svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

แอมเนสตี้ชี้ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลาย ท่ามกลางสงครามในกาซา-ยูเครน

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชันแนล เผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี บ่งชี้ว่า ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลาย ตำหนิมหาอำนาจบางชาติเพิกเฉยต่อหลักกฎหมาย และใช้สองมาตรฐานต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสงครามยูเครนและฉนวนกาซา

แอมเนสตี้ชี้ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลาย ท่ามกลางสงครามในกาซา-ยูเครน

แอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชันแนล เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปีในวันพุธ (24 เมษายน 2567) ซึ่งเธอเขียนในคำนำของรายงานว่า สงครามในฉนวนกาซาที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ดำดิ่งสู่นรก ที่บทเรียนทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายถูกฉีกเป็นล้านชิ้น

เธอกล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า มีการละเมิดระเบียบโลกในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น เห็นได้จากสงครามในฉนวนกาซาช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง แต่ชาติพันธมิตรไม่หยุดยั้งการนองเลือดที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในฉนวนกาซา ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้วางระบบกฎหมายระหว่างประเทศยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนี้เธอ บอกด้วยว่า ยังมีการสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในอีกหลายประเทศ รวมถึง ซูดาน เอธิโอเปีย และเมียนมา บ่งชี้ว่า ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลายย่อยยับ  

แอมเนสตี้ชี้ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลาย ท่ามกลางสงครามในกาซา-ยูเครน

รายงานระบุชัดว่า สหรัฐฯ ล้มเหลวที่จะประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฉนวนกาซาที่กระทำโดยอิสราเอล และยังใช้อำนาจวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อขัดขวางมติเรียกร้องการหยุดยิงในฉนวนกาซา ส่วนรัสเซียยังคงเดินหน้าทำสงครามในยูเครน ขณะที่จีนสนับสนุนด้านอาวุธแก่กองทัพในเมียนมา ทั้งสามประเทศถูกตำหนิว่า ไม่คำนึงถึงข้อบังคับระหว่างประเทศที่กำหนดในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับปี ค.ศ. 1948

นอกจากนี้รายงานยังตำหนิบางประเทศ รวมถึง สหราชอาณาจักรและเยอรมนีว่า ใช้สองมาตรฐาน จากการสนับสนุนอิสราเอลและสหรัฐฯ เรื่องการทำสงครามในฉนวนกาซา แต่ประณามอาชญากรรมสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน 

แอมเนสตี้ชี้ระเบียบโลกเสี่ยงพังทลาย ท่ามกลางสงครามในกาซา-ยูเครน

รายงานที่ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 155 ประเทศและดินแดน ยังระบุถึงการละเมิดสิทธิสตรี และความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2566 ด้วย โดยอ้างถึง การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการประท้วงของผู้หญิงในอิหร่าน คำสั่งของรัฐบาลตาลีบันที่จำกัดสิทธิของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน และข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องการทำแท้งในสหรัฐฯ และโปแลนด์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชันแนล ยังเตือนภัยคุกคามของการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีระบบตรวจสอบว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ และเครื่องมือสอดแนมอาจถูกใช้ในการสู้รบ รุกล้ำสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ และสร้างความแตกแยกในปีการเลือกตั้งสำคัญ เทคโนโลยีที่ยังไร้ข้อบังคับควบคุม อาจถูกใช้เป็นอาวุธในการเลือกปฏิบัติ, บิดเบือนข้อมูล และสร้างความแตกแยก 

logoline