24 มีนาคม 2568 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม วาระการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันแรก
น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายไม่ไว้วางใจ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในประเด็น บัญชีทรัพย์สิน โดยระบุว่า เรื่องนิติกรรมที่เป็นข้อสงสัยต่อสาธารณะ การยื่นแสดงในทรัพย์สินและหนี้สินของนายกฯ ซึ่งบัญชีแสดงรายการหนี้สินอื่นจำนวนกว่า 4,434 ล้านบาท หนี้สินนี้ประกอบไปด้วยหนี้ตามต่อสัญญาใช้เงิน เพื่อชำระค่าหุ้นให้กับพี่น้องเครือญาติ และบุคคลในครอบครัวของนายกฯ
น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งจากการตรวจสอบตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ทั้ง 9 ฉบับ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ล้วนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืน และไม่มีการคิดดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้ตนไม่เข้าใจว่านายกฯ มีเจตนาที่จะผ่องถ่ายทรัพย์สินโอนหุ้นกันระหว่างเครือญาติหรือไม่ เพราะโดยปกติในการกู้ยืมเงินกัน หรือการซื้อขายกันหากมีการกู้ยืมเงินกันจริง ก็ต้องมีการกำหนดระยะเวลาใช้คืน และมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้
โดยตั๋วเงินสัญญาในลักษณะนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ระบุว่า หากเป็นการกู้ยืมการระหว่างบุคคล และไม่ได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกฎหมายได้ร้อยละ 3 บาทต่อปี ซึ่งในลักษณะตัวสัญญาใช้เงินจำนวนดังกล่าว หากคิดดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะคิดดอกเบี้ยได้เป็นจำนวนเงินถึง 132 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐสามารถเก็บภาษีต่อเนื่องได้อีกเป็นจำนวนเงินหนึ่ง
น.ส.พิมพ์พร กล่าวว่า เงินจำนวนนี้อาจจะไม่ได้มากนัก แต่หากเงินจำนวนนี้ตกไปในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร แบบที่ประชาชนรอคอยความช่วยเหลือ เงินจำนวนนี้ก็จะสามารถสร้างประโยชน์มหาศาล ให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้ และจากการตรวจสอบเอกสารภาษีในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและใช้หนี้สิน กลับไม่พบการตั้งหนี้ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเอาไว้ และไม่พบรายจ่ายสำหรับภาษีเงินได้ที่แจ้งเอาไว้เช่นกัน
ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การกู้เงินตามตั๋วสัญญาดังกล่าวนี้ เป็นการทำนิติกรรมที่อาจทำให้รัฐเสียหายจากรายได้ภาษีหรือไม่ และบทบัญญัติประมวลรัษฎากรมาตรา 39 คือเงินได้พึงประเมิน ย่อมหมายถึงตัวเงินที่เป็นตัวเงิน รวมถึงทรัพย์สินและประโยชน์อย่างอื่นที่อาจประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ฉะนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวที่เกิดจากการได้รับหุ้น ก็ต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมินเช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นจากตัวสัญญาใช้เงินกว่า 4,434 ล้านบาท ซึ่งหากมองในแง่ของการทำธุรกรรม กรณีดังกล่าวอาจจะไม่ชี้ชัดว่า ขัดต่อเรื่องข้อกฎหมายในข้อใดอย่างชัดเจน แต่หากมองในเรื่องของจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากนายกฯ จะสามารถชี้แจงได้ก็คงเป็นประโยชน์กับสาธารณะ
น.ส.พิมพ์พร อภิปรายว่า เรื่องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายกฯ ซึ่งเอกสารได้แสดงถึงรายได้และรายจ่ายต่อปีโดยประมาณ และรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน ซึ่งรายการดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมายตามประมวลรัษฎากรมาตราที่ 40 (5) ซึ่งผู้มีเงินได้ตามรายการดังกล่าวนั้น จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการเสียภาษีด้วยแบบ ภงด.94
นั่นหมายความว่า การที่นายกฯ ได้แสดงรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน แต่กลับไม่พบแบบแสดงรายการภาษี ภงด.94 ปรากฏอยู่ในเอกสารประกอบรายการทรัพย์สินที่นายกฯ ยื่นไว้ ที่พบเพียง ภงด.90 และ 91 ซึ่งหากนายกฯ ไม่ได้ยื่น ภงด.94 อาจจะเข้าข่ายความผิดต่อหน้าที่ของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (9) นั่นคือหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ และในกรณีดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีความผิดร้ายแรง หากนายกฯ ได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากตรวจสอบเสียภาษี เสียเงินเพิ่ม และเสียเบี้ยปรับไปแล้ว
ทั้งนี้ การที่เป็นนายกฯ นั่นหมายความว่าท่านต้องมีความละเอียดรอบคอบให้มากที่สุด เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน การตัดสินใจที่ผิดพลาด ขาดความละเอียดรอบคอบนั้น อาจจะนำพาให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายได้เช่นกัน
น.ส.พิมพ์พร กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงการโอนหุ้น ตนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีการโอนหุ้นเกิดขึ้นแล้ว การโอนหุ้นนี้กลับไม่ปรากฏรายได้ค่าหุ้นค้างรับ หรือรายได้จากการขายหุ้นใดๆ ที่แสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่นายกฯ ได้ยื่นแสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และรายได้ที่นายกฯ แสดง ก็ไม่ปรากฏถึงรายได้จากการโอนหุ้น ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า นายกฯ อาจยื่นแสดงรายการขายทรัพย์สินไม่ครบถ้วนหรือไม่ เพราะหากนายกฯ บอกว่าเป็นการโอนหรือการให้โดยเสน่หา ก็ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกอยู่ดี ตนจึงอยากให้นายกฯ ช่วยชี้แจงประเด็นทางบัญชีต่างๆ