17 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 297 เสียง ต่อ 164 เสียง รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐบาลจะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 32 คน เพื่อปรับแก้ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยพรรคก้าวไกล ได้เสนอนายวีระ ธีระภัทรานนท์ สื่อมวลชน ให้มาร่วมทำหน้าที่กรรมาธิการฯ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2567 ฉบับนี้ คู่ขนานกับกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ด้วย
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.ประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567
ทั้งนี้ "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีการกกล่าวหารัฐบาลเทงบประมาณหมดหน้าตัก เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงโครงการเรือโครงการหนึ่ง ที่ใช้งบประมาณเฉพาะปี 2567 และ 2568 รวม 500,000 ล้านบาทจากทั้งหมดกว่า 7,000,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และยังมีกลไกอื่น ๆ ให้รัฐบาล สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ พร้อมย้ำว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้สร้างความเสี่ยงทางการคลังของประเทศ แต่สามารถแก้ไขปัญหา และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ดังนั้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นเพียง 1 ในกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ใช่โครงการเดียวของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงมติ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันแถลงเหตุผลของฝ่ายค้าน ที่ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่า แม้เศรษฐกิจจะมีปัญหา แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารโลก ก็ประเมินแล้วว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่คุ้มเสีย และยังสุ่มเสี่ยงผิดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น จนกลายเป็นภาระของประชาชน
ขณะที่ ท่าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ประสานเสียง พร้อมรับหลักการร่างงบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้ตามที่รัฐบาล จะนำไปดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจาก ถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ก็มีข้อสังเกตให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปรับแก้วิธีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้สะดวกต่อประชาชน ร้านค้า และกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงสิทธิ
"เห็นด้วยว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี และทั่วโลกใช้กัน แต่ก็มีข้อสังเกตให้รัฐบาลได้รับฟัง และปรับใช้ในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งประชาชนที่จะรับสิทธิ และร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่ตกหล่น และต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้, การลดความยุ่งยากในการลงทะเบียนของร้านค้าขนาดเล็ก หรือแผงลอย และกรณีการที่ไม่สามารถถอนเงินออกได้ในทันที ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงกรณีที่ร้านค้า ไม่ร่วมโครงการ เพราะไม่อยากเสียภาษี ดังนั้น รัฐบาล จึงควรมีนโยบายด้านภาษีจูงใจ เช่น การงดเว้นภาษีสำหรับร้านค้า 3-5 ปี และการกำหนดพื้นที่ใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่ควรจำกัดพื้นที่ และควรสามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ในประเทศ เพื่อสะดวกต่อประชาชนที่ทำงานในต่างจังหวัด และไม่ยุ่งยาก" ธนา กิจไพบูลย์ชัย สส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปราย
"อยากแนะนำให้รัฐบาลลองไปดูฐานข้อมูลเดิมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยทำในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฐานข้อมูลจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร รวมไปถึงโครงการคนละครึ่ง เพื่อให้เงินงบประมาณนี้ไปถึงมือประชาชนผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อจะได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 ฉบับนี้" อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปราย
ขณะที่ "นายพิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร ในนนามรัฐบาล ที่ สส.ได้ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ฉบับนี้ โดยย้ำว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับประชาชน และผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งการจัดทำร่างงบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศฉบับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ สส.ได้อภิปรายไว้ รัฐบาลพร้อมให้คณะกรรมาธิการฯ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดของร่างงบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อประชาชน