13 พฤศจิกายน 2567 ที่บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.) ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขวิกฤตพะยูน และหญ้าทะเลเสื่อมโทรม
หลังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ที่ได้ทดลองวางแปลงอาหารธรรมชาติ แหล่งหญ้าทะเล ที่บริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารเสริมให้กับพะยูน ที่อพยพมาอาศัยในพื้นที่อ่าวพังงา จ.ภูเก็ต หลังประสบปัญหาพบพะยูนตาย จากการขาดอาหารเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลสูญหายไปกว่า 20,000 ไร่ จากสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ปริมาณพะยูนลดลงเกือบร้อยละ 50 จากเดิมที่ประเทศไทยมีพะยูนกว่า 300 ตัว
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จะนำ 4 มาตรการหลักมาเร่งดำเนินการ คือ สำรวจเส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นของพะยูน การดูแลสุขภาพพะยูนกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้าย การจัดหาอาหารเสริม และเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหารธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการย้ายถิ่นของพะยูน จากนั้นขับเคลื่อนร่วมกับทางจังหวัด ในการสื่อสารทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับพะยูน พร้อมสร้างความร่วมมือในการร่วมกันดูแลรักษาพะยูน แหล่งหญ้าทะเล โดยเตรียมออกประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์พะยูน 2 จุด ในภูเก็ต คือ พื้นที่ราไวย์ และป่าคลอก ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับทางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเร่งออกประกาศให้ได้โดยเร็วที่สุด
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลลดลงเกินร้อยละ 50 จึงต้องเร่งหาแนวทางทำให้หญ้าทะเลกลับคืนมา แต่เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมาย จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือการนำเงินรายได้ของกรม อุทยานฯ มาทำคอกอนุบาลตามแผนอนุรักษ์ จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเร่งอนุบาลและป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และจะเร่งจัดทำแผนเพื่อเสนอของบกลาง เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน มาดำเนินการในมาตรการต่างๆ เพื่อการฟื้นฟูให้พะยูน กลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเร็ว