4 ธันวาคม 2567 เพจ"พรรคประชาชน" โพสต์ข้อความ ชื่นชม เกาหลีใต้ปกป้องประชาธิปไตยในประเทศ โดยระบุว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ผ่านความเจ็บปวดและประวัติศาสตร์บาดแผลมาอย่างยาวนาน และเพิ่งจะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วก็หลังจากที่ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จในช่วงทศวรรษ 1990 นี้เอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่การประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อคืนที่ผ่านมาภายใต้ข้ออ้างว่าพรรคฝ่ายค้านที่ครองเสียงข้างมากในสภากำลังร่วมมือกับเกาหลีเหนือ นอกจากจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับทั้งโลกแล้ว ยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวเกาหลีใต้ทั้งปวงด้วย
แน่นอนว่านี่คือการลุแก่อำนาจของรัฐบาลผ่านกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นความพยายามกระชับอำนาจของตัวเองและลดทอนกลไกการทำงานของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จนนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่านี่ไม่ต่างจากการพยายามทำ "รัฐประหาร" ตัวเองเลย
และยิ่งไม่น่าแปลกใจที่ทันทีที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ประชาชนชาวเกาหลีใต้จะพากันออกมาชุมนุมต่อต้าน พร้อมกับนักการเมืองในสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างพากันพร้อมใจบุกเข้าสภา ฝ่าเครื่องกีดขวางและกองกำลังทั้งทหารตำรวจที่ถูกส่งมาตรึงพื้นที่สภา จนเข้าไปเปิดประชุมสภาและลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกได้สำเร็จ
ภายในไม่ถึงช่วงข้ามคืนเดียว สถานการณ์ภายในเกาหลีใต้พลิกกลับจากที่กำลังจะก้าวขาเข้าสู่ความเป็นเผด็จการทหารอีกครั้งผ่านการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี มาสู่การโต้กลับของทั้งประชาชนและนักการเมือง จนทำให้ความพยายามทำ "รัฐประหาร" ครั้งนี้ไม่สำเร็จ
พรรคประชาชนขอแสดงความยินดีกับประชาชนชาวเกาหลีใต้ ที่สามารถปกป้องประชาธิปไตยเอาไว้ได้สำเร็จจากการรัฐประหาร นี่คือปรากฏการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อประเทศมีกฎหมายที่ให้อำนาจและเครื่องมือแก่ประชาชนในการต่อสู้กับการรัฐประหาร เช่น ให้สภามีอำนาจยกเลิกกฎอัยการศึกได้ ผนวกกับประชาชนและนักการเมืองต่างก็มีความกล้าหาญ ไม่จำนนต่อการยึดอำนาจ และพร้อมใจกันที่จะใช้เครื่องมือนั้นในการร่วมปกป้องประชาธิปไตย การรัฐประหารก็ย่อมจะต้องล้มเหลวไป
ชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่าการป้องกันการรัฐประหารเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองสูงและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหาร อย่างเช่นประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย เรามักมีความเชื่อกันว่าการรัฐประหารเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมจำนน ฝ่ายต่างๆ ก็ควรต้องยอมให้คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองไปในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ป่วยการที่จะต่อต้าน แก้กฎหมายไปรัฐประหารก็เกิดขึ้นได้อยู่ดี แต่จากเหตุการณ์นี้ เราเห็นแล้วว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่ประชาชนและนักการเมือง รวมไปถึงระบบการเมืองจะต้องยอมจำนนกับการรัฐประหาร
นี่คือสิ่งที่เรา พรรคประชาชนเสนอมาโดยตลอด และยืนยันมาโดยตลอดว่าหากประเทศไทยมีกลไกที่เอื้อให้ประชาชนและนักการเมืองมีเครื่องมือและอำนาจในการยับยั้งการรัฐประหารได้ เราก็ย่อมสามารถป้องกันการรัฐประหารได้
.
การป้องกันการรัฐประหารจะสำเร็จได้ก็ด้วยปัจจัย 3 ประการ กล่าวคือ
.
(1) มีกฎหมายที่ให้อำนาจและเครื่องมือแก่ประชาชนในการต่อสู้กับการรัฐประหาร
(2) ประชาชนทุกฝ่ายมีจุดยืนร่วมกันในการป้องกันรัฐประหาร
(3) กองทัพมีความเป็นมืออาชีพ ไม่แทรกแซงการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
.
ในส่วนของกฎหมาย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายหลายประการ เช่น
.
(1.1) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มหมวดป้องกันรัฐประหาร ซึ่งพรรคประชาชนได้เสนอเข้าสภาไปแล้ว มีเนื้อหาประกอบไปด้วย
- การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร
- กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวกับการทำรัฐประหาร
- ห้ามไม่ให้ศาลทั้งปวงรองรับการทำรัฐประหาร
- กำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่วมกันปกป้องประชาธิปไตยจากการรัฐประหาร
- ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
- ให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องผู้ก่อรัฐประหารได้โดยไม่มีอายุความ และศาลต้องตัดสินภายใน 24 ชั่วโมง
.
(1.2) ทบทวนกลไกการประกาศ อนุมัติ และการยกเลิกกฎอัยการศึก ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งพรรคประชาชนกำลังศึกษาและจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้อยู่
.
(1.3) ทบทวนกลไกการประกาศ อนุมัติ และการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพรรคประชาชนเคยเสนอไปเมื่อสภาสมัยที่แล้วภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถูกฝ่ายรัฐบาลคว่ำไป แต่เราก็ได้ยื่นอีกครั้งในสภาสมัยนี้ โดยน่าจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ไม่นานหลังสภาเปิดสัปดาห์หน้านี้
.
ในส่วนของข้อ (2) แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกันรณรงค์และทำงานทางความคิดกันต่อไป เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ต่อทั้งประเทศ ประชาชน รวมไปถึงฝ่ายการเมืองต่างๆ นั้นรุนแรงแค่ไหน
.
ส่วนข้อ (3) ทำผ่านการปฏิรูปกองทัพ ให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ และผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่สามารถสั่งเคลื่อนกำลังพลได้หากปราศจากการสั่งการของรัฐบาลพลเรือน มีความเป็นทหารอาชีพ และมีจิตสำนึกประชาธิปไตย เคารพอำนาจของประชาชน
.
การต่อต้านการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นภารกิจร่วมกันของทุกพรรคการเมือง ในฐานะผู้ที่ขันอาสามาเป็นตัวเลือกให้ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้ความคิดที่แตกต่างกัน แต่เรามีจุดยืนร่วมกันได้ที่จะเคารพในอำนาจสูงสุดของประชาชน ที่ให้อำนาจพวกเราทั้งหมดได้มาทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร หรือกระทั่งได้เป็นรัฐบาล
.
การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบของความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลต้องไม่นำการรัฐประหารมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของตัวเอง ฝ่ายรัฐบาลต้องไม่นำการรัฐประหารมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดฝ่ายค้าน อย่างเช่นในกรณีเกาหลีใต้ และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลต้องไม่นำการรัฐประหารมาใช้เป็นเครื่องมือในการล้มรัฐบาล เหมือนการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่ผ่านมา
.
เราต่างได้เห็นแล้วว่าผลเสียระยะยาวต่อระบบการเมืองนั้นร้ายแรงเพียงใด เป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ได้เสียทีในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ 2560 และมรดกจากการรัฐประหาร ที่ทั้งยุบพรรคฝ่ายค้านมา 2 รอบในปี 2563 และ 2567 และล้มคณะรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งในปี 2567
.
การรัฐประหารอาจใช้อำนาจดิบเถื่อนล้มทุกกฎเกณฑ์ได้ไม่ว่าจะเขียนป้องกันไว้ดีเพียงใดก็จริง แต่หากประชาชนและนักการเมืองต่างมีความพร้อมในการร่วมกันออกมาปกป้องประชาธิปไตย โดยมีกฎหมายที่รับรองความชอบในการต่อต้านการรัฐประหารให้กับทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ การรัฐประหารก็ไม่อาจสำเร็จได้
.
เหตุการณ์ในเกาหลีใต้เมื่อคืนบอกกับเราเช่นนั้น และมันยังบอกกับเราว่าเมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้น ไม่จำเป็นที่ประชาชนและนักการเมืองจะต้องยอมจำนนเสมอไป และชัยชนะต่อการรัฐประหารเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ดูน้อยลง