svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดปูม "นพพร ศุภพิพัฒน์" ชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า ได้ค่าชดใช้ 3 หมื่นล้าน

เปิดประวัติ "นพพร ศุภพิพัฒน์" มหาเศรษฐีหนุ่มหมื่นล้าน ที่ชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า จนได้รับเงินชดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ชื่อของนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ปรากฎเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อ หลังมีรายงานข่าวว่าศาลอังกฤษมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ให้ "นายณพ ณรงค์เดช" และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ "นายนพพร ศุภพิพัฒน์" ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูก "นายนพพร" ฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH

"นพพร ศุภพิพัฒน์" หรือ นิค มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (Wind Energy Holdings) ในแวดวงนักธุรกิจ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่  และเคยถูกจัดอันดับว่าเป็นเศรษฐีรวยหมื่นล้าน จนติดอันดับ 31 ของ 50 มหาเศรษฐีไทย เมื่อปี 2557 จากนิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ โดยเขามีทรัพย์สินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีอายุเพียง 43 ปี 

หากย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาของ นายนพพร เคยเล่าว่า เขาเรียนจบชั้น ม.3 ในประเทศไทย ก่อนที่ครอบครัวจะส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่สหรัฐอเมริกา แต่เรียนได้สองปีกว่า ก็กลับเมืองไทยนำผลสอบโทเฟลไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ  โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมใช้ชีวิตที่เมืองไทย และที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่ บินไปบินมาระหว่างสองประเทศนี้ตลอด"  

นพพร ศุภพิพัฒน์ ติดอันดับ 31 ของ 50 มหาเศรษฐีไทย เมื่อปี 2557 จากนิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์

 

นพพร ศุภพิพัฒน์ ขึ้นปกนิตยสารชั้นนำของไทย พร้อมสกู๊ปปกเรื่อง "เปิดใจมหาเศรษฐีหมื่นล้าน หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ"

เส้นทางมหาเศรษฐีของ "นพพร" เริ่มต้นตั้งแต่ตอนอายุ 21 ปี  ได้กำไรมาจากการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เกือบ 26 ล้านบาท แต่เงินเหล่านั้นก็สูญไปกับการลงทุนทำนิตยสาร ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาปี พ.ศ. 2548 นายนพพร ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก นายประเดช กิตติอิสรานนท์ อดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. และนายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ในการริเริ่มบุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานลม นำมาเปิด บริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ซัสเทนเอเบิล เอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรกของประเทศไทย ตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือก ทำให้ธุรกิจพลังงานลมของ นายนพพร เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

  • สิงหาคม 2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ประสบความสำเร็จได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก
  • กุมภาพันธ์ 2552 เขาประสบความสำเร็จจากการขายหุ้นให้ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาทได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ 

นอกจากนี้ นายนพพร ได้จัดตั้ง บริษัท รีนิวเอเบิลเอนเนอร์ยี จำกัด เพื่อขยายโครงการไฟฟ้าพลังลมไปจังหวัดอื่นและก้าวไปสู่ความเป็นบริษัทมหาชนในนาม บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด กลายเป็นเจ้าของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,088 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 50,000 ล้านบาท

ความสำเร็จของหนุ่มวัย 43 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก "คอนเนกชั่น" ของกลุ่มอดีตผู้บริหาร กฟผ.และ กฟภ. รวมถึงเครือข่ายสายการเมืองที่ยึดครองกระทรวงพลังงานมาตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เปิดปูม \"นพพร ศุภพิพัฒน์\" ชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า ได้ค่าชดใช้ 3 หมื่นล้าน

แม้จะจัดเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานจากลม ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐีหน้าใหม่ แต่ฉากชีวิตในอีกด้านหนึ่งของนายนพพร ก็ค่อนข้างลึกลับ เมื่อเขาตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีอุ้มลดหนี้ จากการจ้างวานแก๊งทวงหนี้เครือข่าย พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์  ให้ไปเจรจากับนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล มาเจรจาบีบบังคับให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 20 ล้าน ซึ่งนายนพพร ถูกออกหมายจับศาลทหารกรุงเทพฯ ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ในข้อหาฉกรรจ์ ทั้งหมิ่นเบื้องสูง, จ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด ฯลฯ  แต่เขาได้หลบหนีคดีออกนอกประเทศไป โดยขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ฝรั่งเศส

กระทั่งล่าสุดชื่อของนายนพพร มาปรากฎเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่ออีกครั้ง จากการชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า ที่เป็นข้อพิพาทกับบุคคลในตระกูลดัง กินเวลามานานกว่า 9 ปี  และได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหาย รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท