30 มีนาคม 2568 ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์แผ่นดินไหวกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามในหนังสือขอให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหาย เพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซ่ม หรือเสริมกำลังของอาคารเพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรงต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้รายงานผลต่อกรุงเทพมหานครทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับเข้าใช้อาคารได้อย่างปลอดภัย
โดยให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารสามารถรายงานผลให้กรุงเทพมหานครทราบทุกวัน ผ่านระบบ Google form ตามลิงก์ https://forms.gle/4dxiHsZCZZpbiGkQA
สำหรับหนังสือคำสั่งดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องทำการตรวจสอบอาคารเป็นประจำทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ป้าย ซึ่งการให้รายงานในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถเฝ้าติดตามจุดเสี่ยง ร้อยร้าวความเสียหายของอาคาร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ยังใช้สอยได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
โดยใน Google Form จะให้ระบุชื่อเจ้าของอาคาร ชื่อผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ผู้ตรวจสอบอาคาร และความคิดเห็นผู้ตรวจสอบอาคาร ว่าอาคารปลอดภัย หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ทราบภาพรวมของอาคารในกรุงเทพฯ ผ่านความร่วมมือของผู้ตรวจสอบอาคาร
สำหรับรายละเอียดอาคารทั้ง 9 ประเภท ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องทำการตรวจสอบประกอบไปด้วย
1. อาคารสูง (ความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีเนื้อที่อาคารรวมกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป)
3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือจำนวนคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 4. โรงมหรสพ
5. โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป 6. สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป
7. อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (หอพัก อะพาร์ตเม้นต์) ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้า ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้ง ต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของปั้นจั่นหอสูงและเดอริกเครนในสถานที่ก่อสร้างก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน