svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรรคประชาชน"ฮึ่ม บี้ "นายกฯแพทองธาร" ตอบปม ซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์

"ณัฐพงษ์" แถลงปมรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ย้ำนายกฯ มีอำนาจเต็มยกเลิกโครงการได้แต่ไม่ใช้ มีทางเลือกที่ถูกกว่ากลับไม่ทำ เป็นเรื่องใหญ่แต่ไม่มาตอบ เรียกร้องเข้าสภาตอบกระทู้ "พรรคประชาชน" พร้อมดีเบตทุกเวทีให้ประชาชนได้ข้อมูลครบถ้วน 

24 ธันวาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน และเป็นประเด็นที่รัฐบาลออกมาตอบโต้ว่า "นายกรัฐมนตรี" ไม่มีอำนาจยกเลิกโครงการ

โดย"ณัฐพงษ์" ระบุว่า ประเด็นแรกที่ต้องเรียกร้องต่อ"นายกรัฐมนตรี" คือข้อเท็จจริงที่ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ แม้โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกกะวัตต์ เริ่มมาตั้งแต่สมัย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"  ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งหากย้อนไปดูบันทึกการประชุม มีการระบุอย่างชัดเจนว่า กพช. กำหนดวิธีและราคาในการรับซื้อ ให้เป็นการคัดเลือกโดยไม่มีการเปิดประมูล และราคามีการล็อกไว้ล่วงหน้าถึง 8 ปี ขาดความโปร่งใส ขาดการแข่งขัน และอาจทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ได้ตอบกระทู้ที่ตนตั้ง ว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว

จึงขอย้ำอีกครั้งว่าข้ออ้างที่ว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย กพช. นั้นไม่เป็นความจริง นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้แต่กลับไม่ใช้ โครงการนี้เริ่มต้นจาก กพช. สมัย "พล.อ.ประยุทธ์"  จะยกเลิกได้ก็ต้องเปลี่ยนจากแนวนโยบายของรัฐผ่านการออกมติ กพช. ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้ารพรรคประชาชน

"นายณัฐพงษ์" กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ยังมีความจำเป็นเร่งด่วน จากกรณีที่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 มีการออกประกาศจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการเดินหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ โดยมีเส้นตายเพียง 14 วันคือภายใน 30 ธันวาคม 2567 ที่ถ้าไม่มีการยกเลิกจะไม่สามารถยกเลิกกระบวนการดังกล่าวได้อีก สืบเนื่องจากระเบียบการรับซื้อมีการเขียนไว้ชัดเจนว่า กกพ. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการก่อนการลงนามในสัญญา หมายความว่าสามารถยกเลิกได้ตราบใดที่ไม่มีการลงนามสัญญาร่วมกัน และสามารถยกเลิกได้ด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดโดย กพช.

หากนายกรัฐมนตรีอ้างว่าไม่สามารถกุมสภาพเสียงข้างมากใน กพช. ไม่สามารถผ่านมติได้ ถ้าอ้างแบบนี้รัฐบาลควรยุบสภา เพราะ กพช. ประกอบด้วยกรรมการ 19 คน โดย 14 ใน 19 คนรวม "นายกรัฐมนตรี" และ "คณะรัฐมนตรี" ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมาโดยตรง ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนว่าประสงค์จะยกเลิกกระบวนการรับซื้อก็ย่อมทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้โดยอ้างว่ากุมสภาพเสียงข้างมากไม่ได้ ก็แปลว่าท่านบริหารคณะรัฐมนตรีไม่ได้ สมควรยุบสภาและบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่านายกรัฐมนตรีทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมาเองไม่เห็นชอบ


ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าว
 

"นายณัฐพงษ์" กล่าวต่อไปว่า ประเด็นต่อมาคือนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกที่ราคาถูกกว่า แต่ไม่ทำ พรรคประชาชนยืนยันว่าเราเห็นด้วยกับและพร้อมให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาด แต่มีกระบวนการที่ดีและถูกกว่าที่จะไม่ส่งผลต่อประชาชนทั้งประเทศ การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์มีการผูกสัญญาสัมปทานนานถึง 25 ปี ใช้วิธีการคัดเลือก ขาดการแข่งขันและความโปร่งใส และจากการคำนวณอาจส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินจริงถึง 1 แสนล้านบาทตลอด 25 ปีข้างหน้า

 

โดยทางเลือกที่ดีกว่าคือ  1) การเพิ่มโควตาการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าหรือโรงงานที่ผลิตสินค้า กับผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาด (Direct PPA) ซึ่งตอนนี้ตามแนวนโยบายของรัฐมีการให้โควตา Direct PPA อยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ ถ้ารัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด รัฐบาลมีช่องทางในการเพิ่มโควตาได้โดยตรง ไม่ผูกมัดให้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไฟฟ้านี้ร่วมกัน เพราะเป็นการตกลงกันโดยตรงระหว่างผู้ขายไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้ซื้อไฟฟ้าที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด
.
2) เพิ่มโควตาการรับซื้อโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่สามารถรับซื้อเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากเต็มโควตา 90 เมกะวัตต์แล้ว รัฐบาลสามารถเพิ่มโควตาการรับซื้อโซลาร์รูฟท็อปจากประชาชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น มีความคุ้มทุนมากขึ้น ให้มากกว่า 90 เมกะวัตต์ได้
.
“พรรคประชาชนไม่ได้ต่อต้าน ไม่ได้เห็นค้าน แต่พวกเราสนับสนุนและพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ท่านมีช่องทางที่ดีกว่าการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนด้วยกระบวนการคัดเลือกโดยไม่เปิดประมูล เปลี่ยนไปเป็น Direct PPA เปลี่ยนไปเป็นการเพิ่มโควตาโซลาร์รูฟท็อปให้กับประชาชน จะเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า” ณัฐพงษ์กล่าว

"นายณัฐพงษ์" กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ แม้นายกรัฐมนตรีจะได้แถลงไว้บนเวทีแถลงผลงาน 90 วันว่าต้องการทลายทุนผูกขาด แต่สิ่งที่พรรคประชาชนเห็นคือทิศทางในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นเรื่องใหญ่และกระทบกับชีวิตประชาชนทั้งประเทศ รัฐบาลกลับไม่ออกมาให้ความชัดเจน เราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นทางออกของประเทศในระยะยาวและเป็นการทลายการผูกขาดกิจการไฟฟ้าในประเทศ ก็คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบสมาร์ทกริด คือระบบที่จะเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าให้กับทุกครัวเรือน สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กลายเป็นผู้ขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนหรือเอกชนธุรกิจใดก็ได้ ผ่านกลไกการรับซื้อขายไฟฟ้าที่เป็็นตลาดเสรี ไม่ต้องมีใครมากำหนดราคาตายตัว

สิ่งที่อยากได้ยินคือวิสัยทัศน์และแนวในการดำเนินนโยบายของรัฐซึ่ง กพช. มีอำนาจเต็มและมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จะกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของประเทศในอนาคตได้ ว่ารัฐบาลเพื่อไทยเห็นด้วยหรือไม่ที่จะผลักดันให้มีระบบสมาร์ทกริดและเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จากสิ่งที่ปรากฏตามหน้าข่าวที่ผ่านมา ว่าบิดาของนายกรัฐมนตรีได้ไปตีกอล์ฟกับซีอีโอของธุรกิจพลังงาน นี่คือสิ่งที่เราอยากได้ความชัดเจน 

"การที่ค่าไฟแพงไม่ใช่แค่เรื่องของธรรมชาติ หรือกลไกเชื้อเพลิงต่างประเทศที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากกว่า ก็คือการผูกขาดและแนวนโยบายของรัฐ ที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการใช้อำนาจนั้นผ่าน กพช." นายณัฐพงษ์กล่าว

"นายณัฐพงษ์" ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ตนขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรงให้แสดงความรับผิดชอบต่อสภา เรายังมีเวลาเหลือในการเข้ามาโต้ตอบแสดงเหตุผลร่วมกัน ถ้านายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามสดในสภาก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หรือถ้านายกรัฐมนตรีไม่สะดวกก็สามารถส่งตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยไปออกรายการดีเบตตามสื่อมวลชนต่างๆ ซึ่งพรรคประชาชนก็พร้อมส่งตัวแทนไปเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน