30 มีนาคม 2568 จากกรณีแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดในรอบ 95 ปี กระทบประเทศไทยในหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ เกิดเหตุ “ตึกถล่ม” บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนมาก
ทั้งนี้ “อาฟเตอร์ช็อก” เหตุแผ่นดินไหว ไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนที่ตามมาอีกหลายสิบครั้ง แต่เป็นเรื่องของปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลว ของระบบเตือนภัย
กระทั่งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มี.ค.ทีผ่านมา ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศปภ.ช.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว ช่วงตอนที่น่าสนใจช่วงหนึ่ง คือการไล่เรียงถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นการส่งข้อความสั้น หรือ sms แจ้งเหตุ แจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่วิจารณ์ว่ามีความล่าช้าและไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือน
ทั้งนี้ คำต่อคำในการประชุมช่วงดังกล่าว ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รักษาการเลขาธิการ กสทช. มีข้อความและรายละเอียดดังนี้..
นายกรัฐมนตรี : อยากทราบว่าประเด็นแรกตอนเกิดเหตุการณ์ที่ดิฉันและท่านรองนายกฯ อนุทิน อยู่ที่ภูเก็ต สิ่งแรกที่ควรจะเกิดขึ้นคืออะไรคะ แผ่นดินไหวปุ๊ปสิ่งแรกที่ประชาชนควรรู้คืออะไรบ้าง ใช่ในเรื่องของ sms ไหมคะ ถ้าใช่หน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ทุกคนยกมือตอบได้เลยนะคะ เพราะต้องทำงานร่วมกัน
อธิบดีกรม ปภ. : "ปกติแล้วจะมีการเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รับรายงานเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และได้แจ้งมาทาง ปภ. เพื่อแจ้งเตือน หลังจาก ปภ. ปกติแล้ว แผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ จะรู้ก็แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ทุกคนจะรู้เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ของเราแจ้งเตือนครั้งแรกคือส่งไปยัง sms รวมทั้งแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดย ปภ. ส่งไปที่ กสทช. เพื่อให้ส่ง sms แจ้งให้พี่น้องประชาชน
นายกรัฐมนตรี : ได้ยินว่า ปภ. ส่งไป 2 ครั้ง ใช่ไหมคะ ส่งครั้งแรกตอนกี่โมง
อธิบดีกรม ปภ. : ส่งทั้งหมด 4 ครั้ง ส่งครั้งแรกตอนเวลา 14.42 น. พร้อมชี้แจงต่อว่า เนื่องจากสถานการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนรับรู้หมดแล้ว ปภ. ส่งให้ประชาชนสามารถเข้าอาคารได้ในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากว่าพอเกิดเหตุการณ์คนที่อยู่ในอาคารสูงจะเดินลงมาทันที เพราะฉะนั้นประชาชนจะไม่รู้เลยว่าต้องทำตัวอย่างไร
นายกรัฐมนตรี : กสทช. ได้รับคำจาก ปภ. ไหมคะว่าต้องส่ง sms ให้กับประชาชน
รักษาการเลขาธิการ กสทช. : ปภ. ส่งให้ กสทช. ประมาณ 14.40-14.20 น. ผมส่งให้ OPOR ประมาณ 14.44 น.
นายกรัฐมนตรี : มีข้อจำกัดในการส่งได้ครั้งละ 200,000-400,000 เบอร์จริงหรือไม่
รักษาการเลขาธิการ กสทช. : เซลล์บรอดคาสต์ใช้เวลาประมาณ 15 นาที บรอดคาสต์จะส่งไปที่เซลล์ไซต์ และเซลล์ไซต์จะกระจายสัญญาณทันที แต่พอเป็น sms ต้องมีการรันนัมเบอร์จึงส่งได้ครั้งละ 200,000 เลขหมาย ทีนี้กำลังชั่งใจอยู่ เพราะว่า ทรู และ เอไอเอส บอกว่า กำลังพัฒนาระบบให้ส่งได้ครั้งละ 3 ล้านเลขหมาย แต่ใช้เวลาร่วม 5-6 ชั่วโมง เพราะต้องรันคิว จึงมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีของ sms
นายกรัฐมนตรี : สรุปแล้ว ทาง กสทช. ได้ส่งไปกี่เบอร์
รักษาการเลขาธิการ กสทช. : ส่งครั้งแรก 14.44 น. ทยอยส่งครั้งละ 200,000 เบอร์ ส่งไปทั้งหมดประมาณ 10 กว่าล้านเบอร์
นายกรัฐมนตรี : แล้วทำไมตอนแรกที่ออกมา คนบอกว่าไม่ได้ sms
รักษาการเลขาธิการ กสทช. : เป็นเพราะต้องมีการรันนัมเบอร์ หรือเลขหมาย ครั้งแรกเป็น 4 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ แถว ๆ นนทบุรี ครั้งที่ 2-4 จะรวมอีก 70 กว่าจังหวัด
นายกรัฐมนตรี : ปัญหาคือเซลล์บรอดคาสต์ที่อนุมัติไปยังไม่มา เราจะส่งได้ครั้งละ 100,00-200,000 เลขหมาย แล้วข้อความที่ส่ง ส่งว่าอย่างไร
รักษาการเลขาธิการ กสทช. : เป็นข้อความที่ทาง ปภ. ส่งมาครับ
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ถามทาง อธิบดี ปภ. ว่า ปภ. ส่งข้อความว่าอะไร
อธิบดี ปภ. : ครั้งแรกส่งว่าให้เข้าอาคารได้เท่าที่จำเป็น ครั้งที่สอง ส่งเวลา 16.07 น. และ 16.09 น. แจ้งในเรื่องข้อปฏิบัติตนกรณีเกิดแผ่นดินไหว ครั้งสุดท้าย 16.44 น. แจ้งให้ประชาชนสามารถกลับเข้าอาคารได้ ทั้งหมด 4 ครั้ง
หลังจากนั้น น.ส. แพทองธาร นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังจาก ปภ. ชี้แจง ว่า ปัญหาคือการส่ง sms ช้า และไม่ทั่วถึง ทราบดีว่า เซลล์บรอดคาสต์จะมาช่วงเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. ที่จะทำให้สามารถส่งครั้งหนึ่งแล้วกระจายไปได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้เรื่องการขอความร่วมมือไปยังระบบสื่อสารค่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ ๆ อย่างเอไอเอส ทรู อันนั้นความร่วมมือสามารถดูได้ตรงไหนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ขอความร่วมมือได้อย่างไร และจะสามารถส่ง 1-2 แสนเลขหมายจะส่งได้ 1 ล้านได้อย่างไร รวมทั้งการเตือนภัยให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยด้วย จึงขอให้ กสทช. และ ปภ. ช่วยประสานกันอีกทีว่าสามารถปรับปรุงเรื่องนี้ได้อย่างไร
"ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะว่าดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อนบ่ายสองว่าให้ sms เตือนให้หมดทุกอย่าง แต่ระบบไม่ออก เลยไม่ทราบว่าต้องปรับปรุงตรงไหนเพิ่มเติมได้อีก ท่านมีข้อแนะนำได้ไหม แนะนำมาเลย มีการสั่งการทั้ง มท. และนายกฯ แล้ว ต้องดำเนินการอย่างไรอีก" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ชมคลิป