svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แนะรัฐจับมือเอกชน ตรวจโครงสร้างพื้นฐาน เขื่อน-ประปา ทั่วประเทศ

30 มีนาคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ภารกิจเร่งด่วน ตรวจสอบโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เพื่อความปลอดภัย แนะรัฐจับมือเอกชน ระบุ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หากทำตามกฎหมายเคร่งครัดจะเสียหายน้อย

30 มีนาคม 2568 ความคืบหน้าแผ่นดินไหวใหญ่ในรอบ 95 ปี กระทั่งเกิดเหตุ "ตึกถล่ม" บริเวณจุดก่อสร้างอาคารของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ล่าสุด รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนถึงขณะนี้ อาฟเตอร์ช็อกได้เกิดขึ้นไปพอสมควรแล้ว จึงสามารถวางใจได้ระดับหนึ่ง

โดยสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนถัดจากนี้คือ การระดมบุคลากร-กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างขั้นพื้นฐานทั้งหมดที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งถนน ทางด่วน ระบบราง ระบบรถไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ท่อน้ำ สนามบิน รันเวย์ ตลอดจนท่อประปาที่อาจเกิดการปนเปื้อนในน้ำได้ และที่สำคัญก็คือโครงสร้างเขื่อนทั่วประเทศว่ามีความเสียหายหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
แผฟ่นดินไหว ส่งผล "ตึกถล่ม" บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารของ สตง. แผฟ่นดินไหว ส่งผล "ตึกถล่ม" บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารของ สตง.

รศ. ดร.สายันต์ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ บุคลากรของหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อาจมีจำกัดและอาจไม่เพียงพอ จึงขอเสนอให้เชิญผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการตรวจสอบให้ครบถ้วนและรอบด้าน และหากพบความเสียหายก็ให้ปรับปรุงแก้ไข โดยในสถานการณ์นี้ บทบาทของภาครัฐควรมีหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคเอกชน มากกว่าการลงไปดำเนินการเองทั้งหมด

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีอยู่หลายระดับ ทั้งในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ระดับปานกลาง และระดับที่รุนแรง หากตรวจสอบพบว่ามีความเสียหายเล็กน้อยก็ควรจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แล้วค่อยๆ ทยอยซ่อมแซมไป แต่หากความเสียหายอยู่ระดับปานกลางถึงรุนแรงก็ควรที่จะระงับการเข้าใช้พื้นที่ชั่วคราว จนกว่าการปรับปรุงจะเสร็จสมบูรณ์ และภาครัฐก็ควรจะมีการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นระยะ เพื่อไม่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป
รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี 

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า บทเรียนจากการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการระยะยาวในการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้รับทราบ ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว เช่น ควรจะต้องมองหาที่หลบภัยแบบไหน ควรหมอบอยู่ใต้โต๊ะก่อนหรือไม่ เพื่อป้องกันของแข็งหล่นทับร่างกาย เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว หากโครงสร้างของตึกไม่มีความแข็งแรงและแผ่นดินไหวมีระดับที่รุนแรง ถึงอย่างไรก็คงจะหนีไม่ทัน ในบางกรณีการพยายามหลบหนีอาจทำให้บาดเจ็บหรือสุ่มเสี่ยงมากกว่าการอยู่กับที่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ซึ่งมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและมีการปรับปรุงกฎหมายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีการกำหนดโซนพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวทั่วประเทศส่งผลให้อาคารที่มีการก่อสร้างหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา ต้องปฏิบัติตาม

หากผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ผู้ออกแบบปฏิบัติตามข้อกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้เกิดความเสียหายน้อย หรือไม่ได้เกิดความเสียหายที่รุนแรง ซึ่งนับเป็นความโชคดีโดยในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว อาคารส่วนใหญ่ยังคงมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะไม่ถล่มลงมาในทันที โดยอาจมีความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถตรวจสอบ ประเมินความแข็งแรงและพิจารณาซ่อมแซมหรือเสริมกำลังให้โครงสร้างกลับมาใช้งานได้ตามเดิม

เมื่อถามถึงกรณีที่อาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม รศ. ดร.สายันต์ กล่าวว่า คงยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าเพราะอะไร สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ อาทิ ข้อผิดพลาดในการออกแบบโครงสร้าง แต่ผู้ออกแบบอาคารใหม่ๆ จะต้องพิจารณารับมือผลกระทบของแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ถ้าไม่พิจารณาเรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย

ส่วนอีกประเด็นคือความไม่สมบูรณ์ของกระบวนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงต้องรอคอยการพิสูจน์ จึงยังไม่อยากให้ประชาชนหรือสังคมด่วนตัดสินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
แนะรัฐจับมือเอกชน ตรวจโครงสร้างพื้นฐาน เขื่อน-ประปา ทั่วประเทศ แนะรัฐจับมือเอกชน ตรวจโครงสร้างพื้นฐาน เขื่อน-ประปา ทั่วประเทศ
 

logoline
News Hub