30 มีนาคม 2568 จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดในรอบ 95 ปี กระทบหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่เกิดเหตุ "ตึกถล่ม" บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนมาก
ล่าสุดในโลกโซเชียลมีเดีย มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ประเทศญี่ปุ่น มีการปลูกต้นไมยราบ เพื่อแจ้งเตือนแผ่นดินไหว ซึ่งในเรื่องนี้ "อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "Jessada Denduangboripant" เรื่องดังกล่าวข้อเท็จจริงหรือไม่ มีรายละเอียดระบุว่า..
"ญี่ปุ่นไม่ได้นิยมปลูกต้นไมยราบ ไว้แจ้งเหตุแผ่นดินไหวล่วงหน้านะครับ"
มีการแชร์ข้อมูลภาพต้นไมยราบ พร้อมแคปชั่นทำนองว่า "ประเทศญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบไว้ในบ้าน เพราะต้นไมยราบไว้ต่อแผ่นดินไหว จะสามารถแจ้งเหตุล่วงหน้าได้" !?
ถึงแม้ว่า ต้นไมยราบ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimosa pudica จะถูกตั้งสมญานามให้กว่า เป็น earthquake plant เพราะคิดกันว่ามันน่าจะหุบใบได้ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว
แต่พอลองตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่าเป็นความจริงนะครับ ที่บอกว่าคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไมยราบเพื่อแจ้งเหตุล่วงหน้า ! แถมก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ ว่า ต้นไมยราพมันสามารถทำเช่นนั้นได้จริง ออกจะเป็นเรื่องเล่า เชื่อตามกันมากกว่า
ไมยราบ
โดยทาง IG ของ wachistudio ซึ่งเป็น content creator ด้านการเพาะพันธุ์และจำหน่ายพืชไม้ประดับ ได้ไปหาข้อมูลและสอบถามคนญี่ปุ่นเพื่อหาคำตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่ที่ชาวญี่ปุ่นปลูกต้นไมยราบเพื่อตรวจเช็คแผ่นดินไหว?
คำตอบก็คือ ไม่จริงครับ ! แม้ว่าไมยราบจะเป็นพืชที่ไวต่อการสัมผัส ใบจะหุบเมื่อถูกกระทบ จนบางคนตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเอามาตรวจจับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้
แต่ในความเป็นจริง ไมยราบไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจแผ่นดินไหว เพราะการตอบสนองของมัน อ่อนไหวต่อปัจจัยอื่นๆ เช่น ลม หรือน้ำฝน หรือการสัมผัสจากสัตว์เล็กๆ มากกว่าจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั่นเอง
สำหรับการตรวจจับแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นจะใช้เซ็นเซอร์ และระบบเครื่องมือทันสมัย ในการตรวจจับ แทนการที่จะใช้พืช อย่างไมยราบครับ (ดูข้อมูล คลิกที่นี่ )
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ พฤติกรรมของต้นไมยราบกับแผ่นดินไหวนั้น เคยมีการทำในสมัยทศวรรษที่ 1970 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามที่มีเรื่องเล่าว่า ใบของต้นไมยราบก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวได้
โดยในปี 1977 มีนักวิจัยพยายามวัดค่า Tree Bio-electric Potential (TBP) ด้วยการติดอิเล็กโทรด ขั้วหนึ่งไว้ที่ใบของต้น กับอีกขั้วหนึ่งฝังลงในดิน วัดค่าศักย์ไฟฟ้า electricpotential ระหว่างอิเล็กโทรดทั้งสอง ขณะที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 7.0 จำนวน 28 ครั้ง
ซึ่งพบว่ามีอยู่ 17 ครั้งที่แสดงสัญญาณที่ผิดปกติไป และคาดว่าอาจจะเกิดจากการได้รับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electric magnetic , EM) ห่างจากดินสู่ราก หรือได้รับประจุไอออนบางอย่างจากอากาศ
แต่นักวิจัยก็สรุปว่ายังไม่สามารถจะอธิบายได้ชัดเจนถึงกลไกที่เกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะใช้มาทำนายการเกิด แผ่นดินไหว ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่และขนาด นั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก
คำสรุปก็คือว่า เรื่อง "ต้นไมยราบบอกเหตุแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้า" ก็ไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นแค่เรื่องเล่า .. ไม่ค่อยต่างอะไรกับที่บอกว่าสัตว์ต่างๆสามารถแจ้งเตือนแผ่นดินไหวช่วงหน้าได้ ซึ่งไปทางธรณีวิทยานั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าจริงครับ