19 ธันวาคม 2567 แหล่งข่าวจาก "กองทัพบก" ชี้แจงกรณีนักวิชาการลงสำรวจพื้นที่ พบกลุ่มว้าแดงรุกล้ำพื้นที่ประเทศไทยชัดเจน ว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทหารไทยและฝั่งว้า ได้มีการพูดคุยกัน โดยไทยได้สะท้อนใน 2 ประเด็นหลัก เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา คือเรื่องของการรุกล้ำเขตแดน และ ยาเสพติด ที่ผ่านจากช่องทางของ"ว้า" เข้าสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้ ทางว้า รับปากว่าจะไปดำเนินการให้ โดยปัญหาเส้นเขตแดน ต่างคนต่างอ้างแนวเส้นกันอยู่ ต้องขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง แล้วจะมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาต่อไป / ส่วนปัญหายาเสพติด ทางว้าแจ้งว่า จะดำเนินการอย่างเข้มงวด พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มว้าไม่ได้มาจากยาเสพติด แต่มีเรื่องของการทำเหมืองทอง เหมืองหยก และ เหมืองแร่หายาก
แหล่งข่าวจาก"กองทัพบก" ยังบอกด้วยว่า การที่"กลุ่มว้า"รับปากจะไปดำเนินการให้ทั้ง 2 สองเรื่อง คงต้องรอดูว่าจะเห็นผลเมื่อไหร่ เพราะอย่างน้อยเขาก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่ถ้ายังไม่คืบหน้าฝ่ายไทยก็ต้องย้ำไปอีก และถ้าเป็นเรื่องการปักปันเขตแดน ก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศดำเนินการ
ส่วนเรื่องที่ "ว้า" บอกว่า รายได้ปัจจุบันมาจากการทำเหมืองนั้น แหล่งข่าว"กองทัพบก" กล่าวว่า ทางเราก็รับฟัง แต่ต้องจับตาและระวังเส้นทางอยู่ดี พร้อมยอมรับการจับกุมยาเสพติดได้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พบว่าไม่ใช่"กลุ่มว้า"แต่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการปิดพื้นที่เพื่อกดดัน"กลุ่มว้า"ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง คือคนไทยที่อยู่ตามแนวชายแดน ราว 25,000 คน ที่มีการค้าขายกับ "กลุ่มว้า"
ดังนั้น ขณะนี้ต้องรอดูผลลัพธ์ หลังจากที่ "กลุ่มว้า" รับปากไป ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่เขาบอกว่าจะทำให้เร็วที่สุด
นักวิชาการ ลงพื้นที่ "ว้าแดง" รุกล้ำแดนไทยชัดเจน
ด้าน"ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช" รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หลังจากลงพื้นที่พิพาทระหว่าง "ไทย-ว้าแดง" ที่อำเภอปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน ก่อนนั่งรถมอเตอร์ไซค์วิบากเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ไม่ไกลจากแนวชายแดน ไทย-เมียนมา และได้เห็นพิกัดของกองกำลังว้าแดง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยตอนนี้ทั้งทหารไทยและทหารว้าแดงยังคงอยู่ในพื้นที่ตามปกติ และได้ทราบข้อมูลจากโฆษกกองทัพทหารรัฐว้าแล้ว ซึ่งยืนยันว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ กับทหารไทย เพราะฉะนั้น ทหารว้าก็จะยังไม่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ฐานทหารว้าแดงที่ตั้งอยู่บนสันเขา ตรงจุดนี้อาจจะไม่ชัดเจนว่ารุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยหรือไม่ แต่มีฐานบางจุดที่ลึกลงมาจากสันเขา
"บริเวณฐานดอยหนองหลวง" จุดนั้นอยู่ห่างจากสันเขาที่เป็นแนวเขตแดนระหว่างประเทศประมาณ 1-2 กิโลเมตร ซึ่งตรวจสอบจากหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพยานบุคคลในพื้นที่ หรือกองกำลังประจำถิ่นแล้ว อส. ทั้งหมดให้ข้อมูลยืนยันตรงกันว่าฐานเหล่านั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหามี 2 ส่วน คือการเจรจา และใช้กองกำลังผลักดันทหารต่างชาติออกจากเขตแดนไทย
และจุดนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่พอจะอนุมานได้ว่า ทำไมฐานทัพ "ว้าแดง" จึงเลือกตั้งที่มั่นตรงนั้น ปิดทางเข้า-ออก ทั้งที่เป็นเขตอธิปไตยไทย เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิตยาเสพติดและดำเนินกิจกรรมของกองกำลังตนหรือไม่
รัฐไทย ควรบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นี้ เหมือนกับที่ กรณีเมียนมาบังคับใช้กฎหมาย ตัดสินจำคุกลูกเรือประมงไทย 4 คนที่ เกาะสอง ทั้งที่ตรงนั้นยังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนด้วยซ้ำ ท่าทีของไทยไม่ชัดเจนและเด็ดขาดในเรื่องนี้