svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศาลประทับฟ้อง 4 กสทช. ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช.

ศาลอาญาทุจริตฯ ประทับฟ้อง 4 กสทช. กับพวก ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก-เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช. เเต่สั่งส่งเรื่องให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเขตอำนาจศาล ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

31 พฤษภาคม 2567 ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ตลิ่งชัน วันนี้ศาลนัดฟังคำสั่ง คดี อท.155/2566 ที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล โจทก์ ฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต , รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย , รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ กับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172 

จากกรณีที่ จำเลยได้ร่วมแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ โดยมิชอบ

ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ได้รับความเสียหาย ต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกเสนอให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ก่อให้เกิดความสับสน ความแตกแยกในหมู่พนักงาน เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เพราะมีข่าวออกเผยแพร่ทันทีภายหลังการประชุม กสทช. เสร็จสิ้น รวมถึงหมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานจากการ
ศาลประทับฟ้อง 4 กสทช. ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช.
 

คำฟ้องระบุว่า กระทำของจำเลยทั้ง 5 ทำให้โจทก็ได้รับผลกระทบ ต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ซึ่งจะมีขึ้นในภายภาคหน้าต่อไปด้วย จำเลยที่ 5 เป็นรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และเป็นผู้รักษาการแทนโจทก์

แต่จำเลยที่ 5 โดยเจตนาทุจริต กลับจัดทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด (ลับ) ส่วนงานเลขานุการ กสทช. สายกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ แต่งตั้งตนเองเป็นพนักงานผู้รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และตนเองจะได้ดำรงตำแหน่งแทน

จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่1 - 4  ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย เป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 172 
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
 

อีกทั้งภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 - 4 ได้ร่วมกันลงมติตามระเบียบวาระ 5.22 ในการประชุม กสทช. และจำเลยที่ 5 ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์แล้วปรากฏว่า สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอและเผยแพร่ข่าวที่ กสทช. มีมติปลดโจทก์ และให้โจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผ่านทางสื่อหลายสำนัก หลายช่องทางด้วยกันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จากการนำเสนอข่าวดังกล่าว ชื่อเสียง รวมถึงเสียโอกาสในหน้าที่การงานของตนเอง

วันนี้ ทนายโจทก์ ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาล ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา ศาลได้อ่านคำสั่งให้คู่ความฟังแล้ว

ภายหลังจากที่ศาลได้อ่านคำสั่งให้คู่ความฟัง เจ้าหน้าที่ได้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 - 4 ที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยอำนาจในการพิจารณาคดีที่โจทก์ฟ้องว่า คดีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่อยู่ในอำนาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 - 4 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2567 

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 - 4 ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยอำนาจพิจารณาคดีพิพากษาว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ว่าอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรณีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต้องส่งสำนวนพร้อมคำร้อง ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน กระบวนการพิจารณาคดีที่จะมีต่อไป ต้องรอคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ลงมาก่อน จึงจะดำเนินการต่อไป หรือต้องส่งถ้อยคำสำนวนให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษา ในกรณีที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ดังนั้นในชั้นนี้ ให้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 - 4 พร้อมถ้อยคำสำนวน ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยเร็ว  และให้ยกเลิกนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย โดยกำหนดวันนัดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ค.2567 โดยแจ้งให้คู่ความทราบ และศาลไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการให้หยุดปฎิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
ศาลประทับฟ้อง 4 กสทช. ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช.

สำหรับประเด็นของการฟ้องคดี มาจากมติบอร์ดก่อนหน้า ซึ่งที่ประชุมบอร์ด กสทช. จำนวน 6 คน มีมติเอกฉันท์ ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คืนเงินจากจำนวน 600 ล้านบาท ที่บอร์ดเสียงข้างมากมีมติสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2022 หลังจากเกิดปัญหา "จอดำ" กับกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (IPTV) 

เนื่องจากทาง กกท. ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่ระบุชัดว่า ผู้รับใบอนุญาตภายใต้ กสทช.ต้องปฎิบัติตามแนวทางการดูแลการถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ให้เป็นไปตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ตามข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงฯ ที่กำหนดให้ กกท.ต้องบริหารจัดการสิทธิ ให้ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช.

และสำนักงาน กสทช.สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้าย ได้ตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ที่ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทุกราย ดำเนินการออกอากาศรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้ายให้สมาชิกสามารถได้รับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง 

คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่แต่งตั้งโดยประธาน กสทช. ให้ความเห็นว่า "นายไตรรัตน์ฯ รักษาการเลขาธิการ กสทช." อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ หลักเกณฑ์ มติ กสทช. และบันทึกข้อตกลง”

เนื่องจากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหา การบริหารจัดการสิทธิการถ่ายทอดสดรายการฟุตบอลโลกฯ ที่ กกท. ได้มอบสิทธิให้กลุ่มทรูฯ แบบ Exclusive Right ผ่านระบบเคเบิ้ล ระบบดาวเทียม ระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎ Must Carry และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด  และกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย 

ส่งผลให้ประชาชนโดยทั่วไป และคนด้อยโอกาส เสียโอกาสในการรับชม กสทช. และกรณีดังกล่าว กสทช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. เรียกเงินสนับสนุนคืนจาก กกท. ตามผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงด้วย 

ทั้งนี้ ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565 กำหนดให้การตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ให้เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้ง และตามข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า “ในกรณีที่ระเบียบนี้มิได้กำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในเรื่องใดไว้ ให้เลขาธิการ กสทช. เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด”

ซึ่งการที่ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่า กระทำผิดวินัยกับผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบวินัยเป็นคนเดียวกัน จะทำให้เกิดข้อสงสัยของสาธารณะถึงความโปร่งใส และความเป็นกลางขององค์กร  กสทช. จึงมติให้นายไตรรัตน์ฯ พ้นตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. เป็นการชั่วคราวจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งนายไตรรัตน์ฯ แต่อย่างใด
ศาลประทับฟ้อง 4 กสทช. ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช.