29 มีนาคม 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคม และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) , กสทช. , กรมอุตุนิยมวิทยา , คมนาคม , เจ้าหน้าที่ตำรวจ ,ทหาร เป็นต้น
โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ปัญหาเราเห็นได้ชัดว่าการส่งเอสเอ็มเอส(SMS) แจ้งเตือนประชาชน ล่าช้าและไม่ทั่วถึง ต้องแก้ปัญหาเป็นอย่างแรก เรื่องการขอความร่วมมือค่ายมือถือ ค่ายมือถือใหญ่ๆ อย่าง เอไอเอส ทรู เราจะขอความร่วมมือเขาได้อย่างไร จะพูลได้ตรงไหน จากแสนจะไปถึงล้านได้อย่างไร ส่วนช่องทางอื่นๆทางเฟซบุ๊กทำอยู่แล้ว แล้วชาวต่างชาติที่เขาอยู่ด้วยการซื้อซิมของไทย ขอ กสทช.กับทาง ปภ. ช่วยประสานอีกที ว่าสามารถปรับปรุงได้อย่างไร ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน เพราะสั่งไปตั้งแต่เวลา 14.00 น.(28มี.ค.68) แต่ระบบไม่ออก ก็ไม่ทราบว่าต้องมีข้อสั่งการตรงไหนเพิ่มขึ้นอีก
ปัญหาที่ 2 คือ นอกจากช้าแล้ว ข้อมูลที่ส่งไป ไม่ได้เป็นประโยชน์มาก จริงๆตนก็ผิดเองที่ไม่ได้ระบุว่าให้ส่งข้อมูลอะไรบ้าง จริงๆทุกฝ่ายควรร่วมกันบอกรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
อีกอย่างต้องขอบคุณรายการโทรทัศน์เฉพาะกิจ ที่พอบอกแล้ว ภายในไม่ถึง 5 นาทีทุกคนออกอากาศให้ได้หมด จริงๆตอนอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ดิฉันไม่รู้สึกถึงความสั่นสะเทือน แต่ภายใน 10 นาที ได้รับรายงานภายใน 10 นาทีก็รีบปิดประชุมและสั่งการ แต่วันนี้จะเห็นได้เลยว่า สิ่งที่ยังปรับปรุงได้ คือเรื่องเอสเอ็มเอส เห็นว่า เมื่อ Cell Broadcasting Service (CBS) หรือระบบการส่งข้อความเตือนภัยหรือข้อมูลสำคัญไปยังโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก จะเป็นอะไรที่เป็นคำตอบ
อีกอย่างก็คือ แผ่นดินไหวตนไม่ทราบว่าต้องทำตัวอย่างไร เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำ บางคนก็คิดว่าขณะเกิดเหตุตัวเองป่วย อย่างคุณแม่อายุจะ 70 ปี เพิ่งจะเจอเหตุการณ์ คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้
ต่อไปจะมูฟออนไปเรื่องทรานสปอร์เตชั่น(การขนส่ง) หลังเกิดเหตุการณ์ ประชาชนอยู่รอบๆมากขึ้น หาข้อมูลไม่ได้เยอะ เกิดปัญหามีคนกลับบ้านไม่ได้ มีเสียงบ่นเราต้องปิดบีทีเอส หยุดเดินรถไฟ เพราะแผ่นดินไหว
ต่อไปถ้าเป็นอุบัติเหตุใหญ่ การคมนาคม ต่อไปจะลิงก์กับประชาชนได้อย่างไร ถนนนี้เปิด ถนนนี้ปิดลงทางไหน เกิดอุบัติเหตุตรงนี้ ถนนเส้นนี้ถูกปิด ต้องมีเอสเอ็มเอสแจ้งประชาชน
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ชี้แจงว่า ปภ. มีกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะรายงานเรื่องแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมด และจะแจ้งมาที่ ปภ. และทำการแจ้งเตือนออกไปที่ กสทช.
แผ่นดินไหวเป็นสถานการณ์เดียวที่ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ ซึ่งเราแจ้งเตือนครั้งแรกคือการส่ง ส่งข้อมูลให้ กสทช. ไปทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเวลา 14.42 น. แจ้งเตือนให้ประชาชนสามารถเข้าอาคารได้กรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากมี After Shock อยู่ประชาชนก็จะลงมาอย่างเร่งด่วนอาจจะไม่ได้กลับเข้าไปหยิบทรัพย์สิน และในครั้งที่ 2 และ 3 ปภ.แจ้งเวลา 16.07 น. และ16.09 น. และในเวลา 16.44 น. ปภ.ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งประชาชนกลับเข้าอาคารได้
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ลองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เราให้ทีวีสแตนบาย 24 ชม. วิทยุสมัครเล่นสแตนบาย 24 ชั่วโมง ส่วนด้านมือถือ ตอนนี้โอเปอเรเตอร์กำลังพัฒนาระบบให้ส่งเอสเอ็มเอสได้มากขึ้น ให้ประสานกับผู้ประกอบการในการทำ CBS (Cell Broadcasting) พอจะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้าง ปภ.เป็นผู้ส่งให้ จะทำได้หรือเปล่า วันนี้คงแจ้งผลมา
โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูลและส่งต่อ SMS ให้กับประชาชนในเวลา 14.44 น. โดยส่งได้เพียง 1- 2 แสนเบอร์เท่านั้น ซึ่งเราเพิ่งได้ Cell Broadcast มาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยในชั่วโมงแรก กสทช.ได้ทยอยส่งเอสเอ็มเอส ไปรวมทั้งหมด 10 กว่าล้านเบอร์ โดยทยอยส่งทีละ 200,000 เบอร์
นอกจากนี้ได้สอบถาม ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์ทรู และ เอไอเอส โดยโอเปอเรเตอร์ แจ้งว่า พยายามส่งข้อความภายในครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด หาก ส่งเอสเอ็มเอสมากกว่า 3 ล้านเบอร์ ต้องใช้เวลามากถึงจาก 5-6 ชั่วโมง โดยมีการส่งเอสเอ็มเอส ไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กทม.และในจังหวัดอื่นอีก 4 จังหวัด
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า รมว.คมนาคม สั่งการให้ศูนย์สั่งการกระทรวง ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว ระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ อากาศ ราง น้ำ โดยมุ่งเน้นระบบโครงสร้างทุกระดับ วิศวกรใต้ดิน ทางอากาศปิดทันที เช็กทั้งส่วนโครงสร้างอาคาร รันเวย์ จนมั่นใจและเปิดบริการภายใน 1 ชั่วโมงกว่าๆ สำหรับโครงสร้างถนนทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบทันที ตรวจสอบโครงสร้างทุกระดับ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำทุกตัว การทางพิเศษ มีจุดเดียวตรงทางขึ้นลงดินแดงที่มีเครนอาคารร่วงลงมา
ทางรางหยุดทั้งระบบ เมื่อวาน ให้บริการเช้านี้ เปิดทั้งหมดยกเว้นสายสีชมพู และสีเหลือง ขออีก 1 วันเพื่อความชัดเจน เพราะได้รับแจ้งว่าโครงสร้างรถวิ่งยังไม่มั่นใจ
เส้นทางถนนทุกเส้นเปิดหมดตั้งแต่เมื่อวาน(28มี.ค.68) มีจุดเดียวคือ ทางขึ้นด่วนดินแดน บ่ายนี้จะเอาเครนลงได้เลย ถ้ามั่นใจไม่มีอาฟเตอร์ช็อก อาจเปิดบ่ายนี้
ส่วนนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมธรณีวิทยา กล่าวว่า อาฟเตอร์ช็อกเกิด 100 กว่าครั้ง รุนแรงน้อยลง ตามลักษณะแผ่นดินไหว แนวโน้มไปทางเทือกเขาหิมาลัย ประเทศจีน ห่างประเทศไทยออกไป มีผลกระทบกับบ้านเราน้อยลง ในครั้งที่ 5 กว่าๆ จะไม่ส่งผลกระทบกับบ้านเรา ส่วนเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวการเตือนภัยล่วงหน้า ยังไม่มีเทคโนโลยี