svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดรายงานกมธ."นิรโทษกรรม" ชำแหละเหตุผล นิรโทษคดีความผิด "ม.112" หรือไม่

เปิดรายงานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" 54 หน้า แจกแจงปมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา "ม.112" สมควรได้รับการ"นิรโทษกรรม"หรือไม่

21 ตุลาคม 2567   รายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ชุดที่มี นายชูศักดิ์  ศิรินิล  รมต.สำนักนายกฯในฐานะประธานกมธ.วิสามัญ  ได้ถูกบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีสส. อภิปรายไปได้ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ "พิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน" รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น ชิงปิดการประชุมไปเสียก่อน จนทำให้สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าวแสดงความไม่เห็นด้วย

ขณะที่ "ชูศักดิ์  ศิรินิล" รมต.สำนักนายก ในฐานะเป็นประธานกมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตรา"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ยืนยันว่า จะผลักดัน รายงานฉบับนี้เข้าที่ประชุมสภาฯอีกครั้งในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ซึ่งน่าเป็นโอกาสสุดท้าย เพราะสภาฯจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 30 ตุลาคม 

เปิดรายงานกมธ.\"นิรโทษกรรม\" ชำแหละเหตุผล นิรโทษคดีความผิด \"ม.112\" หรือไม่

"เนชั่นทีวี" ขอเปิดรายงาน ฉบับนี้ เพื่อชี้ให้เห็นเงื่อนปมปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ถูกยื้อออกไป ท่ามกลางคำถามจะผ่านที่ประชุมสภาฯเพื่อเสนอฝ่ายรัฐบาลในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในอนาคตได้หรือไม่ 

รายงานดังกล่าว มีจำนวน 54 หน้า แบ่งเป็น 9 หัวข้อ ส่วนสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 ผลการพิจารณาศึกษา และข้อ 9 เป็นข้อสังเกตคณะกรรมาธิการฯ 

คณะกมธ.วิสามัญ ศึกษารายงาน ฉบับบนี้ ประกอบด้วยบุคคลมากมายทั้งสส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน นักวิชาการ อาทิ วุฒิสาร ตันไชย  โคทม อารียา  นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ /จนท.รัฐ ฝ่ายความมั่นคง นักสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมเป็นกมธ.ศึกษา 

นอกจากร่วมกันให้ความเห็น หาทางออก กำหนดนิยาม "การนิรโทษกรรม" การจำแนก คดีตามตัวบทกฎหมายของหน่วยงานรัฐ พร้อมกางสถิติ จำนวนผู้ต้องคดีทางการเมือง  ซึ่งดูจากที่ประชุม กมธ.ฯจะไม่ติดใจเอาความ

"เมื่อมาถึง การพิจารณาประเด็นการนิรโทษซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ เป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีอ่อนไหว โดยเฉพาะประเด็นคดีอ่อนไหว ที่ระบุไว้ในข้อ ค. การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง  ซึ่งประกอบด้วย ความผิดประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ พระราชินี ฯ ) ตรงนี้ต่างหาก คือหัวใจของเรื่อง ที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้มี"การนิรโทษกรรม" 

แฟ้มภาพ  การชุมนุมของกลุ่มสามนิ้ว ในอดีต

 

มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุม ว่าท่านใดแสดงความเห็นไว้อย่างไร  ฝ่ายเห็นด้วยให้นิรโทษหนีไม่พ้น ฟากฝั่ง สส.ค่ายสีส้ม ขณะที่ สส.ฝั่งพรรครัฐบาล ไม่ว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรม

ข้อสังเกต ข้อดีข้อเสีย การนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว หรือคดีความผิดตามาตรา 110 และมาตรา 112 ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ หน้า 29  "เนชั่นทีวี" ชวนคุณผู้อ่านมาไล่เรียงตรวจสอบกัน

ข้อดี  -การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองในบางคดีเป็นเหตุมาจากการใช้กฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกิดความคับข้องใจนี้ สร้างความขัดแย้ง"แนวดิ่ง" ระหว่างรัฐและประชาชน ฉะนั้น การนิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้ ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง อีกทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในสถาบันดังกล่าวได้

- การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองในบางคดีเป็นเหตุมาจากการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างความขัดแย้ง "แนวระนาบ" คือ ทำให้สังคมแยกเป็นสองเสียง ขาดความสมานฉันท์ และรู้รักสามัคคี ฉะนั้น การนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองนี้ ช่วยมิให้มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชน สร้างบรรยากาศที่สังคมจะหันหน้าคุยกันเรื่องความต่างทางความคิด มากกว่าจะทำร้ายกันด้วยกฎหมาย 

แฟ้มภาพ  การชุมนุมทางการเมือง และก่อเหตุไม่สงบ

-คดีที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจทางการเมืองบางคดีที่อาจเป็นความผิดต่อชีวิตร่างกาย และเสรีภาพเป็นผลจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้กระทำผิดในช่วงที่สังคมขัดแย้งอย่างแหลมคม เช่น ช่วงที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งหลายคนต้อการแสดงความไม่เห็นด้วย  การนิรโทษกรรในคดีเหล่านี้ คือ การบอกกับสังคมว่าเรากำลังผ่านบรรยากาศเหล่านี้ไป สู่จุดเริ่มต้นของความสมานฉันท์ การนิรโทษกรรมจะช่วยพาสังคมออกจากอดีตไปสู่อนาคตที่ข้ามพันความขัดแย้งอันแหลมคม และระบอบทางการเมืองแบบปิด 

 

เนชั่นทีวี นำข้อความตอนหนึ่ง ที่อยู่ในรายงานกมธ.วิสามัญ ศึกษาการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มานำเสนอ

ผลดี - การนิรโทษกรรมคือทางออกต่อคดีที่เกิดขึ้นไปแล้ว 

-การนิรโทษกรรมเป็นช่องทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นตัวแทนประชาชนใช้อำนาจนิติบัญญัติในการคุ้มครองประชาชน ถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

-การนิรโทษกรรมเป็นการให้อภัยต่อกัน ไม่เฉพาะรัฐยกโทษให้ตามหลักการุณยธรรมเท่านั้น ยังหมายถึงการคืนดีระหว่างผู้เห็นต่าง เพื่อมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ 

-อาจมีการเกรงกันก่อนการนิรโทษกรรมว่าจะก่อความขัดแย้ง แต่การนิรโทษกรรมกรณี  6 ตุลาคม 2519 และกรณีนิรโทษกรรมทางปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ก่อผลดีมากกว่าผลเสีย 

การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองน่าจะมีขึ้นได้โดยพิจารณาเป็นรายคดีอย่างรอบคอบตามความหนักเบาของการกระทำ และมีกระบวนการที่เหมาะสม เช่น ในกรณีมีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ สามารถกำหนดให้มีการรอการวินิจฉัยเพื่อจัดให้มีการสานเสวนาประสานความเข้าใจโดยเคารพความเห็นต่าง โดยที่ระหว่างการรอการวินิจฉัย ผู้กระทำจะต้องไม่ทำผิดซ้ำ และในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถกำหนดให้มีกระบวนการเปิดเผยความจริงการขออภัย และการชดเชยความเสียหายโดยผู้กระทำ ทั้งนี้เพื่อลดข้อเสียและเพิ่มผลกระทบในทางบวก 

 

ในรายงานฉบับนี้ มีการนำเสนอข้อดีและข้อเสีย ต่อการนิรโทษกรรมคดีความผิดมาตรา 110 และมาตรา 112

ข้อเสีย- การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เช่น คดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อาจทำให้ประชาชนบางส่วนที่ต้องการปกป้องสถาบันไม่เห็นด้วย และออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน และอาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 112 และความผิดต่อชีวิต ยังมีความเห็นแตกต่างกันในสังคม 

-เกี่ยวเนื่องกับข้อที่หนึ่ง การนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์บางคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นแกนนำการชุมนุม อาจผลักให้คนที่ต้องการปกป้องสถาบันหันไปใช้เครื่องมืออื่นนอกเหนือจากกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบัน เช่น การทำร้ายร่างกายนักกิจกรรม  

-การนิรโทษกรรมคดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ชีวิต และเสรีภาพ อาจทำให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และตั้งคำถามกับระบบยุติธรรม จนอาจจุดชนวนให้คนเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มปกป้องสถาบันเคลื่อนไหว  และจุดประกายความขัดแย้ง 

 

เปิดรายงานกมธ.\"นิรโทษกรรม\" ชำแหละเหตุผล นิรโทษคดีความผิด \"ม.112\" หรือไม่

ผลเสีย 

-การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองบางคดีมีความคาบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือส่งผลกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

-การนิรโทษกรรมในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันในสังคม 

ส่วนการไม่นิรโทษกรรม

ข้อดี  - ช่วยลดเงื่อนไขที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จะออกมาเคลื่อนไหว

-ช่วยลดเงื่อนไขที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์จะใช้มาตรการนอกเหนือกฎหมาย รวมถึงความรุนแรง ในนามของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 

-ลดเงื่อนไขที่กลุ่มประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีความผิดต่อร่างกาย ชีวิต และเสรีภาพจะรวมกลุ่มกับฝ่ายที่ต้านการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขยายปมความขัดแย้ง  

นรายงานฉบับนี้ มีการนำเสนอข้อดีและข้อเสีย ต่อการนิรโทษกรรมคดีความผิดมาตรา 110 และมาตรา 112

ข้อเสีย 

-เนื่องจากบางคดีเป็นเหตุมาจากการใช้กฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกิดความคับข้องใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ และสถาบันหลัก เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ความคับข้องใจนี้สร้างความขัดแย้ง "แนวดิ่ง" ระหว่างรัฐและประชาชน ฉะนั้น การไม่นิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงให้ความคับข้องใจระหว่างประชาชนกับสถาบันแห่งรัฐยังดำรงอยู่ และกลายเป็นเชื้อให้แก่การระดมมวลชนเพื่อต้านรัฐในอนาคต ดังที่เกิดมาแล้ว 

-บางคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองเป็นเหตุมาจากการกลั่นแกล้งระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างความขัดแย้ง"แนวระนาบ" ฉะนั้น การไม่นิรโทษกรรมในคดีเหล่านี้ อาจยิ่งลดขันติธรรมระหว่างกลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง และสร้างความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น 

-การไม่นิรโทษกรรมในคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพอาจส่งสัญญาณว่าสังคมไทยไม่พร้อมให้อภัย ไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่สามารถคิดถึงอนาคตที่คนเห็นต่างจะอยู่ร่วมกันได้ั 

-การไม่นิรโทษกรรในคดีอ่อนไหวสะท้อนว่ากลไกรัฐาสภาขาดประสิทธิภาพในการผลักดัตนประเด็นที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชน และอาจลดความเชื่อมั่นของผู้คนต่อกลไกรัฐสภาได้ 

เปิดรายงานกมธ.\"นิรโทษกรรม\" ชำแหละเหตุผล นิรโทษคดีความผิด \"ม.112\" หรือไม่