3 กุมภาพันธ์ 2566 สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ห้วยขวาง ตั้งด่านรีดเงินนักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวัน จนเป็นเหตุให้มีการดำเนินคดีตำรวจชุดดังกล่าว ที่สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)อย่างมาก
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.)
พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) กล่าวว่า หลังจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้ จตช. ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตั้งด่านรีดไถประชาชน เพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องขั้นเด็ดขาดทั้งวินัย อาญา และปกครอง ตนจึงได้มีหนังสือสั่งการให้ พล.ต.ท.วรัตม์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ หัวหน้าจเรตำรวจ จัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พร้อมสั่งการให้ กองตรวจราชการ 1 -10 จัดกำลังออกสุ่มตรวจการตั้งด่านตรวจของตำรวจทั่วประเทศ
ทั้งนี้สตช. เคยมีข้อสั่งการ ในการกำหนดมาตรฐานการตั้งด่านตรวจของตำรวจไว้อย่างชัดเจน ตามหนังสือคำสั่งตร.ที่ 0007.22/1572 ลง 31 พ.ค.2564 เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยการตรวจจะลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบด่านตรวจต่างๆ
“สิ่งที่ ผบ.ตร.กำชับคือ การแต่งกายที่แสดงตัวของตำรวจต้องชัดเจน การติดตั้งกล้อง Bodycam ติดตัวเจ้าหน้าที่ เพื่อบันทึกภาพ และเสียงให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ การตั้งด่านตรวจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมหรือไม่ มีการอนุมัติการตั้งจุดตรวจ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้บังคับการขึ้นไปในการอนุมัติหรือไม่”
แฟ้มภาพ
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า หากจุดตรวจไหน ไม่มีมาตรฐาน มีการเรียกรับผลประโยชน์ จะมีการลงโทษ ผู้บังคับบัญชาตามลำดับ และหัวหน้าสถานีตำรวจที่ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจในการตรวจสอบควบคุมดูแล หากไม่มีมาตรการควบคุม กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องทำรายงานผลภายใน 15 วัน
การตั้งด่านตรวจ มีจุดประสงค์เพื่อลดอาชญากรรม สร้างความมั่นใจ และเป็นที่พึ่งให้ประชาชน แต่ถ้าตั้งด่านตรวจแล้วกลับสร้างปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ตำรวจที่ตั้งด่าน และหัวหน้าหน่วย ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้จะลงพื้นที่ สุ่มตรวจด่านต่างๆ ทั่วประเทศด้วยตัวเอง