30 มีนาคม 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศพม่า ส่งให้ภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะอาคารสูง โดยเฉพาะเหตุตึกถล่ม ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ย่านจตุจักร มีคนงานเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568
ล่าสุด วันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) มีการจัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว โดยมีผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เข้าร่วมประชุม
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) แล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี และ จ.แพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ โดยกรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) จำนวน 200,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเร่งตรวจสอบและจัดทำบัญชีความเสียหาย รวมถึงดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว โดยหากสำรวจแล้วพบว่าความเสียหายเกินวงเงินการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้จังหวัดทำเรื่องขอขยายวงเงินมาที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อที่จะได้ประสานดำเนินการต่อไปให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างในอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีการวางระบบการดำเนินงาน รวมถึงกำหนดพื้นที่ค้นหาและกู้ภัย (Zoning) อย่างเป็นระบบและชัดเจน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยทหาร หน่วยพลเรือน ตลอดจนอาสาสมัคร มูลนิธิ ร่วมกันดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจากข้อมูลในช่วงเช้าวันนี้ ได้ตรวจพบสัญญาณชีพผู้รอดชีวิต 1 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เข้ามาสนับสนุนการค้นหาและผู้ประสบภัยที่ยังติดค้างในอาคาร
ส่วนของสภาพอากาศที่คาดการณ์ว่าในช่วงบ่ายวันนี้ กรุงเทพมหานครจะมีฝนตกกว่า 60% ของพื้นที่ แม้จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับการช่วยเหลือ แต่อาจส่งผลเรื่องการระบายน้ำที่จุดเกิดเหตุ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมอุปกรณ์เพื่อระบายน้ำในพื้นที เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน มีรายงานประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ จำนวน 63 จังหวัด ได้แก่
เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์
มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร ศรีสะเกษ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี
สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี รวมถึง กรุงเทพมหานคร
และมีจังหวัดที่ได้รับความเสียหาย 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ ชัยนาท รวมถึง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เวลา 06.00 น.) มีผู้เสียชีวิต 9 ราย ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย และยังคงมีสูญหายอีก 79 ราย โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ได้เร่งตรวจสอบความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด