svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ยูเอ็น" กังวล "คดีตากใบ"ขาดอายุความ ความยุติธรรม นำคนผิดลงโทษสูญเปล่า

ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชน "ยูเอ็น" ออกมาแสดงความกังวล การขาดอายุความคดีตากใบทำให้ความพยายามเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสูญเปล่า

25 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ถือเป็นวันสุดท้ายในการครบกำหนดอายุความ "คดีตากใบ" ซึ่งจำเลยในคดียังไม่ปรากฎตัว ต่อสู้คดีในชั้นศาล ขณะที่ นายกฯ"แพทองธาร  ชินวัตร" ออกมาแถลงขอโทษ และแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่  24  ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา  "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ  ณ นครเจนีวา  ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว  โดยระบุว่า มีความกังวลใจอย่างมากว่า การขาดอายุความของกรณีตากใบซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 รายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยเมื่อปี 2547 นั้นจะทำให้ความพยายามเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสูญเปล่า
 

คลิกอ่านฉบับเต็ม  >>>


\"ยูเอ็น\" กังวล \"คดีตากใบ\"ขาดอายุความ ความยุติธรรม นำคนผิดลงโทษสูญเปล่า

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 หลังจากการเจรจาล้มเหลว หน่วยงานความมั่นคงได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมารวมตัวกันหลังจากมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยหกคนซึ่งถูกกล่าวหาว่า จัดหาอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ มีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนเจ็ดราย และมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คน จนนำไปสู่การให้ผู้ชุมนุมนอนซ้อนทับกันในรถบรรทุกเป็นเวลาห้าชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังค่ายทหาร ซึ่งถือเป็นกระทำทารุณกรรม และทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวน 78 คนในเวลาต่อมา ซึ่งล้วนเป็นชาวมุสลิมมาเลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา
 


เรายินดีที่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีอาญาสองคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการออกหมายจับข้าราชการทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุราชการแล้วที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ คดีความดังกล่าวจะจบลงเมื่ออายุความของคดีขาดไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2567" กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กล่าว


"เราอยากย้ำเตือนว่าหน้าที่ในการสอบสวน กำหนดบทลงโทษ และให้การเยียวยาแก้ผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวนั้นมิอาจยุติลงเพียงเพราะเวลาผ่านพ้นไป และความล้มเหลวของการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนี้นั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติมิให้มีการกำหนดอายุความต่อการทรมาน และการกระทำทารุณกรรมอื่นๆ และหากมีการกระทำให้บุคคลสูญหาย อายุความจะเริ่มนับได้หลังจากที่ความผิดนั้นสำเร็จแล้ว นั่นหมายถึงมีการระบุชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายได้อย่างแน่ชัดแล้ว"
 
ครอบครัวของผู้เสียหายต่างรอคอยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษเพื่อความยุติธรรม เราเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าของการรับผิดรับชอบอีกต่อไป และเพื่อให้สิทธิการรับรู้ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาได้รับการเคารพ”
 
ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายเจ็ดคนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวไปยังรัฐบาลไทย

 

ไร้ปัญหา UN แสดงความกังวล ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้คดีหมดอายุความ

ด้าน"นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีคดีสลายการชุมนุมตากใบที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะยังมีปาฏิหาริย์นำตัวผู้ถูกออกหมายจับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ ว่า ก็หวังอย่างนั้น พยามจะให้มันเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว 

เมื่อถามว่า ผู้ที่ถูกออกหมายจับได้มีการติดต่อประสานงานมาบ้างหรือไม่ "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า ไม่เคยติดต่อมา แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำงานเต็มที่ อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าเราก็เสียใจ หากวันนี้มันผ่านไปแล้วยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มันก็เป็นบทเรียนและต้องดูว่ากระบวนการที่จะแก้ปัญหาในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม  แจง ประเด็น ยูเอ็น กังวลคดีตากใบหมดอายุความ

เมื่อย้ำว่า ในอนาคตจะมีการดำเนินการกับคดีตากใบอย่างไร "นายภูมิธรรม"กล่าวว่า ก็จะไปศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ยังเป็นข้อมูลของสองฝ่าย ก็อยากจะไปทบทวนความคิดเห็น

ส่วนกรณีองค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีความกังวลคดีตากใบที่หมดอายุความนั้น "นายภูมิธรรม" ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้หมดอายุความ มันยังมีความแตกต่างอยู่ บางอย่างเราก็พยายามทำ และมีความเสียใจที่ไม่สามารถทำให้บรรลุผลได้ สิ่งที่ UN แสดงความคิดเห็น เราก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเราก็เสียใจเหมือนกัน ทั้งหมดก็ต้องมาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร