15 พฤศจิกายน 2567 ทีมข่าว "เนชั่นทีวี" พาไปเที่ยวชม "งานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2567" ซึ่งทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย. 2567 ภายใต้แนวคิด "มนต์เสน่ห์แม่ระมิงค์ แสงศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม"
โดยวันนี้ (15 พ.ย.67) มีหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของงานฯ นั่นคือ "การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา" ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ ต่อเนื่อง สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักท่องเที่ยวจับจองที่นั่งที่ยืนตลอดทาง ตั้งแต่ประตูท่าแพ ยาวไปจนถึงถนนคชสาร เพื่อรอชมขบวนแห่ "สะเปา"
เมื่อขบวนฯ มาถึง นักท่องเที่ยวต่างตื่นตาตื่นใจไปกับประเพณีที่สวยงามของชาวล้านนา พร้อมเอ่ยปากชมเครื่องแต่งกายที่งดงาม และสะเปาที่ตกแต่งอย่างประณีต
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังเดินชมความสวยงามของซุ้มประดับไฟมงคล "พิงคราษฎร์ภักดี เฉลิมพระจักรี ฑีฆายุโก" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ร่วมกับอาจารย์จากภาควิชาศิลปะไทยและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสร้างซุ้มไฟประดับในรูปแบบซุ้มโขง 14 ซุ้ม บนถนนท่าแพไปจนถึงลานข่วงประตูท่าแพ รวมระยะทางกว่า 200 เมตร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับซุ้มโขงดังกล่าวนี้ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาคลาสสิคร่วมสมัยสไตล์โคโลเนียล ที่นำเสนออัตลักษณ์ของล้านนา ซุ้มที่ 1 และซุ้มที่ 14 เป็นลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษา และดอกพุตตาล อันเป็นเอกลักษณ์ของการตกแต่งประดับหน้าบันวิหารล้านนา ตรงกลางซุ้มประดับรูปเทวดาอันเชิญดวงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีตราเทศบาลนครเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง วางบนฐานประดับลายบัวคว่ำบัวหงาย
ส่วนในซุ้มที่ 2 ถึง 13 ด้านหนึ่งประดับประดาด้วยลวดลายปีเปิ้ง ตามคติความเชื่อระบบปฏิทินของจีนโบราณ ที่ถูกกำหนดใช้เป็นรูปสัตว์ 12 นักษัตรแทนในรอบ 12 ปี โดยความเชื่อเรื่องนักษัตรมงคลประจำปีเกิดเหล่านี้ มีทั้งไทยและล้านนาตั้งแต่อดีต แต่ล้านนาเปลี่ยนปีกุน จากเดิมนักษัตรหมู มาเป็นช้างแทน อีกด้านหนึ่งประดับด้วยลายจักราศีสากล เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในประเพณีเดือนยี่เป็ง
"ล่องสะเปา" ฮีตบ่เก่าของชาวล้านนา (ฮีต ภาษาเหนือ แปลว่า ประเพณี)
หลังจากชมภาพขบวนแห่สะเปาล้านนา สวยๆ กันไปแล้ว ทีนี้เรามาทำความรู้จัก "ล่องสะเปา" กัน ว่าคืออะไร มีที่มาจากไหนกัน
อ้างอิงจากหนังสือ "ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย" แต่งโดย "มณี พยอมยงค์" (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม เมื่อปี 2547) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณี "ล่องสะเปา" ไว้ว่า
การลอยประทีปและเครื่องสักการะทางน้ำชาวล้านนา เรียกว่า "ล่องละเปา" หรือ "ไหลเรือสำเภาไฟ" ในสมัยโบราณตามตำนานเมืองลำพูน ฉบับใบลานผูกของวัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน กล่าวถึงการลอยสะเปาทางน้ำในสมัยหริภุญไชยไว้ว่า ราวพุทธศัตวรรษที่ 14 ได้เกิดอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญไชยไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี เป็นเวลาหลายปี
เมื่อทราบข่าวอหิวาตกโรคในเมืองหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงต่างพากันเดินทางกลับคืนสู่หริภุญไชย แต่หลายคนไม่ได้กลับมาเนื่องจากมีครอบครัวใหม่ ส่วนผู้ที่กลับมาแล้วคิดถึงญาติพี่น้อง ที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี ในช่วงเดือนยี่เป็ง จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงใน "สะเปา" ลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องจึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยกระทงนับแต่นั้นเป็นต้นมา
การลอยสะเปา จึงเป็นการทำบุญบริจาคทานอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับและแก่ตนเองในภายภพหน้า ในอดีตชาวบ้านวัวลาย ตำบลนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นิยมทำสะเปากันที่วัด โดยชาวบ้านช่วยกันทำสะเปาเป็นรูปเรือลำใหญ่ วางบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวงพร้อมด้วยข้าวของต่าง ๆ ทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ ใส่ลงไปในสะเปา ในช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพากันหามสะเปา พร้อมแห่ด้วยฆ้องกลองจากวัดไปลอยที่แม่น้ำปิง และทำพิธีเวนทานที่ท่าน้ำก่อนปล่อยสะเปาลอยลงไป ขณะที่สะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่งจะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่าง ๆ มาใช้อุปโภคและบริโภคจึงเป็นการบริจาคทานอีกรูปแบบหนึ่ง
ปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะสงฆ์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมการลอยสะเปาขึ้น และต่อมาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้สนับสนุนงบประมาณแก่วัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลฯ สำหรับจัดทำสะเปา เพื่อนำไปลอยตามประเพณีที่แม่น้ำปิง โดยชุมชนต่าง ๆ เช่น บ้านเจ็ดยอด บ้านสันป่าข่อย บ้านวัวลาย บ้านวัวลาย นันทาราม หมื่นสาร วัดเกตุ ฯลฯ ได้จัดทำสะเปารูปเรือลำใหญ่ นำไปลอยในคืนยี่เป็งที่แม่น้ำปิงบริเวณท่าวัดศรีโขง ตำบลฟ่าฮ่าม
อ้างอิงข้อมูล : มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
ภาพ : NationPhoto