svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“โรม” เตรียมบุกชั้น 14 รพ.ตำรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย

“โรม” เตรียมพา กมธ.มั่นคงฯ บุกชั้น 14 รพ.ตำรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย - ยอมรับไม่เคยเจอของยากเท่าแดนพิศวงชั้น 14 - ย้ำ กมธ.มีอำนาจสอบคดีนี้

:: “โรม” เตรียมบุกชั้น 14 รพ.ตำรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัย - ยอมรับไม่เคยเจอของยากเท่าแดนพิศวงชั้น 14 - ย้ำ กมธ.มีอำนาจสอบคดีนี้ ::

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันนี้ (22 พ.ย.) ที่กรรมาธิการฯ เชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงกรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า เป็นการพิจารณาต่อเนื่องของกรรมาธิการฯ เนื่องจาก การพิจารณาในครั้งก่อนยังได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การประชุมในวันนี้ (22 พ.ย.) จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเกือบ 20 คน จำแนกกลุ่มหน่วยงานได้ 4 กลุ่ม รวมถึงยังมีการเรียกเอกสารไปกว่า 10 ชุด จึงหวังว่า กรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือ

นายรังสิมันต์ ยังได้แสดงความประหลาดใจถึงการแถลงข่าวของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงความกังวลของกระทรวงฯ ภายหลังกรรมาธิการฯ ได้เชิญรัฐมนตรี และอธิบดีกรมราชทัณฑ์เข้าชี้แจงกรณีดังกล่าว พร้อมมองกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยมองว่า เป็นการแถลงข่าวโดยที่ไม่เข้าใจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เพราะความยุติธรรม ก็ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากประเทศปราศจากความยุติธรรม มีอภิสิทธิ์ชน ก็ถือเป็นความไม่มั่นคงของประเทศ และประชาชน ก็จะไม่เชื่อมั่นใจกระบวนการยุติธรรม พร้อมยืนยันว่า การทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ไม่ซ้ำซ้อนกับกรรมาธิการชุดอื่น และไม่ได้เป็นการขัดขวางการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช.ที่กำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่ และกรรมาธิการฯ พร้อมสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของกรรมการ ป.ป.ช.ด้วย และในฐานฝ่ายนิติบัญญัติ ก็พร้อมใช้ข้อมูลของกรรมาธิการฯ เป็นสารตั้งต้นในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

 

นายรังสิมันต์ ยังย้ำด้วยว่า กรรมาธิการฯ ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ชอบด้วยกฎหมาย และกระบวนการหรือไม่ และป่วยจริงหรือไม่ และช่วงการพักรักษาตัวกว่า 100 วันนั้น จำเป็นจะต้องพักรักษาตัวในห้อง VIP หรือไม่ และช่วงการออกจากการรักษาตัว จึงขอให้หน่วยงาน หากทำหน้าที่โดยสุจริต ก็ขอให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ซึ่งในวันนี้ (22 พ.ย.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะมาชี้แจงด้วยตนเอง แต่นายทักษิณ ยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีชี้แจงหรือไม่ ซึ่งแม้กรรมาธิการฯ จะไม่มีอำนาจให้คุณ หรือให้โทษนายทักษิณ แต่คุณโทษในความเข้าใจของสังคมนั้น ทุกฝ่ายไม่เคยละเลย 

ส่วนเป้าหมายของกรรมาธิการฯ ภายหลังในวันนี้ (22 พ.ย.) นายทักษิณ ไม่มีชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น นายรังสิมันต์ ชี้แจงว่า จะต้องรอข้อมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะมาชี้แจงในวันนี้ก่อนว่า เพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งหากกรรมาธิการฯ ได้ข้อมูลแล้ว ก็จะสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไป ส่วนจำเป็นจะต้องเชิญนายทักษิณหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาจากข้อมูลในวันนี้ (22 พ.ย.) เป็นหลัก ซึ่งหากมีข้อมูลที่เป็นลบต่อรัฐบาล กรรมาธิการฯ ก็พร้อมเดินหน้าตรวจสอบ เพื่อเอาผิดต่อ แต่หากข้อมูลเป็นบวก ไม่มีพิรุธ กรรมาธิการฯ ก็ไม่มีเหตุผลดำเนินการต่อไป

 

นายรังสิมันต์ ยังยอมรับว่า ตนเองเป็น สส.มา 2 สมัย ก็ยังไม่เคยพบเรื่องใดที่มีความยากลำบากในการทำงานเช่นนี้ และที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรม ก็มักอ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ กฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล PDPA มายันกับกรรมาธิการฯ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมถึงการทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ และยังระบุกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจ จึงตั้งข้อสงสัยว่า กระทรวงยุติธรรม ไม่ต้องการให้กรรมาธิการฯ หรือไม่ จึงถือเป็นท่าทีที่ไม่สุจริต และไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐ

 

นายรังสิมันต์ ยังย้ำถึงการทำหน้าที่ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงฯ ว่า กรรมาธิการฯ จะตรวจสอบเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรม และทราบดีว่า เรื่องนี้เป็นแดนพิศวง จึงจะพยายามทำเรื่องนี้คลี่คลายให้ได้มากที่สุด และใช้โอกาสนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมดีกว่าที่ผ่านมา

 

:: กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ เตรียมบุก รพ.ตำรวจร่วมประชุมแพทย์ พร้อมตรวจสอบชั้น 14 ให้สิ้นสงสัย - งัด รธน.ขู่รอดูข้อมูลเวชระเบียน ::

 ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมกรรมาธิการฯ ถึงการพิจารณาเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เข้าพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจเสร็จสิ้น นายรังสิมันต์ ได้เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 พ.ย.) มีเวลาได้ซักถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมค่อนข้างน้อย เนื่องจากรัฐมนตรีฯ ติดภารกิจ แต่ยืนยันได้ว่า กรรมาธิการฯ มีอำนาจในการตรวจสอบ โดยสาระสำคัญที่มีการสอบในวันนี้ คือ การออกจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ , ระหว่างการอยู่ในโรงพยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ , และการพักโทษ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมคือ จากเดิมที่การส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ได้รับข้อมูลว่ามีเพียงพยาบาลเป็นผู้ลงนาม แต่ครั้งนี้ได้รับทราบว่า มีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายก่อนส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพียงแต่ยังไม่ทราบชื่อแพทย์ผู้วินิจฉัย

 

ส่วนอาการป่วยนั้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ยืนยันว่ามีอาการหนัก และเท่าที่ได้เห็นข้อมูลเอกสาร ก็ยอมรับได้ว่า มีอาการป่วยหลายอย่าง แม้จะขัดกับความรู้สึกของประชาชนที่ได้เห็นภาพการเดินทางลงจากเครื่องบินเมื่อถึงประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องดูข้อมูลเวชระเบียน ซึ่งเท่าที่ฟังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่กรรมาธิการฯ ร้องขอ จึงหวังว่า กรรมาธิการฯ จะได้ข้อมูลเวชระเบียนดังกล่าว และเชื่อว่า การหาข้อมูลของกรรมาธิการฯ สามารถขอข้อมูลเวชระเบียนได้ เพราะใช้อำนาจของรัฐธรรมนูญ ซึ่งใหญ่กว่าพระราชบัญญัติการตรวจสอบ โดยจะใช้ให้เกิดความเหมาะสม

 

ส่วนประเด็นบริเวณชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ เป็นห้องพิเศษตามกฎหมายหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบด้วยตัวเอง และเชื่อตามที่ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชารายงาน และตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำการตรวจสอบแล้ว

 

สำหรับประเด็นอดีตนายกรัฐมนตรีสูงอายุ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น นายรังสิมันต์ บอกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงไปตรวจสอบ เบื้องต้นขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน

 

นายรังสิมันต์ ยังเปิดเผยด้วยว่า กรรมาธิการฯ จะเดินทางไปที่โรงพยาบาลตำรวจอีกครั้ง เพื่อประชุมร่วมกับแพทย์ของโรงพยาบาล และขอดูชั้น 14 เพื่อติดตามความคืบหน้าสิ่งที่พิจารณาอยู่ให้สิ้นสงสัย เนื่องจากการเชิญเข้าให้ข้อมูลกับกรรมาธิการไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจ พร้อมย้ำว่า จะพยายามตรวจสอบอย่างเต็มที่ พร้อมเตือนว่า หากมีการกระทำผิดจริงเกิดขึ้น และผู้ที่เกี่ยวข้อง กลบฝังข้อเท็จจริงก็อาจจะมีความผิดไปด้วย ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือให้เอาความจริงออกมา

 

นายรังสิมันต์ ยังบอกถึงค่าใช้จ่ายตลอดการรักษาตัวของนายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ข้อมูลกับกรรมาธิการว่า อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด