svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรรคประชาชน" โวย "พิเชษฐ์"ชิงปิดประชุมสภาฯ ยื้อ"ร่างรายงานนิรโทษกรรม"

“ชัยธวัช” มอง ไม่มีประโยชน์ หลัง "พิเชษฐ์" ชิงปิดประชุมสภาฯ จะยื้อร่างรายงานนิรโทษกรรมทำไม  ด้าน “ปกรณ์วุฒิ” ถาม ทำเช่นนี้เพราะเสถียรภาพพรรคร่วมรบ.ง่อนแง่น หรือไม่ 

17 ตุลาคม 2567  "นายชัยธวัช ตุลาธน" ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมด้วยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล  ประธานคณะกรรมการ ประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน และคณะสส.พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจากที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม สั่งปิดประชุมในระหว่างการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่กรรมาธิการต้องการชี้แจงอยู่

 

โดย"นายชัยธวัช" กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ประธานสภาชิงปิดประชุมวันนี้ ก่อนที่จะมีการพิจารณารายงานนิรโทษกรรมให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สภาได้พิจารณาในวาระอื่น เพราะยังมีญัตติด่วน เรื่อง The Icon รอต่อจากการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และในฐานะกรรมาธิการต้องบอกว่าไม่เห็นด้วยและไม่มีเหตุผลใดๆทั้งสิ้น เพราะกรรมาธิการยังไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานกรรมาธิการก็พูดแบบภาพกว้างเท่านั้น ส่วนกรรมาธิการคนอื่นก็ ตั้งใจว่าเมื่อฟังส.สอภิปรายครบหมดแล้วก็จะชี้แจงเนื้อหาสาระที่สำคัญรวมถึงประเด็นที่สมาชิกสภาอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝั่งรัฐบาล และสุดท้ายจะมีปัญหาจนไม่สามารถพิจารณารายงานนิรโทษกรรมให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ถ้าศุกร์หน้ามีปัญหาแบบนี้อีก ก็น่าเสียดาย

"ไม่ว่ารายงานกรรมาธิการนี้จะผ่านการพิจารณา ของสภาหรือไม่เปิดสภามาในสมัยประชุมหน้าจะมี ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจ่ออยู่แล้ว 4 ฉบับ ซึ่งร่างของอดีตพรรคก้าวไกลจ่อเป็นร่างกฎหมาย อันดับที่ 6 ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นไม่ควรเตะถ่วงการพิจารณาเรื่องนี้เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองรวมถึงรัฐบาลรีบเอาข้อสรุปความเห็นที่ทางสมาชิกในสภาและสาธารณะ เสนอร่างของตนเองมาพิจารณาพร้อมกับร่างกฎหมายอื่นๆที่จอดจะเข้าสภาอยู่แล้ว ในต้นสมัยประชุมหน้าแน่นอน ทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย" นายชัยธวัชกล่าว

ด้าน "นายรังสิมันต์" กล่าวว่า ตกลงแล้วความชัดเจนของรัฐบาลต่อการนิรโทษกรรมจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องยอมรับว่าหากดูตามรายงานจะมีเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นข้อสรุป แต่เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าควรรวม มาตรา 112 หรือไม่ควรรวม และยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการ ที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย และการที่รายงานฉบับนี้ล่าช้าออกไปทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลแล้วตกลงจะเอาอย่างไร และแน่นอนว่าการปิดประชุมเป็นอำนาจของประธานสภาฯ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อำนาจนี้ก็ถูกมองได้ว่า เป็นจุดยืนของรัฐบาลหรือไม่ที่ไม่ได้ต้องการให้เรื่องนี้มีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และอยากให้สังคมตั้งคำถามดังๆ ต่อรัฐบาลว่าตกลงแล้วจะเอาอย่างไร

พรรคประชาชน แถลง ไม่เห็นด้วย กรณี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ชิงปิดประชุมขณะอภิปราย รายงานนิรโทษกรรม

โดยรายงานฉบับนี้พยายามหาจุดที่จะประนีประนอมคุยกันได้ วันนี้สิ่งที่เราอยากจะได้ความชัดเจนที่สุดคือแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการถอนฟืนออกจากกองไฟ แต่ถ้าบรรยากาศของสภาฯเป็นเช่นนี้ เราจะถอนฟืนออกจากกองไฟได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อทำให้สภาฯ เป็นที่แห่งความพูดคุยเพื่อคลายความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ และยิ่งยากมากขึ้น

ขณะที่"นายปกรณ์วุฒิ" กล่าวว่า หากติดตามการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประธานสภาฯ ได้ปิดประชุมก่อนเวลาที่วิป 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ และไม่มีครั้งไหนที่เราสามารถดำเนินการประชุมตามที่วิป 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ หากเราติดตามกันตั้งแต่สภาฯชุดที่แล้ว จะเห็นว่ามีรองประธานสภาฯ ที่เป็นมือปิด มักจะเป็นตัวแทนมาจากพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือกลัวองค์ประชุมล่ม จะทำให้ประชาชนเห็นว่าฝั่งรัฐบาลอยู่ไม่ครบองค์ประชุม และไม่สามารถประชุมต่อได้ แต่วันนี้พรรคประชาชนแสดงอย่างชัดเจนว่าเราไม่ล่มองค์ประชุมอย่างแน่นอน พร้อมที่จะโหวตไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรกับรายงานฉบับดังกล่าว เพราะถือเป็นวิถีทางประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ตีตกไป สภาฯว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

ส่วนอีกสัญญาณหนึ่งที่ส่งผ่านมาจากการปิดประชุมคือเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล โดยในวันนี้พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติก็ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะลงมติ มั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ทราบว่าวันนี้องค์ประชุมครบและไม่ล่มอย่างแน่นอน 

“การปิดประชุมหนีแบบนี้ ก็อาจจะเป็นการไม่อยากให้ทางสาธารณะได้เห็นภาพความขัดแย้ง ของพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง ที่อาจจะส่อถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เริ่มจะงัวเงียง่อนแง่น สถานการณ์แบบนี้ครั้งที่แล้ว เกิดขึ้นช่วงปลายรัฐบาล ที่พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่องและเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง ต้องปิดการประชุม เพราะองค์ประชุมล่มกันบ่อยครั้ง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

"นายปกรณ์วุฒิ" กล่าวต่อว่า การปิดประชุมในวันนี้ไม่มีประโยชน์เพราะวันที่ 24 ตุลาคม  ก็ต้องกลับมาพูดคุยกันเรื่องนี้อีกครั้ง ส่วนการที่มีสมาชิกระบุว่าให้ปิดการอภิปรายเลยนั้น ต้องเข้าใจว่าสภาฯ แต่งตั้งกมธ.ขึ้นมา เป็นตัวแทนไปพิจารณาเรื่องที่เราสนใจ และได้ผลการศึกษากลับมา การอภิปราย ของสส. ควรให้เกียรติกมธ.ที่ไปศึกษารายงานฉบับดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและขจัดความเข้าใจผิด หากจะพูดกันแค่ในสส. และไม่ให้กรรมาธิการอธิบาย ประชาชนอาจจะเข้าใจผิดในบางประเด็น 

"เท่าที่ผมฟัง สส.หลายคนก็อภิปรายโดยที่ ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริง บางท่านอภิปรายเลยไปถึงเป็นการพิจารณาการแก้ไข มาตรา 112 หรือการพิจารณาพ.ร.บ. นิรโทษกรรมโดยตรง จะจบมีผลบังคับใช้วันนี้เลย ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น ทางกรรมาธิการก็มีหลายตัวเลือก เพื่อครม. นำความเห็นนี้ไปเป็นประโยชน์ในการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในอนาคตเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งที่รุนแรงที่ผ่านมา" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว 

ส่วนที่มีการปิดประชุมบ่อยจะต้องมีการคุยนอกรอบกับพรรครัฐบาลหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุขึ้นอีก "นายปกรณ์วุฒิ" กล่าวว่า เราคุยมาตลอดแล้วเมื่อเช้าตนรับรู้ถึงสัญญาบางอย่าง ซึ่งได้พยายามเจรจาแล้ว แต่ก็เข้าใจดีว่าการเจรจานั้นอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ซึ่งต้องยอมรับกันตามตรงว่าอำนาจในการปิดประชุมเป็นของประธานสภาฯโดยแท้ แต่กระบวนการเจรจาก็สำคัญเช่นเดียวกัน แต่อยู่ที่เหตุผลที่ปิดเพราะเหตุผลอะไร ตนมองว่าประชาชนและสื่อมวลชนต้องกดดันให้สภาฯ  สามารถดำเนินวาระต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุด 

พรรคประชาชน แถลง ไม่เห็นด้วย กรณี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ชิงปิดประชุมขณะอภิปราย รายงานนิรโทษกรรม

เมื่อถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าที่จะมีการเสนอญัตติ หรือวาระอื่นแทรก เพื่อยื้อเวลาไม่ให้เกิดการ ลงมติ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นทางหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ในวาระนี้จะเป็นวาระลำดับแรกของเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว หากมีอะไรมาแทรกจะต้องเป็น รายงานของหน่วยงานต่างๆที่จะต้องรายงานต่อสภาฯ เมื่อหมดเรื่องเหล่านั้น วาระนี้ก็ต้องเป็นวาระแรก หากจะขยับก็ต้องขอเลื่อนวาระ อาจจะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาซึ่งแน่นอนว่าเราไม่เห็นด้วยเพราะเรื่องนี้จะจบแล้ว แค่ให้กมธ.ชี้แจงในประเด็นต่างๆ และลงมติกัน ก็ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้น และยืนยันว่าหากไม่ทันสมัยประชุมนี้ รายงานดังกล่าวจะไม่ตก สมัยหน้าเปิดประชุมมาก็ยังพิจารณาได้

เมื่อถามถึงว่า ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567  พรรคร่วมรัฐบาลนัดรับประทานอาหารค่ำ น่าจะคิดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวไปถกหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ  กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งกมธ.นี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีผลการศึกษาก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมาย ยิ่งยื้อไปก็ยิ่งเปล่าประโยชน์ ทำให้กมธ. ไม่มีความหมายอะไรเลย เมื่อกฎหมายเข้ามาเราก็ยังมีการผ่านการตกผลึกใดๆเลย ซึ่งนายชูศักดิ์ ก็อยู่ในครม. คิดว่าคงมีการพูดคุยกันตลอดอยู่แล้ว โดยในสัปดาห์หน้ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหาทางออกว่าความเห็นต่างในพรรคร่วมรัฐบาลจะจัดการอย่างไร

 

"พิเชษฐ์" อาศัยช่วงชลมุนสั่งปิดประชุมฯ ถกรายงานนิรโทษกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ วันนี้  ที่ประชุมได้มีการบรรจุวาระ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม   โดย "นายชูศักดิ์ ศิรินิล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวย้ำว่า การนิรโทษกรรมโดยหลักการ ไม่ใช่การยกเลิกความผิด แต่ยังคงความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่เป็นการยกเว้นการรับผิด เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องจมปลักความขัดแย้ง และในอดีตประเทศไทย เคยมีการกฎหมายการนิรโทษกรรมมาแล้วหลายครั้ง และรายงานฉบับนี้ เป็นเพียงแนวทางการตราร่างกฎหมาย ไม่ใช่การยกร่างกฎหมายในทันที แต่เป็นข้อเสนอแนะแนวทาง หากในอนาคตจะมีการตรากฎหมายขึ้นมาว่า ควรจะรวม หรือไม่รวมการกระทำใด หรือควรมีแนวทางใด หรือหากยังไม่มีข้อยุติอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง กรรมาธิการฯ ก็ได้เสนอแนวทางไว้ทุกมิติ ซึ่งแม้รายงาน จะเป็นแนวทางการศึกษา แต่กรรมาธิการฯ ก็ได้เสนอแนวทางอื่น ๆ เพื่อยุติความขัดแย้งด้วย เช่น การตราพระราชบัญญัติล้างมลทิน การอภัยโทษ การชะลอการฟ้อง การสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการตราพระราชบัญญัติอื่น ๆ 

"นายชูศักดิ์" ยังชี้แจงว่า กรรมาธิการฯ ได้แบ่งช่วงเวลานิรโทษกรรม ตามเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2548 ถึงปัจจุบัน มาเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตการนิรโทษ และการกระทำที่ควรได้รับการนิรโทษ เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น การเป็นกฏบ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีอ่อนไหวมาพิจารณาโดยเฉพาะ และรับฟังความเห็นทุกมิติ รวมถึงการหาแนวทางนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข หรือมีคณะกรรมการมากำหนด รวมถึงผสมหลากหลายแนวทาง เป็นต้น พร้อมหวังว่า สภาฯ จะรับรายงาน เพื่อนำไปพิจารณา และประกอบการยกร่างกฎหมายในอนาคตต่อไป 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น กรรมาธิการฯ ไม่มีข้อสรุป แต่สะท้อนความเห็นของกรรมาธิการ 3 แนวทาง ได้แก่ ให้มีการนิรโทษ, ให้มีการนิรโทษแบบมีเงื่อนไข และและไม่ให้มีการนิรโทษกรรม

ขณะที่ การอภิปรายของ สส.นั้น ยังมีความเห็นที่หลากหลายต่อการนิรโทษกรรม ต่อความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาทิ 

นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน เห็นว่า หากไม่มีการนิรโทษกรรมที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองทุกคดี ซึ่งรวมถึง 112 ด้วย ประชาชน ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม และประชาธิปไตยของประเทศก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไป เหมือนเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลับมาประทุอีกครั้ง เพราะประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน สนับสนุนรายงานการนิรโทษกรรมฉบับนี้ พร้อมเห็นว่า ควรมีการนิรโทษกรรม ไม่ว่าคดีหลัก คดีรอง หรือคดีอ่อนไหวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งมีแรงจูงใจ และถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง โดยย้ำว่า การนิรโทษ ม.112 ไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย 

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พร้อมเห็นว่า บางความผิดบางมาตราที่สังคมยังไม่มีฉันทามติร่วมกันตาม ม.110 และ 112 นั้น ตนเองไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในความผิดดังกล่าว เพราะถือเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ สังคมยังมีความเห็นที่หลากหลาย และยังมีเวลาหาฉันทามติร่วมกันต่อไปได้ เพื่อไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ 

นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ยืนยันจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่า พรรคฯ ต้องการให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความสามัคคี และพร้อมให้มีการนิรโทษกรรม แต่จะต้องแยกคดีการนิรโทษกรรมให้ชัดเจนว่า คดีใดนิรโทษกรรมได้ หรือนิรโทษกรรมไม่ได้ เช่น การนิรโทษคดี 112 ในปัจจุบันที่มากเกินเหตุการณ์กว่าในอดีต ซึ่งหากรายงานฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบและส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมต่อไป พรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า จะไม่เป็นมิตร และไม่ยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 และจะจงรักภักดีต่อสถาบันให้ถึงที่สุด  

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของพรรคภูมิใจไทยนั้น ไม่ปิดกั้นกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง แต่เมื่อมีการนำเรื่อง ม.112 มารวมไว้ในรายงานนิรโทษกรรมฉบับนี้ ทำให้พรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถให้ความเห็นชอบรายงานฉบับนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และพรรคภูมิใจไทย มองว่า คดีความผิดตาม ม.112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ และไม่เห็นชอบกับการให้ส่งรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นการรวมการนิรโทษ มาตรา 110 และ 112 ไว้ในรายงาน ที่ไม่มีความชัดเจนเอาไว้ด้วย พร้อมยืนยันว่า การนิรโทษกรรมสามารถทำได้ เหมือนในอดีตที่เคยทำมา แต่ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 มาก่อน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเสาหลักสำคัญของการปกครองประเทศไทย ประเทศไทยจึงไม่เคยมีการนิรโทษกรรมความผิดดังกล่าวมาก่อน และการนิรโทษกรรมในอนาคต ควรนำไปสู่การสร้างความปรองดอง ไม่นิรโทษกรรมเพื่อตัวเอง ไม่สร้างความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหม่ ไม่เป็นหัวเชื้อที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในอนาคต และต้องเป็นความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไม่รวมความผิดทุจริต คดีอาญาร้ายแรง และความผิดตามมาตรา 110 และ 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยควรนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดที่มีแรงจูงใจทั่วไป เช่น ตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ, กฎหมายจราจร หรือกฎหมายการควบคุมโรค 

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นชอบ กับรายงานฉบับนี้ เนื่องจาก รายงานดังกล่าวไม่มีความสมบูรณ์ ขาดข้อสรุปที่ชัดเจน รวมทั้งจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายงานฉบับนี้ ถือเป็นรายงานที่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการลงมติ ไม่สามารถปล่อยผ่านเหมือนรายงานฉบับอื่นๆที่ผ่านมาได้ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายหลังการอภิปรายของ สส.เสร็จสิ้น ยังคงมีกรรมาธิการฯ ต้องการชี้แจงเพิ่มเติม แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ทุกฝ่ายมีความเข้าใจของตนเองกันแล้ว แม้กรรมาธิการฯ จะขอชี้แจงอย่างไร ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ทำให้ที่ประชุมถกเถียงกันว่า จะให้กรรมาธิการชี้แจงต่อหรือไม่ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะกรรมาธิการฯ ยังคงต้องการชี้แจงเพิ่มเติม ทำให้นายพิเชษฐ์ สั่งปิดประชุมทันที