svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ภูมิธรรม” รับมีแนวคิดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชายแดนใต้

“ภูมิธรรม” รับมีแนวคิดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชายแดนใต้ ชี้ใช้ยาแรงไปก็ไม่ดี อ่อนไปก็มีปัญหา ต้องพอดีกับสถานการณ์

“ภูมิธรรม” รับมีแนวคิดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชายแดนใต้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 โดยกล่าวถึงแนวนโยบายการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในภาพรวมต้องดูความเป็นจริง แม้สถานการณ์ดีขึ้น การก่อเหตุลดลง แต่เหตุรุนแรงขึ้น หากเปรียบเทียบจากปี 2547 ทาง กอ.รมน. ก็เสนอเรื่องขึ้นมาให้รัฐบาลพิจารณา รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกัน ว่าในรูปแบบที่การก่อเหตุลดดง แต่รุนแรงขึ้น จะใช้รูปแบบใดที่เหมาะสม ก็ต้องให้เวลาพิจารณาทบทวน ซึ่งยอมรับมีความตั้งใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีความเปลี่ยนแปลง แต่ต้องดูสถานการณ์ที่เป็นจริง พร้อมยอมรับมีเรื่องต้องกังวลบางส่วน แต่ในด้านเศรษฐกิจดีขึ้น 

 

“การใช้ยาแรงไปก็ไม่ดี อ่อนไปก็มีปัญหา  ต้องหาสิ่งที่พอดีกับสถานการณ์”

“ภูมิธรรม” รับมีแนวคิดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชายแดนใต้

การประชุมครั้งนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ที่ได้ระบุไว้ ในการให้คณะกรรมการฯ มีอํานาจหน้าที่กํากับ ให้คําปรึกษาและเสนอแนะต่อ กอ.รมน. ในการกำหนดแผนปฏิบัติงานตามอํานาจหน้าที่ของหน่วย 

 

โดยการประชุมในช่วงต้นเป็นการบรรยายสรุปถึงผลการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง ในปีงบประมาณที่ผ่านมา จากนั้นร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

ผลงานการขับเคลื่อนงานความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามบทบาทหน้าที่ใน พ.ร.บ.ฯ มีการบูรณาการขับเคลื่อนการเสริมสร้างความมั่นคงภายใต้แผนงาน “ตําบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ร่วมกับส่วนราชการกำหนด 1,154 ตําบลตามเป้าหมาย เพื่อมุ่งแก้ไขภัยคุกคามและพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ มีการดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านอาสาพัฒนาตนเอง จำนวน 55 หมู่บ้าน ใน 55 จังหวัด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งรักในถิ่นฐาน พร้อมเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาและป้องกันตนเองในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ 

 

ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดย นรม. ในฐานะ  ผอ.รมน. ได้มีบัญชาให้ กอ.รมน. เสริมการปฏิบัติของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติด จึงได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดน (นบ.ยส.) ในพื้นที่ภาคเหนือ (นบ.ยส.35) รับผิดชอบพื้นที่ 18 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และตาก มีผลการสกัดกั้นจับกุมยึดของกลาง ยาบ้า 260,397,423 เม็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) รับผิดชอบพื้นที่ 25 อำเภอ ของจังหวัดนครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี สกัดกั้นยึดของกลาง ยาบ้าได้ 35,569,479 เม็ด ทั้งนี้รวมทั้งสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ ได้แก่ ไอซ์ เฮโรอีน ฝิ่น และคีตามีน รวมถึงจะในปี 68 จะมีการจัดตั้งหน่วย นบ.ยส.17 เพิ่มเติม เพื่อป้องกันและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันตกใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรีต่อไป 

 

สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในปีงบประมาณที่ผ่านมา กอ.รมน. ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบาย ได้แก่ 1) การจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง ซึ่ง กอ.รมน. ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง เตรียมจัดตั้งบ้านอิ่มใจรองรับและดูแลคนไร้ที่พึ่งได้ 200 คน และจะร่วมกันดูแลด้านสวัสดิการ สังคม สุขอนามัย และการฝึกอาชีพต่อไป 2) การบริหารจัดการที่ดินของกองทัพให้ประชาชนใช้ประโยชน์ กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับ กระทรวงกลาโหม (กห.) และเหล่าทัพ มอบพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ไปดำเนินการจัดสรรให้ประชาชนเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ปัจจุบันมีประชาชนได้รับสิทธิในที่ดินทำกินและอยู่อาศัย เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 55,180 ไร่เศษ 3) การดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารกองประจำการแบบสมัครใจ กอ.รมน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสร้างแรงจูงใจ การส่งเสริมการศึกษาอาชีพ โดยจะดำเนินการศึกษาแนวทางการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนสิทธิ์ในการเข้ารับราชการใน กห. เหล่าทัพ และกระทรวงต่าง ๆ ต่อไป 4) การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้บูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการวางแผน อำนวยการและบูรณาการ การป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดให้ครอบคลุม ซึ่งพบว่าจุดความร้อนสะสม พื้นที่เผาไหม้สะสม และค่าฝุ่นละอองลดลงเมื่อเทียบกับห้วงปีที่ผ่านมา 5) นโยบาย “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด (ตราด จันทบุรี อุทัยธานี อุดรธานี น่าน เชียงใหม่ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) โดยจะเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเร่งด่วน 71 โครงการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 17,215 ครัวเรือน (49,105 ราย) 

 

ขณะที่ แนวทางการเพิ่มบทบาทข้าราชการพลเรือน ปัจจุบัน กอ.รมน. กำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มบทบาทข้าราชการพลเรือน ลดสัดส่วนของทหาร รวมถึงการกำหนดอัตรากำลังใน กอ.รมน. ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ 

 

สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง กอ.รมน. ได้นำเสนอเรื่องแนวทางการดำเนินการ โดยให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและมีมติให้ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ผอ.รมน. ดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้าง อัตรากำลัง และแผนเสริมสร้างสันติสุข เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สถิติความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การยกเลิกพื้นที่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นรายอำเภอ จึงมีการปรับลดอัตรากำลังพล จำนวน 178 อัตรา คงเหลือ 49,735 อัตรา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อส.จชต. ในปี 2570 

 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการความมั่นคงรองรับพื้นที่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 สืบเนื่องจากที่ ครม. มีมติให้ปรับลดพื้นที่ 19 อำเภอใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามมาตรา 21 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในคดีความมั่นคง สามารถกลับใจและเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ เป็นกลไกหนึ่งในการนำไปสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้รับมอบอำนาจและดำเนินการ

 

สำหรับการประชุมวันนี้ มี รมว.มหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมป้องกันสาธารณภัย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการฯ ที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมประชุม ณ อาคารรื่นฤดี