31 มีนาคม 2568 เวลา 12.00 น. ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขนเอกสาร เข้ามาบริเวณจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มระหว่างเกิดแผ่นดินไหว เพื่อนำเอกสารชุดดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
รศ.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านภัยพิบัติ เปิดเผยว่า เอกสารที่เจ้าหน้าที่ตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินนำมาในวันนี้ คือ แบบแปลนอาคารการก่อสร้าง ซึ่ง จะระบุตำแหน่ง จุดสำคัญต่างๆภายในอาคาร เช่น บันไดหนีไฟ ลิฟต์ ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะนำมาใช้ในการหารือ วิเคราะห์ร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย สำหรับใช้เป็นแนวทางในการค้นหาและช่วยเหลือผู้สูญหายให้รวดเร็ว โดยจะพิจารณาว่าพื้นที่ บริเวณชั้นใด หรือจุดใดของอาคารมีการใช้งานอย่างไร
ส่วนภารกิจการค้นหาผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคาร ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือผู้สูญหายอย่างเต็มที่ โดยสาเหตุที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากพื้นที่หลังเข้ามาติดตามความคืบหน้าภารกิจได้เพียง 20 นาที เนื่องจากคณะทำงานสามารถตรวจจับสัญญาณชีพของผู้สูญหายได้ 1 สัญญาณชีพ ต้องอาศัยความเงียบ ตรวจสอบสัญญาณชีพที่ยังอ่อน ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางกลับอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและทีมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำลังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารืออย่างละเอียดถึงแนวทางการเข้าช่วยเหลือผู้ที่มีสัญญาณชีพดังกล่าวด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด
รศ.ทวิดา ยืนยันว่า การปฏิบัติงานไม่ได้ล่าช้า เนื่องจากเพิ่งตรวจพบสัญญาณชีพของผู้สูญหาย ได้เพิ่มเติม ในส่วนของกรอบเวลา 72 ชั่วโมงนั้น เป็นหลักการทางการแพทย์สากล ที่บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่มีโอกาสช่วยเหลือผู้สูญหาย มีอัตราการรอดชีวิตสูงที่สุด
ส่วนที่ไม่สามารถเจาะทะลุเข้าไปในซากอาคารเพื่อช่วยเหลือได้ทันทีนั้น เนื่องจากผู้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ การกระทำใดๆ ที่รุนแรงอาจทำให้ซากอาคารถล่มซ้ำ ยิ่งนำมาซึ่งความสูญเสีย เสียหายที่มากขึ้น ในช่วง 1-2 วันแรก จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการหน้างานที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์พื้นที่และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม แม้จะเลยกรอบเวลา 72 ชั่วโมง ทีมค้นหาก็ยังคงไม่หยุดปฏิบัติการ แต่โอกาสที่ผู้สูญหายจะอ่อนแอลงนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การดำเนินการทุกอย่างจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและมีสติ
“ตอนนี้ทุกวินาทีมีค่ามากจริง ๆ เมื่อเราตรวจจับสัญญาณเราต้องการความเงียบ เพราะสัญญาณที่เราตรวจจับได้อ่อนจะไม่ได้ยิน ทำให้เราเห็นโลเคชันลำบาก ช่วยได้ช้า สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือขอความร่วมมือทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อให้การค้นหาจุดสัญญาณชีพเป็นไปโดยเร็วที่สุด” รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าว