svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สรรพากร ไขปม ตั๋วP/N 4.4 พันล้าน ชี้ 'ไม่เข้าข่ายเลี่ยงภาษี'

26 มีนาคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

อธิบดีกรมสรรพากรเคลียร์ปมภาษีนายกฯ ซื้อขายหุ้น 4.4 พันล้านบาท ชี้เป็นการซื้อขายหุ้นนอกตลาด ออกตั๋ว P/N แทนสัญญากู้ มีภาระภาษีเสียตามจริงเมื่อจ่ายเงิน

จากกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีเจตนาทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษีการรับให้จากการซื้อขายหุ้นในเครือญาติ วงเงินรวม 4,434.5 ล้านบาท ซึ่งนายวิโนจน์ระบุว่านายกฯมีภาระภาษีต้องจ่ายประมาณ 218 ล้านบาทนั้น ทำให้สังคมมีความสนใจในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ ในข้อเท็จจริงเป็นการทำธุรกรรมโดยออกตั๋ว P/N จะเปรียบเสมือนสัญญาเงินกู้ระหว่าง 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ออกตั๋ว (ลูกหนี้) และผู้รับเงิน (เจ้าหนี้) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า สามารถออกได้ 2 แบบคือ ออกแบบกำหนดระยะเวลาที่จะชำระเงินชัดเจน หรือออกแบบไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการชำระเงิน ซึ่งการออกแบบที่ไม่ได้ระบุเวลาในการชำระเงินนั้นจะต้องจ่ายเงินทันทีเมื่อถูกเรียกหรือถูกทวงถาม 

ส่วนเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นประมวลกฎหมายแพ่งฯ ระบุว่า จะกำหนดหรือไม่กำหนดก็ได้ หากมีการกำหนด จะต้องระบุไว้ที่หน้าตั๋ว P/N อย่างชัดเจน

สรรพากร ไขปม ตั๋วP/N  4.4 พันล้าน ชี้ \'ไม่เข้าข่ายเลี่ยงภาษี\'

 

กรณีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดฯ ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด ถ้าผู้ซื้อได้มีการออกตั๋ว P/N เพื่อเป็นสัญญาว่าจะชำระค่าหุ้นเต็มจำนวน การเสียภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระตั๋ว P/N ด้วยเงินสด

ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า ในปีหน้า (2569) จะมีการชำระเงินกัน ผู้ขายหุ้นก็จะต้องชำระภาษี โดยถือเป็นเงินได้ของปี 2569 ซึ่งจะต้องยื่นแบบฯ ในปี 2570 ในประเภทเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gains) ผู้ขายหุ้นให้แก่นายกฯ มีเงินได้ประเภทนี้ ก็ยื่นแบบฯ และชำระภาษีตามขั้นตอนปกติ

“ธุรกรรมลักษณะนี้มีภาระภาษี โดยขึ้นอยู่กับว่าต้องชำระภาษีเมื่อไร การออกตั๋ว P/N เมื่อมีการจ่ายเงิน ก็ต้องมีการชำระภาษี” นายปิ่นสายกล่าว
 

logoline