svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"ชาร์ลส์ พอนซี" บอสคนแรกของแชร์ลูกโซ่ หรือ บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่

ประโยคยอดฮิต "บอสพอล แห่ง ดิไอคอนกรุ๊ป" คือ "ขยันผิดที่ 10 ปี ก็ไม่รวย" รูปประโยคเชิญชวนก็ เป็นรูปแบบเดียวกันกับคำลวงต่างๆ อาทิ "อยากเป็นเศรษฐี ฟังทางนี้" หรือ "วิธีสร้างเงินล้าน แบบไม่ต้องทำงาน" เป็นเป็นคำลวงที่ชวนให้คนหลงใหลและคล้อยตามไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อได้เสมอมา

ถึงแม้ว่าเรื่องราว "การหลอกลวงทางการเงิน" จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ดูเหมือนมนุษย์ก็ยังคงหลงกลกับมันได้เสมอ "ความโลภ" และ "ความอยากรวยเร็ว" คือ Key หรือ กุญแจ ของกลโกงทั้งหลาย 

 

16 ตุลาคม 2567 เราจะพาไปรู้จักกับ "บอสคนแรกของแชร์ลูกโซ่" หรือ "บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่"

 

 

\"ชาร์ลส์ พอนซี\" บอสคนแรกของแชร์ลูกโซ่ หรือ บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่


โดย "ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi)" ผู้ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ "แชร์ลูกโซ่" หรือ "Ponzi Scheme" (พอนซี สคีม) กลโกงที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทั้งเงิน เสียทั้งทองจำนวนมาก และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนใจเราถึงภัยอันตรายของความโลภ

\"ชาร์ลส์ พอนซี\" บอสคนแรกของแชร์ลูกโซ่ หรือ บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่

 

 

ประวัติโดยย่อของ "ชาร์ลส์ พอนซี"

"ชาร์ลส์ พอนซี" เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1882 ในเมืองลูโก ประเทศอิตาลี ชื่อเต็มคือ Carlo Pietro Giovanni Guglielmo Tebaldo Ponzi เขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางและได้รับการศึกษาที่ดี แต่ด้วยความทะเยอทะยานและความฝันที่จะร่ำรวย เขาตัดสินใจย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 1903 เมื่ออายุได้ 21 ปี

"ชาร์ลส์ พอนซี" มาถึง เมือง Boston ในประเทศ USA ด้วยเงินติดตัวเพียง 2.5 ดอลลาร์ หลังจากที่เขาใช้เงินเกือบหมดระหว่างการเดินทาง เขาทำงานหลายอย่างเพื่อเลี้ยงชีพ เริ่มแรกเขาทำงานล้างจานในร้านอาหาร และได้ก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานบริการ แต่สุดท้ายก็ถูกไล่ออกเพราะโกงเงินทอนลูกค้า

 

ต่อมา "ชาร์ลส์ พอนซี" ได้ย้ายไปแคนาดาและได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยในธนาคารชื่อว่า Banco Zarossi ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเขาได้พบว่าธนาคารของเขาให้ดอกเบี้ยลูกค้าสูงถึง 6% ซึ่งสูงกว่าตลาดในเวลานั้นถึง 2 เท่า

 

แต่จริงๆ แล้ว มันคือการนำเงินฝากของลูกค้ารายใหม่ มาจ่ายให้กับผู้ฝากรายเก่า ซึ่งสุดท้ายธนาคารต้องปิดกิจการไป และเจ้าของหนีไปต่างประเทศพร้อมกับเงินของเหยื่อจำนวนมหาศาล

 

ประสบการณ์นี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดแผนการฉ้อโกงของตัวเองในภายหลัง

 

 

มหกรรมเปิดตัว จุดเริ่มต้นการฉ้อโกงครั้งใหญ่ ของ "ชาร์ลส์ พอนซี"

ในปี 1919 "ชาร์ลส์ พอนซี" กลับมาที่บอสตันและเริ่มธุรกิจที่เรียกว่า "Securities Exchange Company" โดยอ้างว่าสามารถทำกำไรมหาศาลจากการซื้อขาย International Reply Coupons (IRCs) ซึ่งเป็นคูปองที่ใช้แลกเป็นแสตมป์เพื่อส่งจดหมายระหว่างประเทศ

 

"ชาร์ลส์ พอนซี" อ้างว่าเขาสามารถซื้อ IRCs ในประเทศที่มีค่าเงินอ่อนแอ และขายในประเทศที่มีค่าเงินแข็งกว่า ทำให้เข้าทำกำไรสูงถึง 400% ภายในเวลาเพียง 90 วัน โดยเขาสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน 50% แก่นักลงทุนภายใน 45 วัน หรือ 100% ภายใน 3 เดือน

 

แต่ความจริงแล้ว แผนการของ "ชาร์ลส์ พอนซี" เป็นเพียงการนำเงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนรายเก่า โดยไม่มีการลงทุนจริง วิธีการนี้กลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า "แชร์ลูกโซ่" หรือ "Ponzi Scheme"

 

 

 

เล่นกับความโลภของมนุษย์

แผนการของ "ชาร์ลส์ พอนซี" ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยสัญญาผลตอบแทนที่สูงลิ่ว นักลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาลงทุนกับเขา ทั้งคนธรรมดา นักธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้พิทักษ์กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังหลงเชื่อ

 

ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด "ชาร์ลส์ พอนซี" สามารถระดมทุนได้มากถึง 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านบาท) ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น เขาใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ซื้อคฤหาสน์ รถยนต์ราคาแพง และเครื่องประดับมีค่า

 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ "ชาร์ลส์ พอนซี" เริ่มดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและทางการ นักข่าวเริ่มสงสัยในความเป็นไปได้ของผลกำไรที่เขาอ้าง และเริ่มสืบสวนธุรกิจของเขา

 

ในเดือนกรกฎาคม 1920 หนังสือพิมพ์ "Boston Post" เริ่มตีพิมพ์บทความวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจของ Ponzi อย่างหนัก ทำให้นักลงทุนเริ่มตื่นตระหนกและพากันมาไถ่ถอนเงินลงทุนคืน

 

 

 

จุดจบของ "ชาร์ลส์ พอนซี" สายโซ่เริ่มขาด

วันที่ 10 สิงหาคม 1920 เป็นวันที่แผนการของ "ชาร์ลส์ พอนซี" พังทลาย เมื่อทางการเข้าตรวจสอบบัญชีของเขาและพบว่าเขามีหนี้สินมากกว่า 7 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 230 ล้านบาท) นำไปสู่การจับกุม "ชาร์ลส์ พอนซี" ในข้อหาฉ้อโกงทางไปรษณีย์

 

ผลกระทบจากการล่มสลายของแชร์ลูกโซ่ของ "ชาร์ลส์ พอนซี" ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของบอสตัน โดยธนาคารหลายแห่งถึงกับล้มละลาย นักลงทุนสูญเสียเงินออมทั้งชีวิต และความเชื่อมั่นในระบบการเงินถูกทำลายลงอย่างหนัก

 

"ชาร์ลส์ พอนซี" ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษไปเพียง 3 ปีครึ่ง หลังจากนั้นเขาพยายามหนีไปยังฟลอริดาและทำการฉ้อโกงอีกครั้ง แต่ก็ถูกจับได้อีก 

 

สุดท้าย "ชาร์ลส์ พอนซี" ถูกเนรเทศกลับอิตาลีในปี 1934

"ชาร์ลส์ พอนซี" เสียชีวิตในปี 1949 ด้วยวัย 66 ปี ในสภาพยากจนและถูกลืมเลือน 

 

 

แต่ชื่อของเขากลับกลายเป็นคำที่ใช้เรียกการฉ้อโกงประเภทนี้ เพราะเขาเป็นคนที่ทำให้ "แชร์ลูกโซ่" โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ จนถูกขนานนามว่า "บอสคนแรกของแชร์ลูกโซ่" หรือ "บิดาแห่งแชร์ลูกโซ่"

ซึ่งคนไทย ควรจดจำ และเรียนรู้ เรื่องราวของ "ชาร์ลส์ พอนซี" เป็นบทเรียนสำคัญ ไม่ให้ "ความโลภ" และ "ความเสี่ยง" ของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบัน

 

 

เทคนิคที่แชร์ลูกโซ่มักใช้เพื่อล่อลวงคน


1.ใช้เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น จากสถานะไม่ดีกลับกลายเป็นร่ำรวยได้ภายในเวลาสั้น ๆ


2.ใช้คำเยินยอจากคนอื่น เช่น ใช้วิธีนี้แล้วได้ผลจริง ได้เงินจำนวนมาก


3.ทำให้รู้สึกว่าต้องรีบตัดสินใจ เช่น คอร์สนี้เปิดรับแค่ 10 คนเท่านั้น


4.ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น ช่วงที่ซื้ออะไรก็ราคาขึ้น ช่วงที่แต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลง คนจะไม่ค่อยสงสัยอะไร


5.ย้ำว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง"

 

 


ดูยังไงว่าแบบไหนคือแชร์ลูกโซ่


1.อ้างว่ารับประกันผลตอบแทน การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง การรับประกันผลตอบแทนสูงเกินจริง หรือการยืนยันว่าไม่มีความเสี่ยงเป็นสัญญาณอันตราย


2.ผลตอบแทนสูงเกินจริง: ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น 10% ต่อเดือน หรือ 2-3% ต่อวัน เป็นไปได้ยากและไม่น่าเชื่อถือ หรือถ้าคิดรวม ๆ แล้วผลตอบแทนเกิน 10% ต่อปี ให้สงสัยไว้ก่อนเลย 


3.รูปแบบการลงทุนไม่ชัดเจน ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการลงทุนและการสร้างผลกำไรไม่ชัดเจน ตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่มีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


4.ชวนคนอื่นมาลงทุน การที่โครงการลงทุนใด ๆ ชักชวนให้ชวนเพื่อนมาลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเพิ่มเติม (เพื่อนมาก ยิ่งโบนัสมาก) เป็นลักษณะเด่นของแชร์ลูกโซ่


5.เร่งให้ตัดสินใจ การเร่งรัดให้ตัดสินใจลงทุนอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นการหลอกลวง

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก (Thank for Information and pic) CR.Thai PBS, The Money Coach , springnews , finnomena.com , centuriespod.com