ข้อมูลประจำปีของ Climate Trace ที่เผยแพร่ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ COP29 ที่กรุงบากู ของอาร์เซอร์ไบจานในวันศุกร์ ระบุว่า 7 รัฐ หรือ จังหวัดในโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันมากกว่า 1,000 ล้านเมตริกตัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในจีน ยกเว้น รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ อยู่ในอันดับ 6 ส่วนเซี่ยงไฮ้อยู่ในอันดับ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 256 ล้านเมตริกตัน
ส่วนเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น โตเกียวปล่อยก๊าซเรือนกระจก 250 ล้านเมตริกตัน, นิวยอร์ก 160 ล้านเมตริกตัน และโซล 142 ล้านเมตริกตัน
องค์กร Climate Trace ซึ่งมีอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ของสหรัฐฯ ร่วมก่อตั้ง ยังเผยข้อมูลด้วยว่า จีน, อินเดีย, อิหร่าน, อินโดนีเซีย และรัสเซีย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมากที่สุดจากช่วงปี 2565-2566 ขณะที่เวเนซุเอลา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ปล่อยมลพิษลดลงมากที่สุด
การเปิดเผยข้อมูลนี้มีขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่และนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศแสดงความกังวลมากขึ้นต่อความล้มเหลวของโลกในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยิ่งกว่านั้นบางประเทศและบางบริษัทกลับส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเนื่องจากมีล็อบบียิสต์ราว 1,770 คนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จึงสร้างความไม่พอใจอย่างมากนักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้อดีตรองประธานาธิบดีกอร์ กล่าวต่อที่ประชุม COP29 ในวันนี้ โดยบอกว่า โลกไม่ควรยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย เขายังวิจารณ์การจัดประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างอาเซอร์ไบจานในปีนี้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำระดับโลกและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึง บัน คี มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศด้วยว่า การประชุม COP ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อีกแล้ว และเสนอให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน รวมทั้งบอกว่า การประชุมครั้งต่อไปควรจัดในประเทศที่แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเห็นนี้มีขึ้นหลังจากอาร์เซอร์ไบจาน ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวในพิธีเปิดว่า น้ำมันและก๊าซเป็นของขวัญจากพระเจ้า
เป้าหมายของการประชุม COP29 คือ การบรรลุข้อตกลงเรื่องเงินสนับสนุนจากชาติร่ำรวย สถาบันการเงินส่งเสริมการพัฒนาในโลก และภาคเอกชน เพื่อจัดตั้งกองทุนปีละอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับช่วยเหลือชาติยากจนในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
แต่รายงานที่จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญและเผยแพร่ในการประชุม แนะว่า นานาชาติควรลงทุนราว 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2030 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ เสี่ยงต้องลงทุนมากกว่านี้ในอนาคต
ขณะที่การบรรลุข้อตกลงในการประชุมครั้งนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความเห็นขัดแย้งกันของสาธารณชนและการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ในขณะที่ทั่วโลกวิตกว่า ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง
ส่วนอาร์เจนตินาสั่งให้ผู้แทนถอนตัวจากการประชุม โดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ ที่ผ่านมาประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเล ของอาร์เจนตินา เคยบอกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า การกล่าวโทษว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ไม่เป็นความจริง