2 กรกฎาคม 2567 จากกรณีคนร้ายก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนเหตุ “คาร์บอมบ์” บริเวณริมถนนหน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามรถยนต์และอาคารใกล้เคียงได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
เปิด 2 เงื่อนไขจุดชนวน “คาร์บอมบ์” บันนังสตา
มีความพยายามตรวจสอบสาเหตุของการวางระเบิด “คาร์บอมบ์” ครั้งใหญ่ที่หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยละา เพราะถือเป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ เป็น “คาร์บอมบ์” ลูกแรกของปี 67 โดยที่สถานการณ์ในภาพใหญ่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ชัดเจน
ภาพรวมไฟใต้ขณะนี้อยู่ในภาวะ “นิ่งรอดูทิศทาง” เพราะ
คำถามจึงดังระงมว่า “เกิดอะไรขึ้น”
คาร์บอมบ์ บันนังสตา
ข้อมูลจาก “หน่วยข่าวความมั่นคง” วิเคราะห์ว่า ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่อาจเป็นเงื่อนไขในพื้นที่ได้ 2 เหตุการณ์ ซึ่งอาจนำมาสู่การสร้างสถานการณ์ขนาดใหญ่
เหตุการณ์แรก คือการลอบยิง นายรอนิง ดอเลาะ เสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
หลังเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่ระบุสถานะของนายรอนิงว่า เป็น “ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย” ทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอยะรัง
แต่ในเวลาต่อมา มีการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แท้ที่จริงแล้ว นายรอนิง คือ ผู้ประสานงาน “กลุ่มด้วยใจ” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมชื่อดังในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น ยูนิเซฟ
ขณะเดียวกัน นายรอนิง ยังเคยออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็น “เหยื่อซ้อมทรมาน” เคยถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ตั้งแต่ก่อนกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน จะมีผลบังคับใช้ จนมีคดีฟ้องร้องกับฝ่ายความมั่นคงมาแล้ว
การลอบสังหารนายรอนิง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา และมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเรื่องนี้ พร้อมเปิดทางให้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุการลอบสังหาร
ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้รับลูกตามคำเรียกร้อง แต่กลับมีการแถลงผลตรวจอาวุธปืนที่ใช้ยิงนายรอนิง ปรากฏว่าเคยก่อคดีสำคัญมาอย่างน้อย 8 คดี เป็นคดีสังหารเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงฟันธงว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ แล้วโยนบาปให้เจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคง
เรื่องนี้แม้ กอ.รมน.ภาค 4 จะมีคำชี้แจง แต่บรรยากาศในพื้นที่ก็ยังร้อนระอุอยู่
เหตุการณ์ที่ 2 การปิดล้อมตรวจค้นบ้านต้องสงสัยในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 4 ราย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา
ปากคำจากชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างใหญ่โต มีการใช้กำลังค่อนข้างมาก สร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนที่รู้เห็นเหตุการณ์พอสมควร
ที่สำคัญ หลังจากนั้นเพียง 2 วัน คือ วันที่ 29 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม 2 จาก 4 รายเป็นอิสระ
ตรวจสอบประวัติของทั้ง 2 คน ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา คนหนึ่งอายุ 47 ปี เป็นนักกิจกรรมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านกฎหมายความมั่นคง ขณะที่อีกคนหนึ่ง อายุ 37 ปี เป็นอาสาสมัครยะลาสันติสุข
หลังได้รับการปล่อยตัว 1 ใน 2 คนให้สัมภาษณ์สื่อทันที โดยอ้างข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่จับกุมพวกตนไป โดยไม่ได้แจ้งข้อหา และเจ้าหน้าที่เองยังไม่รู้เลยว่าจับกุมไปด้วยข้อหาอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามยังมาถามตนด้วยซ้ำว่า “โดนข้อหาอะไรมา” ปฏิบัติการเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิชัดเจน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ และถัดจากนั้นเพียง 1 วัน ก็เกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” ครั้งรุนแรง หนำซ้ำยังเกิดในพิ้นที่ อำเภอบันนังสตา ที่มีการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 4 คนนั่นเอง
เบื้องต้น ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ให้น้ำหนัก 2 เหตุการณ์นี้ว่าน่าจะเป็นชนวนเหตุของ “คาร์บอมบ์”หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา โดยพุ่งเป้าไปที่การตอบโต้การควบคุมตัว 4 ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงมากกว่า
“เป็นการตอบโต้จากสมาชิกกลุ่ม หลังเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ 4 ราย” เป็นคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวชายแดนใต้
เจ้าหน้าที่รายเดิม ยังเผยด้วยว่า อำเภอบันนังสตาเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ นายอับดุลเลาะ ตาเปาะโต๊ะ หรือ “แบเราะ” อายุ 36 ปี สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ
แฉกลยุทธ์คาร์บอมบ์เร่งด่วน ได้รถปุ๊บ ติดระเบิดปั๊บ
สาเหตุที่คนร้ายสามารถปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์” โจมตีได้ถึงหน้าแฟลตข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา มี 2 เหตุผลใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
หนึ่ง เหตุผลเรื่อง “แฟลตตำรวจ” ซึ่งเป็นเป้าหมายซ้ำๆ หลายครั้งของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้การโจมตีด้วยระเบิด ซึ่งก่อนหน้านี้ “ทีมข่าว” ได้นำเสนอรายละเอียดไปแล้ว สรุปอีกครั้งได้แบบนี้
สอง มีการ “ปรับยุทธวิธี” ของกลุ่มก่อความไม่สงบ ทำให้สามารถก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ระดับ “คาร์บอมบ์” ได้ในห้วงเวลากลางวันแสกๆ
กรณีเกิดเหตุปล้นรถไปทำคาร์บอมบ์ ระยะหลังฝ่ายความมั่นคงพัฒนากระบวนการสื่อสาร แจ้งข่าวด่วนผ่านเครือข่ายวิทยุและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สามารถสกัดการก่อเหตุร้ายของผู้ก่อความไม่สงบได้หลายครั้ง
เช่น เหตุปล้นรถส่งพัสดุของบริษัทเคอร์รี่ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 คนร้ายปล้นชิงรถไปติดตั้งระเบิด แล้วนำไปจอดเตรียมจุดระเบิดเป็น “คาร์บอมบ์” ที่หน้าแฟลตตำรวจ หลัง สภ.รามัน จ.ยะลา แต่เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนกันทันควัน และติดตามรถที่ถูกปล้นได้ทัน จึงประสานเจ้าหน้าที่อีโอดี (ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด) ยิงทำลายตัดวงจรระเบิด และสามารถเก็บกู้ไว้ได้สำเร็จ
รวบ 2 ผู้ต้องสงสัยส่อเอี่ยวคาร์บอมบ์บันนังสตา
เมื่อรถยนต์คันที่ถูกนำมาทำ “คาร์บอมบ์” ลูกล่าสุด ไม่มีการแจ้งรถหาย ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบย้อนกลับไปที่ อบต.ธารโต เพื่อหาสาเหตุว่า ทำไมรถจึงถูกนำมาทำติดตั้งระเบิดเป็นคาร์บอมบ์ได้
จากการตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้เจ้าหน้าที่ีควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้แล้ว 2 ราย
คนแรก คือ นายมุสตอฟา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ช่วยช่าง งานช่างโยธา ของ อบต.ธารโต โดยสาเหตุที่ถูกจับ เพราะ นายมุสตอฟา มีท่าทีพิรุธน่าสงสัย เป็นคนนำกุญแจห้องเก็บของไปเปิดให้ทีมช่างรับเหมาต่อเติมอาคาร อบต.เข้าไปทำงาน และหยิบอุปกรณ์ต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับรถกระบะที่ถูกนำไปคาร์บอมบ์ เพราะนายมุสตอฟา เป็นคนที่ใช้รถที่ถูกนำไปบรรทุกระเบิดเป็นคนสุดท้าย
ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ พฤติการณ์ของนายมุสตอฟาน่าสงสัยหลายประการ เช่น อาจรเปิดโอกาสให้ทีมช่างที่เข้าไปต่อเติมอาคาร อบต. ซึ่งอาจมีคนร้ายแฝงตัวอยู่ ขโมยรถไปก่อเหตุ โดยที่นายมุสตอฟาอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นได้ และไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ ภรรยาของนายมุสตอฟา ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงรายสำคัญคนหนึ่งด้วย
มุสตอฟา
คนที่ 2 คือ นายมะรอปี (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปี เป็นช่างอะลูมิเนียม เป็นลูกจ้างบริษัทรับเหมา โดยข้อมูลของเจ้าหน้าที่พบว่า นายมะรอปี เป็นคนโทรศัพท์หานายมุสตอฟา เพื่อถามหากุญแจรถยนต์ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นรถที่ถูกนำไปทำคาร์บอมบ์หรือไม่ และยังไม่ชัดว่า นายมุสตอฟา ให้กุญแจรถยนต์ไปหรือไม่
ขณะที่นายมุสตอฟา อ้างว่า นายมะรอปีคือคนที่ออกจาก อบต.เป็นคนสุดท้าย จึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเบื้องต้นเช่นกัน