svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภูมิธรรม" ยอมรับ "บอสพอล" เคยมาอบรมกำลังพล ถ่ายทอดการตลาดออนไลน์

“ภูมิธรรม” ยอมรับ “บอสพอล” เคยมาอบรมให้กำลังพล ในนามผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครือข่าย เผยคดีดิไอคอน ทุกฝ่ายร่วมกันทำงานคืบหน้าไปมาก

24 ตุลาคม 2567  "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพบก โดยกล่าวถึงกรณีที่มีภาพผู้ต้องหาคดีดิไอคอน บางคนมาอบรมให้กับกำลังพล ว่า คดีแชร์ลูกโซ่ดังกล่าว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึง ป.ป.ง. ก็กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งขณะนี้แก้ปัญหาทุกอย่างได้แล้ว และคดีมีความคืบหน้าไปมาก กำลังจะจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้า

"นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

เมื่อถามว่า ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวได้มาอบรมให้ทหาร ทำให้ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจโลกและเข้าใจความเป็นจริง ในตอนที่มาอบรมให้กำลังพล คดีนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ต้องหาคนดังกล่าว ถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ว่าเป็นนักการตลาดที่มีความสามารถคนหนึ่ง และกองทัพก็ต้องการดูแลกำลังพลให้มีมุมมองและชีวิตที่ดีขึ้น มีความสามารถในการค้าขาย และมีความสามารถในการบริหารทรัพย์สิน แก้ไขเรื่องหนี้สิน จึงได้เชิญมาบรรยายให้ความรู้ แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเครือข่ายดังกล่าว ขออย่านำมาผูกโยงกัน คำวิจารณ์จากโซเชียลมีเดียก็ควรฟังหูไว้หู ต้องฝากไว้ให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละบุคคลด้วย

กังวล คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปมเทวดาใน สคบ.

"นายประเสริฐพงศ์ ศรนุวัฒน์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร แถลงข้อกังวลการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี"ดิไอคอนกรุ๊ป" ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีมีเทวดาใน"สคบ."เอี่ยว"คดีดิไอคอนกรุ๊ป" ซึ่งผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว จึงมีประเด็นฝากถึง "นายประเสริฐ จันทรรวงทอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ "นางสาวจิราพร สินธุไพร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ.

 

โดยเห็นว่าเท็จจริงที่สอบมาอาจไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะเรื่องเหล่านี้ไปเกี่ยวโยงกับบุคลากรใน สคบ. ภายใต้สังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าเกี่ยวข้องกับฝ่ายไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน ฝ่ายลงทะเบียน หรือฝ่ายกฎหมาย จะต้องมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ เพราะ บุคคลที่เกี่ยวข้องอาจไปยุ่งกับพยานหลักฐาน ทำให้สูญเสียข้อมูลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้ แต่เมื่อไม่มีการโยกย้าย คณะกรรมการสอบสวนฯ ก็อาจได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในฐานะที่ตนเป็นข้าราชการเก่า รู้ดีว่าอาจมีการทำลายข้อมูลเหล่านี้ภายใน สคบ. ได้

นอกจากนี้ ถ้ามีการโอนคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เกรงว่าอาจมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเข้าด้วยช่วยเหลือกับผู้กระทำผิดหรือไม่ เพราะตนเคยร้องเรียนวินัยข้าราชการระดับผู้อำนวยการ ไปยังอธิบดีดีเอสไอ แต่ผ่านมากว่า 2 ปี ยังไม่มีงานแจ้งผลการสอบสวนคดีดังกล่าว ดังนั้นเรื่องใหญ่ อย่างดิไอคอนกรุ๊ป ก็เชื่อว่าข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือเป็นจริง เพราะขนาดเรื่องเล็กๆ ก็ยังถ่วงเรื่อง ช่วยเหลือกัน

ด้าน "นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์" สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภควันนี้ จะมีการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เกี่ยวกับการทำแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมี พ.ร.บ.การขายตรง ปี 2545 , พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการทำ แชร์ลูกโซ่และใครอยู่เบื้องหลัง โดย สส. ของพรรคพร้อมจะอภิปราย
 

 ห่วง คดีดิไอคอนฯ จะกลายเป็นเพียงไฟไหม้ฟาง

 

"นางสาวเจนจิรา รัตนเพียร" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อคดีดิไอคอนกรุ๊ป ว่า จากข่าวที่ปรากฏในสื่ออย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการร้องเรียน จับกุม ไปจนถึงการตรวจยึดทรัพย์ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอ พบว่า คดีนี้เป็นคดีที่อาจมีความเชื่อมโยงกับบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้มีอิทธิพล หลายภาคส่วน รวมถึง การเข้าแทรกแซงหน่วยงานสำคัญที่มีภารกิจการปกป้อง คุ้มครอง สิทธิประโยชน์ของประชาชนด้วย

 

"นางสาวเจนจิรา รัตนเพียร" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

 

"โฆษกพรรค" กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการปกป้อง คุ้มครองผู้บริโภค จากการที่มีข่าว ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่กำลังดำเนินการกับคดี ดิไอคอนฯ แต่ก็มีประชาชนร้องเรียนในคดีทำนองเดียวกันขึ้นอีก ทำให้เห็นว่า รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาทั้งจากระบบโครงสร้าง และการบริหารจัดการขององค์กร ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทันบริบททางสังคม เศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้"คดีดิไอคอนกรุ๊ป"จบแล้วค่อยถอดบทเรียน แต่ควรจะเริ่มเสนอแผนการปฏิรูประบบร้องทุกข์ผู้บริโภค ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การคุ้มครองพี่น้องประชาชน ให้เท่าทันในทุกท่วงท่าให้มากขึ้นกว่านี้ ถึงแม้ว่าอาจมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงกฎหมายอย่างเร่งด่วน ก็ต้องรีบทำรีบดำเนินการ เพื่อเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นพี่น้องประชาชนให้กลับคืนมาโดยเร็ว 

ในฐานะโฆษก ซึ่งถือเป็นผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ จะได้นำเรื่องนี้ เข้าสู่ที่ประชุม สส. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง แต่ต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย สร้างผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจต่อไป