svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กางไทม์ไลน์ลีลา "ปปง." กว่าจะยึดทรัพย์ "สุรเชชษฐ์" ไฉนคล้ายพรายกระซิบ

กางไทม์ไลน์ลีลา"ปปง." กว่าจะยึดทรัพย์"สุรเชชษฐ์" ได้ เเละไฉนคล้าย" บิ๊กโจ๊ก" มีพรายกระซิบ....ให้ขยับจังหวะชิ่ง!?! โดย "กระบี่เดียวดาย"

24 ตุลาคม 2567  กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เผยแพร่เอกสาร การประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 10/2567 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2567 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสั่งยึดทรัพย์ "พลตำรวจเอกสุรเชชษฐ์ หักพาล" และ "นางศิรินัดดา หักพาล" ภรรยามูลค่ารวม 4.8 แสนบาท หลังตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์เพื่อนำไปชำระเบี้ยประกันชีวิต


"เนชั่นทีวี" พบสิ่งผิดปกติบางอย่างในห้วงไทม์ไลน์การทำงานของปปง.เเละการขอความเป็นธรรมของ"บิ๊กโจ๊ก"ในเคสอายัด/ยึดทรัพย์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตของ"บิ๊กโจ๊ก"เเละภรรยาเพราะห้วงเวลานั้นสอดรับเเบบบังเอิญยิ่ง...

การขยับครั้งนี้ของ"ปปง." เเม้อาจล่าช้าไปบ้างจนเกิดช่องว่างที่ทำให้ผู้ถูกอายัดทรัพย์ใช้เพื่อประโยชน์ตัวเองในชั้นต้น เเต่ก็ไม่อาจเลี่ยงกฎหมายเเละกฎเเห่งกรรมได้ เพราะการเสนอต่อศาลให้มีคำสั่งยึดทรัพย์บิ๊กโจ๊กเเละภรรยาในคราวนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการชี้มูลความผิดของมหากาพย์สีกากีฉบับนี้อีกหลายคดีเเละน่าจะเป็นเครื่องยืนยันชั้นต้นเเล้วว่าใครผิด/ใครถูก
จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิพากษา

เพราะเงิน 4.8 เเสนบาทของ "บิ๊กโจ๊ก" เเละภรรยาที่เหลืออยู่นั้น เเละน่าจะส่งฟ้องศาลให้ยึดทรัพย์ เกิดขึ้นหลังจาก "บิ๊กโจ๊ก" เเละภรรยาเวนคืนกรมธรรม์ประกันขีวิตวงเงิน 10 ล้านบาทเเล้วนำเงินข้างต้นไปฝากธนาคารไว้นั้นนับเป็นความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเงินจำนวนนี้ศาลจะสั่งยึดเป็นทรัพย์ของเเผ่นดินเเละมีความผิดทางอาญา( 28 ประเภทความผิดกฎหมายฟอกเงิน ) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือ ถึงหนึ่งล้านบาท 

เเละกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวสอดรับกับสำนวน "บก.ปปป".ที่เจาะข้อมูลในคอมพิวเตอร์เเละโทรศัพท์มือถือของ "พันตำรวจโทคริษฐ์ ปริยะเกตุ" ลูกน้องของ"บิ๊กโจ๊ก"โดยพบว่า ลูกน้องบิ๊กโจ๊กไปประสานกับบุคลากรบางคนในสำนักงานปปช.โดยร่วมกันตกเเต่งบัญชีทรัพย์สินเเละหนี้สินของ"บิ๊กโจ๊ก" เเละ "นางศิรินัดดา" หลายรายการ

 

 "พลตำรวจเอกสุรเชชษฐ์ หักพาล" อดีตรองผบ.ตร.

เพราะ "บก.ปปป." พบร่างเอกสารของบิ๊กโจ๊กที่จะใช้ชี้เเจงกับปปช. โดยบิ๊กโจ๊กอ้างในกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตว่า"นายบัญชา พานิชพงศ์" บิดาของภรรยาระบุให้ "บิ๊กโจ๊ก" เเละภรรยาไปทำประกันชีวิตโดยอ้างว่านายบัญชาจะชำระเงินให้"

"บก.ปปป."พบข้อมูลอีกว่ากรณีข้างต้นนั้นเเท้จริงเเล้วบิ๊กโจ๊กถอนเงินของตัวเองเเละมอบให้พันตำรวจโทคริษฐ์ไปชำระเบี้ยประกันภัยโดยลูกน้องบิ๊กโจ๊กนำเงินเข้าบัญชีม้าก่อนเเล้วจึงชำระเบี้ยประกันชีวิต?!?!

กางไทม์ไลน์ลีลา \"ปปง.\" กว่าจะยึดทรัพย์ \"สุรเชชษฐ์\" ไฉนคล้ายพรายกระซิบ

ข้อมูลนี้ย้อนเเย้งกันอย่างยิ่ง..ระหว่างความจริงที่ "บก.ปปป."ค้นพบกับสิ่งที่ "บิ๊กโจ๊ก" ปฏิบัติเเละชี้เเจงกับสังคมช่วงที่ผ่านมา!?!?


เเละอีกหนึ่งประเด็นที่ควรตรองลึกๆว่า ทำไม..การยึดทรัพย์ของปปง.ในกรณีนี้ มีการใช้เวลาเพื่อยึดและอายัดทรัพย์ของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์นานกว่า 1 ปี (หากเทียบกับคดีอื่นๆ)เเละห้วงเวลานั้นบิ๊กโจ๊กใช้จังหวะใดร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับ ปปง.เเละปกป้องสิทธิของตนอย่างไร...


"เนชั่นทีวี" เเกะรอยจากไทม์ไลน์ระหว่างปปง.-บิ๊กโจ๊กได้ดังนี้

 3 สิงหาคม 2566  ปปง. ได้รับรายงานจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ รายการดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงินนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์กับพวก (คดีเว็บพนันมินนี่)

18 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 10/2566 มีมติมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด

9 มกราคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ยึด-อายัดทรัพย์สินนายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก รวม 255 รายการ (ย.2/2567)


12 มีนาคม 2567 การประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 3/2567 มีมติส่งเรื่องที่พิจารณาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ไปยังอัยการเพื่อฟ้องยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน(อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 51/2567
)

10 เมษายน 2567 ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 4/2567 มีมติเพื่อยึดอายัดทรัพย์นายณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ กับพวก เพิ่ม 4 รายการ 

เเละวันเดียวกัน พนักงานสืบสวนได้เสนอเรื่องเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมยึด-อายัดทรัพย์สิน (กรมธรรม์ประกันภัย)ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์และภรรยา 


“เนื่องจากมีเส้นทางการเงินการโอนจากบัญชี นายครรชิต สองสมาน, นางสาวเบญจมิน แสงจันทร์ และนายพุฒิพงษ์ พูนศรี (บัญชีม้าผู้ต้องหาคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ ซึ่งพ.ต.ท. คริษฐ์ นำมาใช้) เเต่...ไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม  (เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ปปง. แจ้งว่าให้เสนอวาระนี้เข้าที่ประชุมในเดือนพฤษภาคม2567)”

23 เมษายน 2567 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ปปง.เพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้มีการสอบถามข้อมูลกับตนก่อนจะมีคำสั่งใดๆ (สังเกตห้วงเวลาที่บิ๊กโจ๊กขยับในจังหวะนี้)เพราะพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุว่า “ตนเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน และขอโอกาสชี้แจง” เเละพบว่า สำนักเลขานุการ ปปง. ลงรับเรื่องไว้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เลขรับ 4614 เวลา 14.31 น.

24 เมษายน 2567 มีรายงานว่า "พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และภรรยา" ได้ทำการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกฉบับจากบริษัทประกันภัย ยอดเงินเวนคืนประมาณ 10 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีส่วนตัว 


ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ประชุมครั้งที่ 5 มีการนำเรื่องการยึดทรัพย์กรมธรรม์ประกันชีวิต "พล.ต.อ. สุรเชษฐ์" และภรรยามาพิจารณาเเละนำเรื่องที่ "พล.ต.อ. สุรเชษฐ์" ร้องขอความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 มาพิจารณาประกอบ  โดยที่ประชุมจึงมีมติให้ตรวจสอบเพิ่มเติม


กลางเดือนพฤษภาคม 2567 การประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. ตรวจสอบเพิ่มเติมเห็นว่า"หนังสือร้องเรียนของบิ๊กโจ๊กไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของ ปปง."  เพราะมีพยานหลักฐานว่า"เงินที่จ่ายเบี้ยประกันชีวิตโอนมาจากบัญชีม้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ และบัญชีโอนแถวแรก ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดไว้แล้วด้วย" จึงเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเป็นวาระการประชุมในครั้งที่ 7 (เดือนมิถุนายน) โดยเลขาธิการ ปปง. (นายเทพสุ บวรโชติดารา)มีบันทึกแจ้งให้นำรายการประชุมครั้งที่ 5 ประกอบ 


27 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า"บิ๊กโจ๊กดำเนินการโอนเงินจากการเวนกรมธรรม์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 เข้าบัญชีใหม่"

11 มิถุนายน 2567 ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 7/2567 มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 5

ปลายเดือนมิถุนายน 2567  มีการประชุมวาระพิเศษ พนักงานสืบสวน ปปง. นำรายงานการประชุมครั้งที่ 5 ที่ผ่านการรับรองมาประกอบรายงานการอายัดทรัพย์สินของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และภรรยา เพื่อประมวลเสนออายัดทรัพย์ฯ ไปยังเลขาธิการ ปปง. เพื่อกำหนดเข้าวาระการประชุมครั้งที่ 9 (9 กรกฎาคม 2567)

8 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ "ร้องขอความเป็นธรรม" ถึงเลขาธิการ ปปง. เรื่อง "โปรดรับพยานหลักฐานไว้ประกอบการพิจารณา"เเละระบุว่า “หากมีการอายัดทรัพย์จะทำให้ตนเสียหาย ไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. เเเละเงินที่จ่ายค่ากรมธรรม์นั้นตนให้ "เงินสด" กับ "พ.ต.ท. คริษฐ์" เเต่ไม่ทราบว่าทำไมการจ่ายเงินค่ากรมธรรม์จึงเข้าไปเกี่ยวกับเว็บพนัน ?!?”(ตรงนี้ย้อนเเย้งกับร่างเอกสารที่บก.ปปป.ค้นพบเพราะ"บิ๊กโจ๊ก"จะอ้างกับป.ป.ช.ว่าบิดาของภรรยาจะจ่ายเงินค่าประกันชีวิตให้)  โดยสำนักงาน ปปง. รับเรื่องเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.21 น. เลขรับ 20828 เลขาธิการ ปปง. รับไว้ในวันเดียวกัน เวลา 11.27 น.


9 กรกฎาคม 2567  ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 9/2567 ที่ประชุมมีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบเพิ่มเติม"เพื่อให้ความเป็นธรรม" โดยให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน

11 กรกฎาคม 2567 ปปง. มีหนังสือถึง "พล.ต.อ. สุรเชษฐ์" ให้ส่งเอกสารตามที่อ้างภายใน 15 วัน

จุดนี้น่าคิดว่า "บิ๊กโจ๊ก" อาจอาศัยห้วงเวลา/ช่องว่างของกฎหมายที่ยื่นขอความเป็นธรรมกับปปง.หรือไม่ในการขอเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าวทั้งๆที่ยังไม่มีข้อยุติ!?!" เเละทำไมบิ๊กโจ๊ก“เร่งจังหวะในยามนั้น"หรือ"มีพรายกระซิบมาเเจ้ง"บิ๊กโจ๊ก" ให้"ใช้ห้วงเวลาที่เปรียบเสมือนสูญญากาศในการปกป้องสิทธิเเละทรัพย์สินของตนก่อนที่ปปง.จะอายัดเเละยึดทรัพย์เเละเป็นสารตั้งต้นที่อาจมีผลกับคดีอื่นๆประกบ!?!?”เเละอีกมุมที่น่าคิดคือทำไมมีการขยายเวลาตามหนังสือร้องเรียนบิ๊กโจ๊กบ่อยครั้ง..

 6 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม มีมติเอกฉันท์ว่า "มีข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีการนำเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน(คดีเว็บพนันออนไลน์)ไปชำระเบี้ยประกันบางส่วนตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตของ"พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์" และภรรยา และต่อมาผู้เอาประกันได้เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต ดังนั้น จึงถือได้ว่าเงินที่ได้จากการเวนคืนกรมธรรม์ดังกล่าวบางส่วนนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด


"จึงให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ พล.ต.อ. สุรเชชษฐ์ และภรรยารวม 3 รายการ มูลค่าประมาณ 4.8 แสนบาท ไว้เป็นการชั่วคราวทั้งนี้ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542"

17 ตุลาคม 2567  มีรายงานข่าวสะพัดว่า ที่ประชุมปปง.มีมติ ให้ยึดทรัพย์ "บิ๊กโจ๊ก" โดยมีรายงานข่าวว่าปปง.ได้ขออัยการฟ้องศาล พิจารณายึดทรัพย์แล้ว