นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมกรรมาธิการฯ ในวันนี้ (22 พ.ย.) โดยมีวาระสำคัญที่ในวันนี้ (22 พ.ย.) กรรมาธิการฯ เชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงกรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการประชุมของกรรมาธิการฯ ในวันนี้ (22 พ.ย.) ด้วย โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบรับเข้าร่วมการชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ในวันนี้ (22 พ.ย.) แต่นายทักษิณนั้น กรรมาธิการฯ ได้ส่งหนังสือเชิญไปแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับเข้าร่วมประชุมในวันนี้ (22 พ.ย.)
พันตำรวจเอกทวี ได้ย้ำว่า ตนได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นกระบวนการหลังนายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 แต่เหตุที่ตนต้องมาชี้แจงกรรมาธิการชุดนี้ เพราะไปด้อยค่ากรมราชทัณฑ์ ไม่ให้ได้มีโอกาสชี้แจง และเลือกใช้บางถ้อยคำ บางประเด็น แต่ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีการแบ่งเกรดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามการใช้ศักยภาพที่ต้องขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย และมีการระบุชัดว่า โรงพยาบาลก็ถือว่า เป็นสถานที่คุมขัง ซึ่งหากประชาชน รับไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ที่กฎหมาย
กรรมาธิการฯ จาก สส.พรรคประชาชน ยังสอบถามถึงการส่งตัวผู้ถูกคุมขังไปยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ควบคุม 2 คนตามกฎระเบียบไว้หรือไม่ รวมไปถึงมีการจัดห้องแยกให้กับผู้ต้องขังหรือไม่เนื่องจากกฎกระทรวงนั้นถือเป็นข้อห้าม และมีการจดบันทึกข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมหรือไม่ โดยพันตำรวจเอกทวี ชี้แจงว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้จัดบุคคล ยืนยันว่า ไม่ใช่ห้องพิเศษ และนายทักษิณ เคยถูกปองร้ายคาร์บอม ซึ่งการดำเนินการใช้ห้องควบคุมพิเศษ ก็เป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงการเข้าเยี่ยมก็มีรายการการเข้าเยี่ยมทั้งหมด พร้อมอธิบายถึงห้องพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ถูกมองว่า ไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นว่า การพักรักษาตัวของผู้ต้องขังสามารถแยกขังไม่รวมกันได้ สามารถดูได้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และยืนยันว่า ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ไม่มีสิทธิ์ใช้ดุลยพินิจ และต้องดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่างตามพระราชบัญญัติราชฑัณฑ์ และเจ้าหน้าที่คุมขัง ก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการอยู่ราชทัณฑ์ ต้องมีการเข้าออกตามเวลา
พันตำรวจเอกทวี ยังกล่าวอีกว่า การใช้ดุลยพินิจกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ตนยืนยันว่า คนที่เข้าเรือนจำต้องควบคุม ห้องที่นายทักษิณไปอยู่ คือห้องควบคุมพิเศษ ในความหมายของตน ส่วนป้ายที่เขียนว่า ตึกนี้ชั้นนี้ เป็นพรีเมี่ยม ตนไม่ทราบ เพราะเป็นที่รักษาคนทั่วไป ญาติพี่น้องตำรวจคนเดียวใครก็ได้เข้าไปรักษา คนทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน คนทั่วไปก็อยู่ได้
ส่วนผู้ที่ไปเยี่ยมนั้น พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า ตนเองยังตำหนิกรมราชทัณฑ์ ที่เปิดให้เยี่ยมน้อยซึ่งจริง ๆ แล้วใครก็ได้ที่ต้องการจะต้องให้เยี่ยม เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กรมราชทัณฑ์ก็กำหนดเอาไว้ และผู้ที่เข้าไปเยี่ยมทั้งหมด ทั้งคนที่อ้างว่าไปเข้าพบมา ขอตรวจสอบได้ เพราะเรายืนยันว่า มีรายชื่อทั้งหมด ส่วนหากจะไปทางหนีไฟหรือไม่ ตนก็ไม่รู้ แต่ยืนยันว่า ข้าราชการรักษาศักดิ์ศรี และไม่ทำอะไรที่จะต้องมาโดนเช่นนี้ หากจะดูรายชื่อก็สามารถดูได้ แต่ตนขอยืนยันว่า ห้องนี้เป็นห้องควบคุมพิเศษและห้องรักษา แต่ตนก็ไม่เคยเดินทางไปพบนายทักษิณ ขณะที่ พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14
ส่วนคณะกรรมการที่ช่วยนายทักษิณ เป็นการใช้อำนาจโดยชอบ หรือไม่เป็นการช่วยเหลือหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแพทย์ได้ให้ความเห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุทั้งหมด และเหลือโทษไม่มาก ซึ่งหมอวินิจฉัยโรคดีกว่าตนวินิจฉัย และเป็นผู้วินิจฉัยว่า เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด มีโรคหลายโรค และไม่มีผู้อื่นเห็นแย้ง รวมถึงผู้แทนอัยการสูงสุด บอกว่า การพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุและการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการจำคุก ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำ และมีผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย จึงขอยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เอกสารส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนที่นายทักษิณ ดูเหมือนสุขภาพดี ช่วยเหลือตัวเองได้ ได้มีการตรวจสอบ ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อำนาจมิชอบหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี ได้ขอให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบ และทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ตรวจสอบกรณีนี้ แล้ว ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และยุติเรื่องไปแล้ว
ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการฯ เห็นว่า คำถามบางคำถาม และบางการชี้แจง ไม่ใช่หน้าที่ของพันตำรวจเอกทวี และหากใครยังมีความสงสัยอยู่ ขอแนะนำให้ลองไปเป็นนักโทษ
ส่วนเรื่องการรักษานั้น พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับนายแพทย์ใหญ่ ชี้แจงว่า เอกสารที่ส่งให้ ป.ป.ช.เหลือเพียงแค่ตัวเวชทะเบียน เนื่องจากเป็นสิทธิ์ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติตาม มาตรา 7 ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล ส่งให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว
นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า มันมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ครั้งที่แล้วกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลกับเราว่า พยาบาล 2 ท่านเป็นผู้วินิจฉัย ส่งตัวนานทักษิณชินวัตร ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่รัฐมนตรีพึ่งบอกเราว่ามีคุณหมอเป็นผู้วินิจฉัย
ส่วนขั้นตอนการส่งตัวนั้น พันตำรวจเอกทวี ชี้แจงว่า แพทย์ได้ตรวจตอน 11.00 น.และพบว่า นายทักษิณ เป็นโรคเยอะ และตกดึกพยาบาล จึงส่งตัวตามตามคำแนะนำของแพทย์ในตอนเช้า และตามกฎหมายเขียนให้พยาบาลเป็นผู้ส่งตัว ไม่ได้ให้แพทย์เป็นผู้ส่งตัว
ทั้งนี้ ภายหลังการซักถามเสร็จสิ้น พันตำรวจเอกทวี ได้ย้ำประธานกรรมาธิการฯ ให้ระวังเอกสารลับ เรื่องของการรักษาตัว เนื่องจาก มีสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้น กรรมาธิการฯ จากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และ สส.พรรคประชาชน ได้เถียงกันกว่า 1 ชั่วโมงแล้ว เนื่องจาก กรรมาธิการฯ จากสส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้เสนอให้ที่ประชุม ได้ดำเนินการประชุมลับ เนื่องจาก นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ และนายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กังวลต่อหนังสือแจ้งเตือน และการแถลงข่าวของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ที่แสดงความกังวลต่อการทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่า กรรมาธิการฯ ควรประชุมลับก่อน เพื่อพิจารณากันว่า กรรมาธิการฯ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร และเหมาะสมที่กรรมาธิการฯ จะพิจารณาเรื่องชั้น 14 นี้หรือไม่ เนื่องจาก กังวลว่า จะถูกร้องเรียนจริยธรรมในภายหลัง
แต่ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมั่นใจในอำนาจและหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ในการตรวจสอบเรื่องนี้ และขอให้เดินหน้าการประชุมต่อไปอย่างโปร่งใส ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการ และนายทักษิณด้วย
ภายหลังการถกเถียงกัน สุดท้าย นายรังสิมันต์ ได้ใช้อำนาจของประธานกรรมาธิการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงมติ ให้กรรมาธิการฯ ประชุมลับ เพื่อหารือกันก่อนว่า จะดำเนินการเรื่องการพักรักษาตัวของนายทักษิณ บนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ โดยที่ประชุม มีความเห็นว่า ให้กรรมาธิการฯ เดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ต่อ