svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ลุ้น “สุภา” รอดหรือร่วง หลัง ป.ป.ช.ชง "ไม่ไต่สวน" คดีอุ้มบิ๊กโจ๊กก่อนพ้นหน้าที่

24 มิถุนายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

วันนี้ลุ้นกันว่า สุภา ปิยะจิตติ จะมีเส้นทางอย่างไรหลังพ้นตำเเหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เพราะ บก.ปปป.ส่งสำนวนคำฟ้องว่าสุภากับคนในสนามบินน้ำช่วยเหลือบิ๊กโจ๊ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ประจำวันที่ 24 มิ.ย. 2567 นั้น  ต้องติดตามว่า จะมีการพิจารณาวาระ “เรื่องเสนอไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา (กรณีผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งระดับสูง) หรือไม่ ในกรณีที่ บก.ปปป. ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษให้สำนักงานปปช.ดำเนินคดี “ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” กับนางสาวสุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการปปช. นายศรชัย  ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการปปช. นายอภิชาติ ปุณยธัญพงศ์ ผอ.สำนักบริหารงานกลางและนายมารุต ก้อนง่อน พนักงานไต่สวนระดับกลางว่า ปฏิบัติ/ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีร่วมกันสั่งการและพิจารณาให้ความเห็นชอบในการรับคดีของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล กับพวก เชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ไว้ไต่สวนเอง(สำนวนคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ส่วนที่2)และขอรับคดีพตอ.ภาคภูมิ พิศมัย กับพวก (สำนวนคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ส่วนที่1) คืนจากพนักงานอัยการ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้นางดวงกมล เจริญรุกข์ วงษ์สวัสดิ์ รักษาราชการแทนผอ.สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ   มีความเห็นว่า   การกล่าวหานางสาวสุภาและคณะกรรมการปปช.ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปปช.ที่จะรับไว้พิจารณา    ส่วนการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ปปช.อีกสามคนนั้น เห็นควรรับไว้ดำเนินการเอง   ส่วนนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการป.ป.ช. มีความเห็นเช่นเดียวกับนางดวงกมล

ขณะที่นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. (กำกับดูแลสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ) พิจารณาเห็นชอบตามเสนอ รวมทั้งสำนักบริหารงานกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ออกเลขรับหนังสือที่กล่าวหานายศรชัย นายอภิชาติ และนายมารุต ส่งเรื่องให้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เกิดจากพนักงานสอบสวนส่งหนังสือถึง ป.ป.ช. ในวันที่ 27 ธ.ค.2566แจ้งว่ามีการขยายผลในคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ส่วนที่ 1 ว่า พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับพวกมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นับเป็นส่วนที่สองของคดีดังกล่าว  จากนั้นวันที่28ธค.2566 สำนักบริหารกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. มีความเห็นให้ออกเลขรับหนังสือ และอ้างว่า เป็นเรื่องใหม่และส่งต่อให้สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ1ที่มีนางสาวสุภากำกับดูแลรับไปดำเนินการ

ต่อมาต้นเดือนมค.2567 นางสาวสุภาให้สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ1ออกเลขรับหนังสือ (นางสาวสุภาจะพ้นจากการทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่11มค.2567) ทั้งๆที่ความจริงแล้วนางสาวสุภาต้องสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการปปช.ก่อนว่าจะพิจารณาอย่างไร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ได้แจ้งความกับ บก.ปปป.ช่วงวันที่12มีค.2567ว่าขอให้ดำเนินคดีกับนางสาวสุภา นายศรชัย นายอภิชาติ นายมารุต กรณีร่วมกันสั่งการและให้ความเห็นชอบเสนอคดีพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับพวก ในลักษณะที่นางสาวสุภากับพวก ให้การช่วยเหลือพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์  โดยพบว่านางสาวสุภาให้สำนักบริหารกลาง สำนักงานป.ป.ช. ออกเลขรับหนังสือและให้ความเห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องใหม่ จากนั้นส่งให้สำนักการไต่สวนทุจริตภาครัฐ 1 ดำเนินการ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัจฉริยะจึงร้องทุกข์กล่าวโทษนางสาวสุภาเเละพวก ต่อบก.ปปป.ว่า   กรณีนี้นางสาวสุภาเเละพวกจะออกเลขรับหนังสือและอ้างว่าเป็นเรื่องใหม่ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพตอ.ภาคภูมิ และคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติ4:1 ในวันที่15พย.2566ว่า  ให้ส่งสำนวนส่วนแรกให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ตาม พรป.ปปปช.มาตรา61วรรคสอง 

แต่ต่อมาคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติ4:1ในวันที่4มีค.2567 ว่า ป.ป.ช. รับเรื่องกล่าวหาพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับพวกไว้ดำเนินการเองและขอคืนสำนวนของพตอ.ภาคภูมิกับพวกจากพนักงานสอบสวนมาดำเนินการเองเช่นกัน

รายงานข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. เเจ้งว่า การออกเลขรับหนังสือของ ป.ป.ช. นั้นมีสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ต้องเป็นมติคณะกรรมการป.ป.ช. เท่านั้นในการพิจารณาว่าจะออกเลขรับหรือไม่ ไม่ใช่ความเห็นของกรรมการป.ป.ช. คนใดคนหนึ่งหรือสำนักในการกำกับดูเเลของกรรมการป.ป.ช. คนนั้นดำเนินการโดยลำพัง เเละไม่ใช่อำนาจของสำนักบริหารกลางที่เป็นหน่วยงานในการกำกับดูเเลของประธานป.ป.ช. จะดำเนินการได้เช่นกัน

รายงานข่าวจากสำนักงานป.ป.ช. เเจ้งว่า การที่สำนักการไต่สวนทุจริตภาครัฐ1 รับเรื่องนึ้จากนางสาวสุภามาดำเนินการในช่วงต้นเดือนมค.2567นั้น อาจดำเนินการโดยมิชอบเพราะขัดระเบียบของสำนักงานป.ป.ช.อย่างชัดเจนเเละสำนักบริหารกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับประธานป.ป.ช.ร่วมดำเนินการเรื่องนี้ด้วยนั้น ประธานป.ป.ช. ควรรู้การดำเนินการดังกล่าวว่ากระทำไม่ได้เเต่ทำไมประธานป.ป.ช. ปล่อยให้สำนักบริหารกลางเเละสำนักการไต่สวนทุจริตภาครัฐ1ดำเนินการเเบบนั้น

“เเละเรื่องนี้จะผูกพันข้อกฎหมายในอนาคตที่มีผลกับการพิจารณาคดึของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับพวก เพราะมติของกรรมการป.ป.ช.บางคนที่ลงมติให้ป.ป.ช.นำสำนวนคดีมินนี่ส่วนที่1เเละส่วนที่2จากพนักงานสอบสวนกลับคืนมา เพราะการออกเลขรับหนังสือดังกล่าวดำเนินการโดยมิชอบ  หากมีการตรวจสอบการออกเลขรับหนังสือที่ดำเนินการโดยมิชอบในครั้งนี้ อาจต้องรื้อขั้นตอนคดีนี้ใหม่ทั้งหมด เเละอาจทำให้กรรมการป.ป.ช.บางคนที่ลงมติในตอนนั้นเข้าข่ายกระทำผิดมาตรา157เเห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย” รายงานข่าวจากสำนักงานปปช.ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับกรณีที่นายสมบัติ ธรธรรม  ซึ่งเคยร่วมงานกับนางสาวสุภาคือนายสมบัติเคยทำหน้าที่อนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ประจำสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและการรัฐวิสาหกิจ 1 (กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งนางสาวสุภากำกับดูแล    

ต่อมานายสมบัติได้มาทำหน้าที่อนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ประจำสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและการรัฐวิสาหกิจ 1 ซึ่งนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการป.ป.ช. กำกับดูแล  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นช่วงปลายเดือนมีค.2567นายสมบัติได้ทำหนังสือถึงนายเอกวิทย์ เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งอนุกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ และมีผลเมื่อวันที่ 1 เมษายน2567    โดยพบว่านายสมบัติเป็นหนึ่งในบุคลากรของสำนักงานป.ป.ช. ซึ่ง บก.ปปป.ส่งสำนวนให้สำนักงานปปช.ดำเนินการสอบสวนลงโทษ เพราะพบว่านายสมบัติและบุคลากรของสำนักงานป.ป.ช.อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยพ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ  ได้ร่วมกันตกแต่งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ที่ต้องยื่นให้สำนักงานป.ป.ช.ตรวจสอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารปลอมหลายวาระ โดยบก.ปปป.พบหลักฐานว่า พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์มีการสื่อสารกับนายสมบัติหลายครั้งอีกด้วย

logoline