือน (ประกอบด้วย ไอโอดีน 150 ไมโครกรัม ธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัม) เพิ่มจากอาหารหลัก

ผลจากการขาดไอโอดีน

โรคคอพอก (Goiter)

เกิดจากการได้รับไฮโอดีนไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ทำให้เซลล์ของต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นจนเกิดการเพิ่มจำนวนเซลล์ (Hyperplasia) ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นกว่าปกติ และเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypoth yroidism) ทำให้อัตราการเผาผลาญของร่างกายต่ำ ผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตตัวล่างสูง เชื่องช้า ง่วงนอน ท้องผูก ผิวหนังและผมแห้ง ถ้าเป็นเด็กจะรูปร่างเตี้ย

ผลด้านการเจริญเติบโตและการพัฒนาการของร่างกาย

ไอโอดีนกับหญิงตั้งครรภ์

ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตของระบบประสาทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงควรได้รับไอโอดีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเซลล์ประสาทและสมองในปริมาณที่พอเพียง หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดสารไอโอดีนไปด้วย เนื่องจากไอโอดีนเป็นสารอาหารที่ไม่สามารถสร้างได้เองในทารกจะต้องได้รับจากแม่เท่านั้นและนอกจากนี้ยังพบว่าในหญิงตั้งครรภ์จะมีการทำงานของไตที่หนักกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดการขับไอโอดีนออกจากร่างกายปริมาณมากกว่าคนอื่น จึงควรบริโภคไอโอดีนมากกว่าปกติ และแม่ตั้งครรภ์ควรบริโภคไอโอดีนอย่างน้อย 250 โมโครกรัมต่อวัน

ผลของการขาดไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์

  • ผลต่อแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ หากมารดาได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอในขณะตั้งครรภ์ มีผลทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมนในต่ำในคุณแม่ ทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ การทำหน้าที่ของร่างกาย จิตใจ และสมรรถภาพการทำงานด้อยลง และอาจทำให้เกิดคอพอกในคุณแม่ได้
  • ผลต่อทารก ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นสำหรับทารกตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์ หากแม่ขาดสารไอโอดีนในขณะตั้งครรภ์ส่งผลอย่างรุนแรงกับทารกในครรภ์ คือทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือแท้ง ทารกพิการแต่กำเนิด ออทิสติก เมื่อโตขึ้นส่งผลทำให้ความเจริญทางร่างกายช้า การเจริญเติบโตทางสมอง สติปัญญาล่าช้า 
  • ผลต่อคุณแม่หลังคลอดและให้นมบุตร ในระยะหลังคลอดหรือให้นมบุตร ไอโอดีนยังมีความจำเป็นสำหรับมารดาและทารก ในน้ำนมจะมีปริมาณไอโอดีนมากกว่าในกระแสเลือด และเนื่องจากต่อมน้ำนมมีการใช้ไอโอดีนปริมาณมากทำให้ปริมาณไอโอดีนที่เก็บสะสมไว้หรือปริมาณไอโอดีนในกระแสเลือดของคุณแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณแม่มีภาวะขาดไอโอดีน และได้รับไม่เพียงพอจะทำให้ทารกได้รับไอโอดีนไม่พอเช่นกัน อาจทำให้เกิดภาวะคอพอก การทำหน้าที่ของร่างกาย จิตใจ และสมรรถภาพการทำงานด้อยลง

นอกจากนี้ ในเด็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยเรียน เด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ หากมีภาวะขาดไอโอดีน ทำให้เป็นคอพอก มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) และมีความบกพร่องด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นคนเชื่องซึม เฉื่อยชา

ผลจากการได้รับไอโอดีนมากเกินไป

การได้รับไอโอดีนในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดอาการเดียวกับการขาดไอโอดีน เช่น โรคคอพอก หรือภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สังเคราะห์และหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ทำให้ต่อมไทรอยด์จับสารไอโอดีนมาก ทำให้เกิดการผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป การได้รับไอโอดีนในปริมาณที่มากเกินเรื้อรัง อาจทำให้เกิด “ต่อมไทรอยด์อักเสบ” และเป็น “โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์” มีอาการผิดปกติ เช่น ทางระบบประสาท อัตราการเต้นของหัวใจสูง นอนไม่พอ อ่อนเพลีย เหงื่อออกง่าย น้ำหนักลดทั้งที่กินมาก อาการเป็นพิษเฉียบพลัน ได้แก่ แสบปากคอและท้อง มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ชีพจรเต้นช้า

ปัญหาที่น่าห่วงของคนไทยคือ เรากินข้าวนอกบ้านมากขึ้น ต้องพึ่งผู้ประกอบการร้านค้าในการปรุงอาหารมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ไปยังผู้ประกอบการอาหาร พ่อครัว แม่ครัว ให้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร เพื่อให้คนไทยหรือผู้บริโภคได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันได้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป เพราะหากได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการได้

logoline