svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

DSI ลุยค้นระบบหลังบ้าน "ดิไอคอน" หลักฐานสำคัญในการเอาผิดบรรดาบอส

DSI ลุยค้นระบบหลังบ้าน "ดิไอคอน" ทั้งใน กทม. เเละปทุมธานี ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดบรรดาบอส พบมีการขนย้าย ทำลายข้อมูลบางส่วน

17 ตุลาคม 2567 หลังจากที่ตำรวจอายัดทรัพย์สินรถหรูกว่า 100 ล้าน รวมถึงดีเอสไอ อายัดที่ดินของ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ในพื้นที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ล่าสุดวันนี้ ดีไอลงพื้นที่หาพยานหลักฐาน การกระทำความผิดของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป เพิ่มเติม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปทุมธานี
DSI ลุยค้นระบบหลังบ้าน \"ดิไอคอน\" หลักฐานสำคัญในการเอาผิดบรรดาบอส
 

พันตำรวจตรี วรณัน  ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ เพื่อตรวจค้นเป้าหมายจุดเเรก ที่อาคารเเห่งหนึ่งย่านรามอินทรา พบว่า เป็นพื้นที่เช่าเก็บข้อมูล ระบบคลาวด์ ของดิไอคอน พร้อมกับเร่งแบล็คอัพข้อมูลไว้ ก่อนที่จะถูกลบทำลาย เพราะมีข้อมูลเป็นปริมาณมาก เเละเพื่อเห็นในเรื่องกิจกรรมของเเม่ข่าย

มั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในสืบสวน ขยายผลหาทรัพย์สินเพิ่มเติม ส่วนทรัพย์ที่ยังคงซุกไว้ ก็จะดูไปคู่ขนานกัน เน้นการตรวจสอบบัญชีว่า การประกอบธุรกิจมีลักษณะที่ส่อไปในทางที่ไม่ปกติอย่างไร โดยได้รับความร่วมมือจากนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีความเชียวชาญการเก็บข้อมูลดิจิตอล
พันตำรวจตรี วรณัน  ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
 

พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนอีกจุดเป็นบ้านของเป้าหมายสำคัญคนหนึ่ง ที่ได้รับข้อมูลว่า เป็นโปรเเกรมเมอร์ ส่วนข้อมูลเรื่องของเทวดาที่ปกปักในดีเอสไอ คอยช่วยเหลือ ต้องยืนยันว่าไม่มี ถ้าเทวดาที่หมายถึงสิ่งศักสิทธ์ เราไม่สามารถเข้าถึงได้ เเต่ถ้าที่เป็นกระเเสสังคมกรณีที่ว่า ถ้าดีเอสไอทำคดีนี้ จะมีคนเข้ามาดูเเลเป็นพิเศษ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีอย่างเเน่นอน ดีเอสไอทำงานเป็นคณะ ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรเเอบเเผง 
พันตำรวจตรี วรณัน  ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ

พบ "ดิไอคอน" มีการทำลายหลักฐานบางส่วน

ขณะที่ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าตรวจค้น พยานหลักฐานการกระทำความผิด ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด จุดที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่หนึ่งในผู้บริหาร ใช้เก็บข้อมูลลูกค้าต่างๆ ชื่อว่า บริษัทเซิร์ฟริช จำกัด ใน ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี  จ.ปทุมธานี

ร้อยตำรวจเอกวิษณุ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการแจ้งเบาะแส เกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป ทราบว่า ระบบหลังบ้านที่จะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง การกระทำผิดในเรื่องนี้ โดยมีโปรแกรมเมอร์คือนายจิระวัฒน์ แสงภักดี (บอสแลป) ที่ถูกหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้วเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) ซึ่งข้อมูลที่ต้องการคือ เซิร์ฟเวอร์ที่เป็นระบบหลังบ้าน และโปรแกรมต่างๆ จึงขออำนาจศาลเข้าตรวจค้น

โดยสถานที่แห่งนี้พบว่า มี 4 ชั้น โดยใช้ชั้น 2 และ 3 เป็นที่ทำงานของโปรแกรมเมอร์และทีมงาน ที่เป็นหลังบ้านของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลเหล่านี้กับอาคารสำนักงาน เดอะคลาวด์ ซึ่งเป็นจุดแรกที่เข้าตรวจค้น บริษัทแห่งนี้ได้เก็บข้อมูลสำคัญทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับหลังบ้านเอาไว้ เช่น แผนการตลาด การเทรด ซึ่งต้องนำหลักฐานที่ได้ไปพิสูจน์กับนิติวิทยาศาสตร์อีกครั้ง 

ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ยังเปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ข้อมูลบางส่วนถูกขนย้ายออกไป แต่ยังมีข้อมูลบางส่วนที่ยังไม่ได้ย้าย คือ เซิร์ฟเวอร์ , ฮาร์ดดิสก์พกพาไว้สำรองข้อมูล (External Harddisk) โดยจะให้ทางนิติวิทยาศาสตร์ ถอดข้อมูลออกมาตรวจสอบอีกครั้งว่า ข้างในมีอะไรบ้าง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขนย้ายข้อมูลออกไป จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ถึงตัวผู้ต้องหาหรือไม่ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ระบุว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำคดีแชร์ลูกโซ่ เช่น คดีฟอเร็กซ์ 3D ,คดีคอนเซปซีรีย์ คีย์แมนสำคัญที่จะจัดการระบบหลังบ้านคือโปรแกรมเมอร์ หลังจากได้เบาะแสจากผู้ที่ทำงานอยู่ในบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป แม้เจ้าตัวที่ดูแลระบบจะถูกจับกุมตัวดำเนินคดีแล้ว แต่ยังมีพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์ โดยจะดึงข้อมูลนี้ออกมา เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังหลงเหลือข้อมูลที่ถูกนำออกไป ซึ่งทราบจากพยานแวดล้อมคือ ตึกที่อยู่ข้างๆ ให้ข้อมูลว่า มีรถตู้รุ่นอัลพาร์ดมานำข้อมูลออกไป ตั้งแต่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากตัวของนายจิระวัฒน์ (บอสแลป) แล้ว ยังมีพนักงานที่ร่วมงานอยู่ด้วย เนื่องจากชั้นสามของอาคาร มีโต๊ะทำงานอยู่หลายโต๊ะ ซึ่งแต่ละโต๊ะจะมีการติดโค้ดส่วนตัวของแต่ละคน หลังจากนี้จะมีการถอดรหัสโค้ดดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงลักษณะการทำงาน ของโปรแกรมเมอร์ที่ปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ยังพบว่า ลักษณะการทำงานของโปรแกรมเมอร์บริษัทดิไอคอน มีการเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี 2561- 2563 การเปลี่ยนวิธีการนี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ตามที่โปรแกรมได้เขียนระบุไว้ โดยจะต้องพิสูจน์ทราบจากข้อเท็จจริงส่วนนี้ให้ได้ เพื่อจะให้เห็นว่ารายชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ในบริษัทมีใครบ้าง โดยจะต้องดึงข้อมูลจากส่วนนี้ออกมาให้ได้ก่อน และข้อเท็จจริงเหล่านี้จะมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป 

เมื่อถามว่า ดีเอสไอจะไปร่วมสอบปากคำนายจิระวัฒน์ (บอสแลป) ที่ บช.ก.ด้วยหรือไม่นั้น เพราะอาจจะมีบางข้อมูลที่ดีเอสไอมีความชำนาญด้านอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าตำรวจ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอการประสานร้องขอจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังดีเอสไอก่อน เพราะไม่รู้ว่า นายจิรวัฒน์ให้การว่าอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลส่วนนี้จะมีการบูรณาการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว 

ทั้งนี้จะเน้นการตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้มาว่า จะถูกถ่ายโอนไปในส่วนไหน โดยจะตรวจสอบร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ ส่วนดีเอสไอจะอยู่ในการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง ที่จะเป็นประโยชน์หรือมีพฤติกรรมสงสัยเข้าข่ายความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ หรือไม่ หากเข้าข่ายก็จะเป็นแชร์ลูกโซ่และการฟอกเงิน ระหว่างนี้การสอบสวนเป็นหน้าที่ของตำรวจเป็นหลัก ซึ่งดีเอสไอจะส่งเสริมข้อมูล หากข้อเท็จจริงเข้าข่ายข้อกฎหมายส่วนไหน ดีเอสไอจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนกรณีที่ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมา เปิดเผยข้อมูลว่า หากดีเอสไอเข้ามาทำคดีนี้ จะมีบุคคลคนหนึ่งในดีเอสไอเข้ามาช่วยดูแลคดี เพื่อให้รับผิดทางกฎหมายน้อยลงนั้น ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ยืนยันว่า ปีที่ปรากฏเป็นข่าวคือปี 2563 ตอนนั้นตนเป็นผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกองคดีแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว

ตนก็อยากรู้ว่า บุคคลในดีเอสไอที่ถูกพาดพิงคือใคร ซึ่งได้พยายามพูดคุยกับสายลับแต่ ก็ไม่รู้ว่าเป็นใครเช่นกัน เพียงแต่บอกว่าได้ยินมา แต่เมื่อมีคนพูดถึงเราก็ต้องตระหนัก และหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเป็นใคร มีตัวบุคคลตัวละครนั้นจริงหรือไม่ เพราะไม่อยากให้องค์กรได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อมั่น
 ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ