svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิพนธ์" ชี้ "คดีตากใบ" จะหมดอายุความ สะท้อน กระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว

"นิพนธ์ บุญญามณี" ซัด ยุติธรรมไทยล้มเหลว ปล่อยคดีตากใบขาดอายุความ ชี้ไม่สร้างความเชื่อมั่น อย่าหวัง"แก้ไฟใต้

24 ตุลาคม 2567  "นายนิพนธ์ บุญญามณี" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ได้กล่าวถึงกรณี "เหตุการณ์ตากใบ" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ในช่วงที่"นายทักษิณ ชินวัตร" ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยในปัจจุบัน มีบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยุคนั้นก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และในขณะที่บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน และกำลังปล่อยให้คดีขาดอายุความทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทย แม้ศาลจะได้ประทับรับฟ้องคดีไว้แล้ว

"นายนิพนธ์ บุญญามณี" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

"นายนิพนธ์" ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมไทย มีการเลือกปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบยุติธรรมลดลงอย่างมาก การที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ย่อมทำให้ความไว้วางใจในรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมเสื่อมลง และส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งยากขึ้นและซับซ้อนมากกว่าเดิม หากประชาชนไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง 

 

เหตุการณ์ตากใบเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเสมอภาคและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะประเด็นความยุติธรรม ความเสมอภาคความเท่าเทียมเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม

"ภูมิธรรม" บอก เมื่อคดีตากใบหมดอายุความจบไปตามกฎหมาย 


ในขณะที่  "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกองทัพบก ถึงความคืบหน้าคดีตากใบ ที่จะหมดอายุความในวันพรุ่งนี้ (25 ตุลาคม  2567) ว่า ได้พูดคุยกับ พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพราะการมาตรวจเยี่ยมในวันนี้เป็นการพูดคุยในภาพรวมเท่านั้น

ทั้งนี้ สถานการณ์ภาคใต้มีมาโดยตลอด สิ่งที่ห่วงใยในวันที่ 25 ตุลาคม ที่คดีจะหมดอายุความ ก็คงจะมีอะไรที่ต้องเพิ่มเติมมากขึ้น ทางกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้เฝ้าดู เฝ้าระวัง โดยมองว่าเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ใช่เพิ่งเกิดในช่วงคดีตากใบใกล้หมดอายุความเท่านั้น  แต่มีการก่อเหตุมาโดยตลอดอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า การก่อเหตุมีความถี่ขึ้นในช่วงคดีใกล้หมดอายุความ โดยเฉพาะวันสองวันนี้ นายภูมิธรรม ย้ำว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นถี่อยู่แล้ว ก็ต้องไปถามว่า เพราะเหตุใดเหตุการณ์จึงเกิดถี่ขึ้นในตอนนี้ 

สำหรับเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นในปี 2547 ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว และโซเชียลมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ตัดบางส่วนออก และเพิ่มบางส่วนเข้ามา จึงมองว่าต้องเอาเรื่องนี้มาดูข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งศาลตัดสินมาแล้ว 4 คดี เพราะฉะนั้นการมาพูดว่ารัฐบาลไม่เคยสนใจใยดี จึงไม่ใช่ และต้องไปดูเหตุการณ์ทั้งหมดของคดีว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร 

นอกจากนี้ อยากให้ไปดูผลการรายงานสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีคดีของผู้ก่อเหตุ ซึ่งถูกจับเป็นจำนวนมาก โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยกเลิกคดีให้ทั้งหมด เพื่อหวังให้เหตุการณ์สงบและลดลง  แต่การแก้ไขปัญหาในขณะนั้น ก็ทำให้เหตุการณ์ในภาพรวมลดลงไม่ได้ เพราะเป็นคนละเงื่อนไขกัน จึงต้องตัดประเด็นตากใบออกจากประเด็นที่มีการเคลื่อนไหว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของประชาชนที่มาชุมนุมกัน คแต่เป็นเรื่องของหน่วยที่กำลังสร้างปัญหา 

"เรื่องตากใบไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของรัฐ ซึ่งกำลังถูกคุกคาม จึงอยากให้สื่อช่วยดูตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการกระตุ้นจนรัฐบาลหรือรัฐไทยตกเป็นเหยื่อ เพราะเราเป็นผู้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และยินดีแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทำมาจนถึงคดีที่ 4 และได้ข้อสรุปว่า รัฐไม่ฟ้องทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงได้มีการเยียวยา โดยรัฐได้เยียวยาไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท และครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ได้ไปครอบครัวละ 7 ล้าน บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการซื้อชีวิตคน เพียงแต่เป็นการสื่อว่า รัฐพยายามดูแล และเยียวยาตามที่กฎหมายมีอยู่ และอนุญาตให้เราทำมาจนถึงวันนี้"

"นายภูมิธรรม" กล่าวต่อว่า นางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งเป็น สว. และนักสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ แต่พูดเฉพาะเรื่องของคดี ดังนั้นต้องไปดูรายละเอียดว่าคืออะไร แต่เมื่อศาลออกหมายจับ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งลงพื้นที่ เพื่อไปตามหาผู้ถูกหมายจับในสถานที่ต่างๆ จะเห็นได้ว่าเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และสุดความสามารถ โดยนายกฯ ได้สั่งการตน และเน้นย้ำกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้รัฐทำตามบทบาทหน้าที่อย่างครบถ้วน แต่ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่าต้องจับให้ได้ 

"นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ส่วนที่มีการเสนอให้ออก พ.ร.ก.ต่ออายุความคดีตากใบนั้น "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า เป็นการพูดที่ไม่ตรงข้อเท็จจริง และไม่เข้าใจกฎหมาย เพราะหลักของกฎหมายที่จะให้ออกนั้น ต้องมีเรื่องภัยฉุกเฉิน ภัยฉุกเฉินทันที ซึ่งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำยังมีเงื่อนไขอยู่ 

ส่วนเรื่องคดีตากใบ ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข ก็ได้ปรึกษากับทางฝ่ายกฎหมายแล้ว และทางฝ่ายกฎหมายแจ้งว่าทำไม่ได้ อีกทั้งกฎหมายออกเพื่อเป็นคุณ ไม่ได้ออกเพื่อเป็นโทษ หากฝืนทำไปจะเสียหลักความเป็นนิติธรรม และจะมีปัญหาตามมา ก็ต้องไปดูว่าจะหาทางออกอื่นได้หรือไม่ แต่ในเรื่องของกฤษฎีกา ทำไม่ได้อย่างแน่นอน

ส่วนที่มองว่า "พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" ได้ถูกย้ายจากแม่ทัพภาคที่ 4 ถือเป็นการลงโทษแล้วหรือไม่ "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า  ตนไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ต้องไปดูว่าผู้บังคับบัญชาตัดสินใจในเวลานั้น บนพื้นฐานอะไร และมีสภาพแวดล้อมแบบไหน 

ส่วนที่ว่าเมื่อผ่านวันที่ 25 ตุลาคมแล้ว คดีหมดอายุความ กระบวนการทุกอย่างจะสิ้นสุดไปด้วยเลยหรือไม่นั้น "นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เราเป็นนิติรัฐ นิติธรรม กฎหมายว่าอย่างไรก็ตามนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราดีใจติดปีก เพราะเราก็พยายามทำตามหน้าที่อยู่แล้ว เหมือนกับคดีอื่นๆเช่นเดียวกัน หากจบแบบไหนก็จบแบบนั้น