svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

8 ธนาคาร ออกมาตรการช่วยเหลือแผ่นดินไหว ตรวจสอบข้อมูล - ติดต่อ

30 มีนาคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

เช็ก 8 ธนาคาร ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว พักหนี้ ลดเงินงวด ลดดอกเบี้ย ประนอมหนี้ สินเชื่อฉุกเฉิน ตรวจสอบข้อมูล - ช่องทางการติดต่อที่นี่

30 มีนาคม 2568 จากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศพม่า ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคกลางของไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร ได้รับแรงสั่นสะเทือนและพบความเสียหายหลายพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดเหตุความเสียหายหลายจุด โดยมีเหตุใหญ่ตึก สตง.ถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

 

อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ล่าสุด นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  สถาบันการเงินรัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว

 

รายชื่อ 8 ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ออกมาตรการช่วยเหลือ มีที่ไหนบ้าง และข้อมูลการติดต่อ

 

1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม-สร้าง และจ่ายสินไหม รายละเอียดมีดังนี้

 

1)สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป

2)สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด

 

3)สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

 

4)สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

 

5)สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

6)สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

 

7)พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

 

ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับสินเชื่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2568 ” ในมาตรการที่ 1-4 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

 

และมาตรการที่ 5 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม – แต่ง สามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ G H Bank Call Centerโทร.0-2645-9000 Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ Application : GHB ALL GEN หรือ www.ghbank.co.th

 

2.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ออกมาตรการ พักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 12 เดือน และเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดมีดังนี้

 

1)มาตรการ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย

สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้

 

2)มาตรการ เติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท) อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน

 

ผู้ประกอบการ SME สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่งทั่วประเทศ LINE Official Account : SME Development Bank เว็บไซต์ www.smebank.co.th และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่Call Center 1357

 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการ พักชำระค่าธรรมเนียม 6 เดือนสำหรับลูกค้า และพักชำระค่างวดจ่ายหนี้ 3 งวดสำหรับลูกหนี้ รายละเอียดมีดังนี้

 

1)มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 30 เมษายน 2568

 

2)มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. พักชำระค่างวด 3 งวด สำหรับลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชย) ที่อยู่ในระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถยื่นคำขอพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม-30 เมษายน 2568 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่

 

ช่องทาง LINE OA TCG First: @tcgfirst หรือ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999

 

4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกมาตรการเติมสภาพคล่อง-ผ่อนปรนดอกเบี้ย-พักหนี้ รายละเอียด ดังนี้

 

1)มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ได้แก่ ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี

 

2)มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ได้แก่ ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.5% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

โดยช่องทางเข้าร่วมมาตรการ ลงทะเบียนผ่าน www.exim.go.th และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 และ Facebook “EXIM Bank of Thailand”

 

5.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสินเชื่อฉุกเฉิน-ฟื้นฟู วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้

 

1)โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.725%)

 

2)โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 2 % ต่อปี

 

สำหรับช่องทางขอรับสินเชื่อ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง 30 กันยายน 2568 ที่ ธ.ก.ส. ใกล้บ้านท่านทุกสาขาทั่วประเทศ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่าน Call Center 02 555 0555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

6. ธนาคารออมสิน

 

1)มาตรการแบ่งเบาภาระลูกหนี้ปัจจุบัน สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อ SMEs โดยพักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน

 

2)มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

  • สินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้สูงสุด 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • สินเชื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 สูงสุดเป็นระยะเวลา 3 เดือน

 

7. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

 

1)มาตรการไอแบงก์ไม่ทิ้งกัน

ลูกค้าเดิม : พักชำระเงินต้นและกำไรสูงสุด 6 เดือน

ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ : สามารถขอสินเชื่อ เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตรากำไรต่ำสุดร้อยละ 1.99 ในปีแรก และระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 20 ปี

 

8. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

1)มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน ลดค่างวดร้อยละ 75 ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียงร้อยละ 25) เป็นระยะเวลา 1 ปี  โดยลูกหนี้บ้านและ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ ลูกหนี้บุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

 

2)มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ ซ่อมบ้าน/กู้ ฟื้นฟูกิจการ

  • ลูกค้าบ้าน และ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 33 เดือน และ 2) ลูกค้าบุคคล คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี

 

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารของรัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด  ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิที่กำหนด” นายอนุกูล ระบุ

logoline
News Hub