svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดคำแนะนำ วิธีเช็กรอยร้าวเบื้องต้น พร้อมอธิบายผลลัพธ์

30 มีนาคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

อุปนายกวิศวกรรมสถานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารโรงเรียน และคอนโด ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว พร้อมเผยคำแนะนำ วิธีตรวจสอบรอยร้าวเบื้องต้น ผลออกมาแบบไหนถือว่ายังปลอดภัย แบบไหนควรแจ้ง กทม. หรือสภาวิศวกรรมฯ ทันที

30 มีนาคม 2568 นายสมจิตร เปี่ยมเปรมสุข อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงตรวจสอบอาคารโรงเรียน และคอนโด ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในลักษณะกรณีสีเหลือง จำนวน 5 สถานที่ ใน 2 เขต คือเขตวังทองหลาง และเขตบางกะปิ 

นายสมจิตร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีทีมวิศวกร ที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ได้ลงมาตรวจสอบอาคาร และคอนโดที่พัก ที่ได้มีการร้องขอให้ทางกรุงเทพมหานคร เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้าง และมีการจัดระดับควาปลอดภัย 3 ระดับ คือสีแดง สีเหลือง และสีเขียว ซึ่งจากที่มีการตรวจสอบพบกรณีสีแดง 2 แห่ง แต่ยังสามารถซ่อมแซมได้ แต่ในเบื้องต้น ห้ามไม่ให้มีคนเข้าไปอยู่อาศัย 

ส่วนในวันนี้ ตนเข้ามาตรวจสอบกรณีที่เป็นเคสสีเหลือง ซึ่งพบว่าจากการตรวจสอบรอยราวที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นช่วงกำแพง ฝ้า รอยต่อของตัวอาคาร ซึ่งภายหลังการตรวจสอบ พบว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นรอยร้าวจากปูนที่ฉาบคุมโครงสร้างหลักเอาไว้ ไม่ได้เป็นการร้าวจากเสาหรือคานที่อยู่ด้านใน

เปิดคำแนะนำ วิธีเช็กรอยร้าวเบื้องต้น พร้อมอธิบายผลลัพธ์

นายสมจิตร เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนที่หลายคนเห็นรอยร้าว ที่อยู่บริเวณกำแพง ห้อง ต้องบอกว่ารอยร้าวที่เกิดอยู่บนกำแพงนั้นสามารถเกิดได้ในกรณีที่ตัวตึกมีการเคลื่อนไปตามแรงของแผ่นดินไหว แต่รอยร้าวที่เกิดขึ้นบนกำแพงนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักของตัวอาคาร หรือต่อให้กำแพงพังทลายออกไปก็ไม่ส่งผลต่อตัวอาคารเช่นเดียวกัน 

ซึ่งกำแพงที่เป็นอันตรายเราสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ เช่น ใช้มือไปผลัก หรือดัน กำแพงที่มีรอยร้าวและพบว่ามีการโยกไหวเอง นั่นคือกำแพงที่อันตรายต่อผู้อยู่อาศัยต้องทำการรื้อออก แต่ถ้านำตัวไปผลักหรือดัน แล้วกำแพงไม่เคลื่อนตัวหรือโยก นั้นหมายความว่ายังปลอดภัย ไม่อยากให้รู้สึกตกใจหรือตื่นตระหนก

หรือหากผู้อาศัยท่านใด หรือเจ้าของตึก อยากตรวจสอบรอยร้าวในเบื้องต้น ให้ทำการกระเทาะรอยราวที่เกิดขึ้นให้ถึงชั้นของคาน หรือเสา หากภายหลังการกระเทาะเข้าไปแล้วพบว่า คานหรือเสามีรอยร้าว ให้แจ้งไปทางกรุงเทพฯ หรือสภาวิศวกรรมฯ ได้ทันที แต่ถ้าหากกระเทาะเข้าไปแล้วพบว่าโครงสร้างคานและเสาไม่มีรอยแตกหัก ถือว่าปลอดภัย 

"แนะนำให้ กระเทาะปูนทั้งหมด ที่ฉาบไว้บนคานหรือเสาออกให้หมดป้องกันการหล่นร่วงลงมาสร้างอันตรายให้กับลูกบ้าน จากนั้นให้ช่างทำการฉาบปิดรอยดังกล่าวได้เลย" นายสมจิตร กล่าว

เปิดคำแนะนำ วิธีเช็กรอยร้าวเบื้องต้น พร้อมอธิบายผลลัพธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่อุปนายก สภาวิศวกรรมฯ พาทีมข่าวไปสำรวจโครงสร้าง ที่คอนโดแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะรอยแตกร้าวที่บริเวณคานของตัวอาคาร ซึ่งทางอุปนายกสภาวิศวกรรมฯ ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตึกนำสว่านไฟฟ้า มากระเทาะปูน ที่เป็นรอยร้าวออก พบว่าปูนที่ร่วงหล่นลงมานั้นเป็นเพียงปูนที่ฉาบติดไว้กับตัวอาคาร ซึ่งเมื่อมองเข้าไปด้านในที่เป็นคานจริงๆไม่ได้มีรอยแตกร้าวใดๆ อุปนายกสภาวิศวกรรมฯ จึงได้ลงความเห็นว่าอาคารดังกล่าวยังมีความปลอดภัยรอยร้าวที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อตัวโครงสร้าง 

และยังแนะนำ ให้กับเจ้าของคอนโดมิเนียม หรืออาคารที่อยากสร้างความมั่นใจให้กับผู้อยู่อาศัย ให้ใช้วิธีการถ่ายคลิปวีดีโอ ในขณะที่มีการกระเทาะ จุดแตกร้าว เพื่อให้เห็นว่าโครงสร้างภายในเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจ และสร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้านด้วย

logoline
News Hub