“อาฟเตอร์ช็อก” เหตุแผ่นดินไหวในบ้านเรา ไม่ใช่แรงสั่นสะเทือนที่ตามมาอีกหลายสิบครั้ง แต่เป็นเรื่องของปัญหาความผิดพลาด ล้มเหลว และส่อไม่โปร่งใสที่ปรากฏขึ้นจากความเสียหาย และความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งมี 2 เรื่องด้วยกัน คือ
1.อาคารสำนักงานของ สตง.แห่งใหม่ถล่ม
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ บริษัทที่ชนะประมูล คือ กิจการร่วมค้าระหว่างบริษัทไทย อิตาเลียนไทย หรือ ไอทีดี กับ บริษัททุนจีน เพราะมีข้อสังเกตที่ต้องเจาะลึกกันหลายประการ โดยเฉพาะโครงสร้างผู้ถือหุ้น
ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้ที่ สตง.อ้างว่า ผ่านการทำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มีองค์กรภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบความโปร่งใสตั้งแต่ต้นนั้น แท้จริงแล้ว “ไม่เป็นความจริงเลย”
ทั้งนี้ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แฉเรื่องจริงว่าเกิดอะไรขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ
ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ 2 เส้น ก็คือ น่าจะมี “ไอ้โม่ง” สั่ง หรือล้วงลูกให้โครงการนี้ไม่ต้องเข้าข้อตกลงคุณธรรม ทั้งๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขต้องเข้าร่วม เนื่องจากโครงการมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท
ส่วน “ไอ้โม่ง” ที่ว่านี้ จะเกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ เดี๋ยวเราไปล้วงลึกกัน
นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวถึงเหตุอาคารสำนักงานของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว โดยระบุว่า ที่ผ่านมาทาง ACT ได้ร่วมกับ สตง. ลงนามใน “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่ม
แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ACT กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐ ให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทั้งปกติโครงการของรัฐ จะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์ จาก ACT เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อคสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง เพื่อให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย อย่างเปิดเผยโปร่งใส
ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น กระทั่งทาง สตง. เป็นผู้ติดต่อขอให้ ACT ส่งผู้สังเกตการณ์โครงการนี้เอง เนื่องจาก สตง.มีเจตนารมณ์ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ที่มีภาระกิจตรวจสอบผู้อื่น เพื่อเป็นแบบอย่างการเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ภายนอก เข้ามาร่วมให้ความเห็น
ทำให้ผู้สังเกตการณ์โครงการนี้ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ หลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว ACT จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติ และการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมทั้ง TOR โครงการดังกล่าว
นายมานะ กล่าวว่า ซึ่งจากการเข้าสังเกตการณ์โครงการนี้ พบข้อผิดสังเกตว่า ผู้รับเหมาโครงการนี้ มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง
นายมานะ ย้ำว่า ผู้สังเกตการณ์จาก ACT มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบ การบริหารสัญญาก่อสร้าง ว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ หรือเพิ่มลดงานหรือวัสดุก่อสร้าง สตง. และผู้ควบคุมงาน จะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ
ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรม ระหว่างการก่อสร้าง เช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้า เป็นความรับผิดชอบของ สตง.และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้าง ที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา
2. ถือเป็นความล้มเหลวของระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศไทย
ที่น่าตกใจคือ ถึงป่านนี้ ข้ามมาเกิน 24 ขั่วโมงแล้ว เพิ่งมีหลายคนได้รับแจ้งเตือนแผ่นดินไหวข้อความแรกจาก ปภ. จนกลายเป็นสร้างความตื่นตกใจ นึกว่าแผ่นดินไหวใหม่อีกรอบ
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา "นายกอิ๊งค์" ถึงขั้นถามจี้ในที่ประชุม พร้อมสั่งยกเครื่องระบบเตือนภัย กำชับ ปภ.-กสทช. แก้ปัญหาระบบ SMS ล่าช้า ไม่ทั่วถึง
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคม และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.), กสทช., กรมอุตุนิยมวิทยา, คมนาคม, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ปัญหาเราเห็นได้ชัดว่าการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) แจ้งเตือนประชาชน ล่าช้าและไม่ทั่วถึง ต้องแก้ปัญหาเป็นอย่างแรก เรื่องการขอความร่วมมือค่ายมือถือ ค่ายมือถือใหญ่ๆ อย่าง เอไอเอส ทรู เราจะขอความร่วมมือเขาได้อย่างไร จะพูลได้ตรงไหน จากแสนจะไปถึงล้านได้อย่างไร
ส่วนช่องทางอื่นๆทางเฟซบุ๊กทำอยู่แล้ว แล้วชาวต่างชาติที่เขาอยู่ด้วยการซื้อซิมของไทย ขอ กสทช.กับทาง ปภ. ช่วยประสานอีกที ว่าสามารถปรับปรุงได้อย่างไร ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะสั่งไปตั้งแต่เวลา 14.00 น.(28มี.ค.68) แต่ระบบไม่ออก ก็ไม่ทราบว่าต้องมีข้อสั่งการตรงไหนเพิ่มขึ้นอีก
ปัญหาที่ 2 คือ นอกจากช้าแล้ว ข้อมูลที่ส่งไป ไม่ได้เป็นประโยชน์มาก จริงๆตนก็ผิดเองที่ไม่ได้ระบุว่าให้ส่งข้อมูลอะไรบ้าง จริงๆทุกฝ่ายควรร่วมกันบอกรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
อีกอย่างต้องขอบคุณรายการโทรทัศน์เฉพาะกิจ ที่พอบอกแล้ว ภายในไม่ถึง 5 นาทีทุกคนออกอากาศให้ได้หมด จริงๆตอนอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ดิฉันไม่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือน แต่ภายใน 10 นาที ได้รับรายงานภายใน 10 นาทีก็รีบปิดประชุมและสั่งการ แต่วันนี้จะเห็นได้เลยว่า สิ่งที่ยังปรับปรุงได้ คือเรื่องเอสเอ็มเอส เห็นว่า เมื่อ Cell Broadcasting Service (CBS) หรือระบบการส่งข้อความเตือนภัยหรือข้อมูลสำคัญไปยังโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก จะเป็นอะไรที่เป็นคำตอบ
อีกอย่างก็คือ แผ่นดินไหวตนไม่ทราบว่าต้องทำตัวอย่างไร เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำ บางคนก็คิดว่าขณะเกิดเหตุตัวเองป่วย อย่างคุณแม่อายุจะ 70 ปี เพิ่งจะเจอเหตุการณ์ คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้
ต่อไปจะมูฟออนไปเรื่องทรานสปอร์เตชั่น(การขนส่ง) หลังเกิดเหตุการณ์ ประชาชนอยู่รอบๆมากขึ้น หาข้อมูลไม่ได้เยอะ เกิดปัญหามีคนกลับบ้านไม่ได้ มีเสียงบ่นเราต้องปิดบีทีเอส หยุดเดินรถไฟ เพราะแผ่นดินไหว
ต่อไปถ้าเป็นอุบัติเหตุใหญ่ การคมนาคม ต่อไปจะลิงก์กับประชาชนได้อย่างไร ถนนนี้เปิด ถนนนี้ปิดลงทางไหน เกิดอุบัติเหตุตรงนี้ ถนนเส้นนี้ถูกปิด ต้องมีเอสเอ็มเอสแจ้งประชาชน
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ชี้แจงว่า ปภ. มีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะรายงานเรื่องแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะแจ้งมาที่ ปภ. และทำการแจ้งเตือนออกไปที่ กสทช.
แผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ ซึ่งเราแจ้งเตือนครั้งแรกคือการส่ง ส่งข้อมูลให้ กสทช. ไปทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเวลา 14.42 น. แจ้งเตือนให้ประชาชนสามารถเข้าอาคารได้กรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากมี After Shock อยู่ประชาชนก็จะลงมาอย่างเร่งด่วนอาจจะไม่ได้กลับเข้าไปหยิบทรัพย์สิน และในครั้งที่ 2 และ 3 ปภ.แจ้งเวลา 16.07 น. และ16.09 น. และในเวลา 16.44 น. ปภ.ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งประชาชนกลับเข้าอาคารได้
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เราให้ทีวีสแตนบาย 24 ชม. วิทยุสมัครเล่นสแตนบาย 24 ชั่วโมง ส่วนด้านมือถือ ตอนนี้โอเปอเรเตอร์กำลังพัฒนาระบบให้ส่งเอสเอ็มเอสได้มากขึ้น ให้ประสานกับผู้ประกอบการในการทำ CBS (Cell Broadcasting) พอจะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้าง ปภ.เป็นผู้ส่งให้ จะทำได้หรือเปล่า วันนี้คงแจ้งผลมา
นายไตรรัตน์ ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลและส่งต่อ SMS ให้กับประชาชนในเวลา 14.44 น. โดยส่งได้เพียง 1- 2 แสนเบอร์เท่านั้น ซึ่งเราเพิ่งได้ Cell Broadcast มาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยในชั่วโมงแรก กสทช.ได้ทยอยส่งเอสเอ็มเอส ไปรวมทั้งหมด 10 กว่าล้านเบอร์ โดยทยอยส่งทีละ 200,000 เบอร์
นอกจากนี้ได้สอบถาม ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์ทรู และ เอไอเอส โดยโอเปอเรเตอร์ แจ้งว่า พยายามส่งข้อความภายในครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด หาก ส่งเอสเอ็มเอสมากกว่า 3 ล้านเบอร์ ต้องใช้เวลามากถึงจาก 5-6 ชั่วโมง โดยมีการส่งเอสเอ็มเอส ไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กทม.และในจังหวัดอื่นอีก 4 จังหวัด