svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

บังกลาเทศออกหมายจับอดีตนายกฯ ชีค ฮาสินา คดีปราบผู้ประท้วงนองเลือด

ศาลบังกลาเทศออกหมายจับอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ที่หลบหนีไปอินเดียเมื่อเดือนสิงหาคม หลังเผชิญการประท้วงใหญ่ขับไล่พ้นตำแหน่ง

ศาลอาญาระหว่างประเทศของบังกลาเทศ อนุมัติหมายจับอดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ในวันพฤหัสบดี (17 ตุลาคม) ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในช่วงการประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายในปีนี้ และต้องการให้นำตัวเธอขึ้นศาลในวันที่ 18 พฤศจิกายน

การประท้วงเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมภายใต้การนำของกลุ่มนักศึกษาเพื่อต่อต้านระบบโควตาตำแหน่งงานภาครัฐ ก่อนยกระดับความรุนแรง และมีการใช้กำลังปราบปรามอย่างนองเลือด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งเป็นเหตุวุ่นวายนองเลือดที่สุดในประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2514

ความรุนแรงดังกล่าวบีบให้ฮาสินาหลบหนีไปอินเดียในวันที่ 5 สิงหาคม และมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

อัยการเสนอให้ศาลออกหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุนองเลือดรวม 50 คน ซึ่งรวมถึงนางฮาสินา โดยให้เหตุผลว่า หากฮาสินา ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากไม่ถูกจับกุม ก็ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนได้ 

บังกลาเทศออกหมายจับอดีตนายกฯ ชีค ฮาสินา คดีปราบผู้ประท้วงนองเลือด

จนถึงขณะนี้มีการยื่นฟ้องรวมกว่า 60 คดีต่อฮาสินาและแกนนำคนอื่น ๆ ของพรรคสันนิบาตอวามี ในข้อหาต่าง ๆ เช่น การบังคับบุคคลให้สูญหาย, การฆาตกรรม และการสังหารหมู่

ขณะที่ระดับผู้นำของพรรคสันนิบาตอวามียังไม่ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องหมายจับ แต่สมาชิกระดับอาวุโสหลายคนถูกจับกุมตัวแล้วหรือซ่อนตัวอยู่

แต่ก่อนหน้านี้ซาจีบ วาเซด ลูกชายของฮาสินา เผยกับสื่อเมื่อเดือนที่แล้วว่า แม่พร้อมสู้คดีในบังกลาเทศ และยืนยันว่า แม่ไม่ได้ทำอะไรผิด

ฮาสินา วัย 77 ปี ปกครองบังกลาเทศยาวนานกว่า 20 ปี ถูกมองว่าเป็นผู้นำเผด็จการ และรัฐบาลปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างไม่ปราณี

เธอไม่ปรากฏตัวอีกเลยนับจากหนีออกจากบังกลาเทศ เดิมเธอถูกคาดหมายว่าอาจพำนักในอินเดียช่วงสั้น ๆ แต่มีรายงานว่า ขอลี้ภัยไปประเทศอื่น ๆ ไม่สำเร็จ แต่การอยู่ในอินเดียนาน ก็เป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลอินเดีย เพราะชาวบังกลาเทศจำนวนมากแสดงความโกรธเคืองว่า อินเดียให้ที่พักพิงแก่ฮาสินา

รัฐบาลชั่วคราวบังกลาเทศยกเลิกหนังสือเดินทางทางการทูตของเธอแล้ว ขณะที่ทั้งสองประเทศมีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน  ที่จะทำให้สามารถส่งตัวเธอกลับไปรับการพิจารณาคดีอาญาในประเทศได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า จะไม่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หากความผิดที่ร้องขอเป็นความผิดทางการเมือง