นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยมีข้อสังเกตเรื่อง การแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ และ
การสกัดการทำปฏิวัติ ว่า เรื่องอื่นตนยังไม่ได้ดู แต่ถ้าเป็นเรื่องการสกัดการปฏิวัติ ตนไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะสกัดการปฏิวัติ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมืองต้องทำหน้าที่ใฟ้ดี ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ และอย่า อย่าให้แตกความสามัคคี
“เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทุกอย่างก็มีอยู่แค่นี้”
ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชน ผ่านร่างนี้ในสภานั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าในประเด็นนี้ พรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนจะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามกระบวนการ ตามระบอบประชาธิปไตย ตามเสียงส่วนมาก
เมื่อถามว่า ร่างจะไปตกในชั้นวุฒิสภาหรือไม่ นายอนุทิน บอกว่า เรื่องนี้ไม่รู้ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยประเด็นตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น ซึ่งตนอยู่กับการเมืองมานาน เห็นตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 23 กุมภา 2534 สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเงื่อนไขการปฏิวัติก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใกล้เงื่อนไขนั้น ก็ปฏิวัติไม่ได้
นายอนุทิน แจ้งย้ำกับสื่อมวลชนอีกครั้ง ว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ของพรรคเพื่อไทย เป็นสิทธิของ สส. ที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย ยังไม่ได้รับการประสานงานจากพรรคเพื่อไทย และ ยังไม่มีรายละเอียด ยังไม่ทราบหลักการและเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
สำหรับมุมมองของพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาใหญ่ของประชาชน คือ ปัญหารายได้ และความยากจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้มากกว่า การจัดระเบียบหรือการจัดโครงสร้างการบริหารราชการกลาโหม
ขณะนี้ พรรคภูมิใจไทย ไม่มีความชำนาญ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะให้ความเห็นได้ เราจึงขอสงวนความเห็นส่วนนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ก่อน แต่หลักการสำคัญที่ควรต้องมีคือ การเมืองไม่ควรไปก้าวก่าย แทรกแซง กองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นสถาบันสำคัญของชาติ ที่มีต้องมีกฎหมายพิเศษ หรือ กฎหมายเฉพาะ มากำกับดูแลการบริหาร เพื่อความมั่นคงของชาติ การช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีสถานการณ์วิกฤติ ทั้งจากภัยความมั่นคง และภัยธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นภารกิจหลักของกองทัพ
ส่วนเรื่องการออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ก็ต้องดูความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ สามารถต่อต้าน สกัดกั้น ได้หรือไม่ และจำเป็นต้องออกกฎหมายมาอีกหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติ ห้ามผู้ใดกระทำการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และ รัฐบาล ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ขนาดรัฐธรรมนูญ ยังห้ามไม่ได้ ออกกฎหมายใหม่มา จะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฯ ฉบับพรรคเพื่อไทย ว่า นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.เพื่อไทย เสนอมาก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่ในส่วนของตน ก็ยึดร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกระทรวงกลาโหม ซึ่งในวันนี้ก็ต้องฟังความเห็นทุกส่วนก่อนว่าควรจะไปทิศทางใด เพราะหน้าที่เราคือการกลั่นกรองเอกสาร และวาระต่างๆ ที่จะต้องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ความเป็นจริง จะทำอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด และสิ่งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับลายลักษณ์อักษร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ ความร่วมไม้ร่วมมือ และการใช้กองทัพมาช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นแค่องค์ประกอบ ระเบียบสามารถแก้ไขได้
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยยังระแวงว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร เพราะทั้งนายประยุทธ์ และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.เพื่อไทย ก็ผลักดันเรื่องนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า สื่อพูดถึงคนสองคน เขามีสิทธิแสดงความเห็น แต่ไม่ใช่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องพูดคุยกันอีกที แต่ย้ำว่าต้องดูความเป็นจริง ในส่วนร่างของกลาโหม อยู่ระหว่างการพิจาณารายละเอียด ก่อนเข้า ครม. แต่สภากลาโหมได้พิจารณามาเบื้องต้นแล้ว และเป็นช่วงรอยต่อ รมว.กลาโหม คนก่อน ซึ่งขณะนี้ขอดูรายละเอียดอีกที
เมื่อถามว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง ชนชั้นนำ กองทัพ และรัฐบาล เปรียบเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า จะทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า กฎหมายยังไม่ได้มีการยืนยัน และไม่ใช่จุดยืนของพรรคเพื่อไทย แต่ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นว่ามีจุดยืนอย่างไร