svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผ่ากลยุทธ์ฝ่ายค้าน ซักฟอก นายกอิ๊งค์ เลี่ยงภาษี โจมตีจุดอ่อนไหว

25 มีนาคม 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ผ่ากลยุทธ์ฝ่ายค้าน ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซักฟอก "นายกอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร กล่าวหาเลี่ยงภาษี โจมตีจุดอ่อนไหว

ปัญหาการโอนหุ้นทั้ง “โอนเข้า” และ “โอนออก” ของ นายกฯแพทองธาร โดยใช้ “ตั๋ว PN” หรือ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” กลายเป็นประเด็นอภิปรายซักฟอกที่ร้อนแรงที่สุดประเด็นหนึ่งในวันแรกของฝ่ายค้าน

เพราะพุ่งเป้าถึงตัวนายกฯแพทองธารตรงๆ แม้ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่มุ่งโจมตีถึงพฤติกรรมที่กล่าวหารุนแรงว่า “เลี่ยงภาษี” 

เรื่องนี้ยิ่งกระแทกใจคนไทยจำนวนหนึ่งที่เป็น “คอการเมืองรุ่นใหญ่” เพราะในยุคอดีตนายกฯทักษิณยังเรืองอำนาจ ก็เคยโดนข้อหาเดียวกันมาแล้ว 

แม้รายละเอียดจะแตกต่างกันมากก็ตาม 

ถือว่าฝ่ายค้านหยิบจุดอ่อนของ “คนในตระกูลชินวัตร” มาโจมตีอย่างไม่เกรงใจ ที่สำคัญเรื่องแบบนี้อ่อนไหว แม้เข้าใจไม่ง่าย แต่คนฟังสัมผัสได้ เพราะมีความพยายามโยงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ส่วนคนที่ถูกกล่าวหาจะชี้แจงค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องในทางเทคนิค บางคนเรียกว่าเป็นการบริหารรายได้ บริหารภาษีอย่างหนึ่ง 

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ตั๋ว PN ถูกกฎหมาย แต่ผิดปกติหรือไม่? 

ตั๋ว PN ย่อมาจาก promissory note หมายถึง หนังสือตราสารซึ่งฝ่ายหนึ่ง คือ “ผู้ออกตั๋ว" ออกให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ “ผู้รับตั๋ว หรือ ผู้รับเงิน” โดยมีทั้งแบบกำหนดระยะเวลาชำระเงิน หรือไม่กำหนดระยะเวลาก็ได้ มีทั้งแบบมีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการกู้ย้ืมกันแบบถูกต้องตามกฎหมายรูปแบบหนึ่ง 

ฉะนั้น การออก ตั๋ว PN ในการชำระค่าหุ้น จึงไม่ผิดกฎหมาย

แต่คำถามของ สส.วิโรจน์ คือ การออกตั๋ว PN ของ นายกฯแพทองธาร ตั้งแต่ปี 59 ให้กับบุคคลในครอบครัว ซึ่งโอนหุ้นมาให้ เป็นการซื้อขายกันจริง หรือรับโอนหุ้นแบบไม่ได้ซื้อขาย เพราะหากเป็นแบบหลัง กฎหมายให้เสียภาษีส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 5

ฉะนั้น หากมีเจตนาโอนหุ้นแบบไม่ซื้อขาย ก็เท่ากับ ทำนิติกรรมอำพราง เพื่อไม่จ่ายภาษี

สส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
 

มุมมองนักลงทุน ตั๋ว PM

“เนชั่นทีวี” สอบถามไปยัง “นักลงทุนในตลาดหุ้น” ปรากฏว่าเสียงแตกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ 

กลุ่มแรก มองว่าผิดปกติ 

  • มองว่าน่าจะเป็นการให้หุ้นด้วยความเสน่หา หรือด้วยเหตุผลอื่น แต่ไม่ได้มีเจตนาซื้อขาย แต่อำพรางเป็นการให้กู้ยืมเงิน ไปซื้อหุ้นกันระหว่างญาติ เรื่องนี้ถ้าอิงตามเกณฑ์ ก.ล.ต. คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะมองว่าเป็นการไม่ได้ซื้อขายหุ้นกันจริง 

    ผลประโยชน์ที่ได้คือ ไม่ต้องเสียภาษี เพราะการให้ด้วยความเสน่หา ต้องเสียภาษี “รับให้” ร้อยละ 5 ของส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท และถ้าเป็นการซื้อขายนอกตลาด ถ้าคนขายมีกำไรจากการขาย คนขายต้องจ่ายภาษีส่วนที่เป็นกำไรด้วย
     
  • ถ้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แบบโปร่งใส 100% สมมติน้องสาวรับโอนหุ้นจากพี่สาว จะเริ่มจากพี่สาวทำรายการขายตรงให้น้อง เมื่อถึงวันชำระราคา น้องไม่มีเงิน ก็ให้น้องยืมเงินมาจ่ายค่าหุ้นที่ตัวเองซื้อ โดยชำระราคาผ่านโบรกเกอร์ น้องสาวได้หุ้น พี่ได้เงินคืนไป แล้วให้น้องถือสัญญาเงินกู้ หรือ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน PN ให้พี่สาวถือไว้ แบบนี้จะดูดีกว่า 

    แต่ความต่างคือ 
    1. จะต้องมีเงินจริงๆ เท่ามูลค่าซื้อขาย โดยโอนเข้าโบรกเกอร์จริงๆ 
    2. เสียค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ปัจจุบันล้านละประมาณ 700-800 บาท ซื้อขาย 4,000 ล้านบาท ก็จ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 3 ล้านกว่าบาท

สาเหตุที่เลือกวิธีนี้ อาจเป็นเพราะคนเป็นน้องไม่มีเงินสดในมือ หรือไม่อยากแจ้งที่มาของเงินที่นำมาซื้อ หรือสุดท้าย ไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียม 3-4 ล้านบาท

สรุปการเลือกวิธีแบบที่ สส.วิโรจน์ นำมาอภิปราย ถือว่าผิดปกติ 

ตั๋ว PN หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋ว PN หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน

กลุ่มสอง มองว่าเป็นเรื่องปกติ 

  • การซื้อขาย ไม่ว่าจะซื้อตรง หรือ ทำเป็นตั๋ว PN ย่อมถือว่านิติกรรมเกิดขึ้นแล้ว ภาระภาษีย่อมตามมา เพียงแต่จะเป็นเมื่อใดเท่านั้นเอง 
  • วิธีการแบบนี้ มีการทำกันโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด 
  • เป็นการทำนิติกรรมระหว่างคนที่ไว้ใจกัน เพื่อนสนิท คนในครอบครัว 
  • สุดท้ายเมื่อมีการจ่ายเงินกันจริง ก็ต้องจ่ายภาษีอยู่ดี (กรณีของนายกฯแพทองธาร ชี้แจงว่าจะชำระค่าหุ้นปีหน้า)

ผ่ากลยุทธ์ฝ่ายค้าน ซักฟอก นายกอิ๊งค์ เลี่ยงภาษี โจมตีจุดอ่อนไหว

ผ่ากลยุทธ์ฝ่ายค้าน ซักฟอง "นายกอิ๊งค์" 

1. โจมตีจุดอ่อนของนายกฯแพทองธาร ในความเป็นคนตระกูลชินวัตร 

  • เป็นคนรวย แต่โอนหุ้นไม่เสียภาษี 
  • โดยนัยเทียบกับยุคอดีตนายกฯทักษิณ เคยเผชิญวิกฤตการเมืองเพราะขายหุ้น 7.3 หมื่นล้าน โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียวมาแล้ว 

ความต่าง 

  • ยุคอดีตนายกฯทักษิณ เป็นการขายหุ้นบริษัทเครือชินคอร์ป ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ โดยเป็นหุ้นกิจการสัมปทานที่ได้จากรัฐ และเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ แต่กลับไม่เสียภาษี 
  • สร้างกระแสจนทำให้เกิดม็อบนอกสภาขยายตัวเป็นการชุมนุมขับไล่ ลงท้ายด้วยการรัฐประหาร
  • มีคดีความตามมา เป็นคดีร่ำรวยผิดปกติและผลประโยชน์ทับซ้อน โดนยึดทรัพย์ไป 4.6 หมื่นล้าน
  • แต่กรณีของนายกฯแพทองธาร เป็นการโอนหุ้นในครอบครัว โดยใช้การออกตั๋ว PN (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) แทนการจ่ายเงินสด เพื่ือชำระหนี้ต่อกันในภายหลัง กระบวนการยังไม่จบ จึงบอกไม่ได้ว่าเต็มปากว่าเลี่ยงภาษี
  • มูลค่าไม่เท่ารุ่นอดีตนายกฯทักษิณ และไม่ใช่หุ้นสัมปทานรัฐ 

2. โจมตีไปที่ความเป็นกลุ่มทุนของตระกูลชินวัตร และเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศ 

  • สร้างกระแสดราม่าความเหลื่อมล้ำระหว่างนายกฯ คนในครอบครัวชินวัตร กลุ่มทุน แกนนำรัฐบาล เทียบกับความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วไปที่ยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีหนักเหมือนโดนรีดเลือดกับปู 

3. โจมตีนายกฯแพทองธาร ในแง่ความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาประเทศ 

  • เน้นปัญหาใหญ่ที่กระทบคนจำนวนมาก และเป็นปัญหาสุขภาพที่คนแทบทุกรุ่น แทบทุกช่วงวัยมีความกังวล คือ ปัญหาฝุ่น PM2.5 
  • พุ่งเป้าปัญหาเศรษฐกิจซึ่งกระทบคนทุกกลุ่ม
  • พุ่งเป้าไปที่ปัญหาของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเป็นคนรากหญ้ากลุ่มใหญ่ ผ่านปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งโยงกลุ่มทุนด้วย 

4. โจมตีปัญหาการไร้อำนาจต่อรองทางการเมือง ทำให้ต้องยอมแลกผลประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนความไม่มีภาวะผู้นำของนายกฯ 

5. โจมตีการถูกครอบงำจากอดีตนายกฯ ผู้เป็นบิดา
ผ่ากลยุทธ์ฝ่ายค้าน ซักฟอก นายกอิ๊งค์ เลี่ยงภาษี โจมตีจุดอ่อนไหว

logoline