นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวทีเสวนา ''ตั้งวงคิด กับ ดร.เอ้ สุชัชวีร์'' เพื่อแก้ปัญหาจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถบัสไฟไหม้ ถึง พ.ร.บ.เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ โดยได้เสนอ ''ร่างพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ'' เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะที่ผ่านมา เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่จังหวัดขอนแก่นในปี 2564 หรือกรณีอื่น ๆ ที่มีการใช้คำว่า ''จะไม่เกิดขึ้นอีก'' แต่สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้น ทั้งอุบัติเหตุการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 หรือประชาชนเดินตกท่อ ดังนั้น การจะสร้างบ้านเมืองให้ปลอดภัย จำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีหน่วยงานกลางมาบริหารจัดการ เพราะในปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายทำให้การแก้ปัญหาเป็นการลูบหน้าปะจมูก จึงจะต้องมี ''หน่วยงานกลาง'' ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ ตามกฎหมาย และไม่มีการล่วงล้ำอำนาจรัฐบาล หรืออำนาจศาล แต่จะต้องเป็นตัวแทนประชาชน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และความเป็นกลาง ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นมา จะต้องมีการถอดบทเรียน แก้ไขข้อผิดพลาดอย่างถูกต้อง แม่นยำและตรงจุด
นายสุชัชวีร์ ยังเสนอไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ร่วมกันสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือเสนอร่างกฎหมายคู่ขนานให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะแม้จะมีการระบุที่ผ่านมาประเทศไทย จะมีองค์หลายหน่วยงานเต็มไปหมดอยู่แล้วนั้น ก็เหมือนปลั๊กไฟภายในบ้านที่มีเต็มไปหมด แต่ไม่มีเซฟทีคัทตัดไฟ และมั่นใจว่า องค์กรตามพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยนี้ จะมีความกระชับ เป็นมืออาชีพ และใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญตามความจำเป็น พร้อมชี้แจงว่า องค์กรกลางเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้ล้อมาจากต่างประเทศ เช่น องค์กรของ ''เกาหลีใต้'' ที่มี ''องค์กรความปลอดภัยเพื่อสาธารณะ'' ที่ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปจัดการกับเรือทัศนศึกษาของนักเรียนล่ม หรือเหตุ ''เรือเซวอน'' ซึ่งองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ได้เข้าไปในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น เพื่อถอดบทเรียน และชี้มูลความผิดจากเหตุการณ์ ทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกิน และมีการต่อเติมเรือ จนนำไปสู่การเอาผิดกัปตันเรือ, วิศวกรผู้ควบคุมเรือ, เจ้าของเรือ และยามชายฝั่ง รวมถึงยังตีแผ่ว่า ประธานาธิบดีมาบัญชาการสถานการณ์ล่าช้าด้วย ก่อนที่จะมีการยกระดับองค์กรเป็นกระทรวงหนึ่งในเกาหลีใต้
นายสุชัชวีร์ ยังย้ำว่า กระดุมเม็ดสำคัญของ ''องค์กรกลางฯ" นี้ คือ การกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยสาธารณะ และการเข้าไปช่วยให้คำแนะนำการกู้ภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยการกู้ภัยในอดีตจนมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูงไปยังอาคารเพลิงไหม้ อาจทำให้โครงสร้างถล่มลงมาได้ หรือการฉีดน้ำเข้าไปในโรงงานสารเคมี แต่เชื้อเพลิงที่ติดไฟนั้น สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ จนเกิดเหตุระเบิด ดังนั้น เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ก็จะช่วยลดการสูญเสียได้ รวมถึงการถอดบทเรียนที่มีมาตรฐานและส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบ
ขณะที่ นายแพทย์ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. เห็นว่า ปัญหาของผู้ประกอบการรถโดยสารยานพาหนะนั้น ส่วนหนึ่งก็ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผู้ประกอบการเป็นรายย่อย มีจำนวนรถไม่มาก ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ถือเป็นต้นทุน ที่ผู้ประกอบการ ต้องการลดต้นทุน โดยหันไปใช้แก๊ส เมื่อต้องประหยัดก็ต้องติดหลายถัง พร้อมยังเห็นว่า เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนต่อใบอนุญาตด้วย ซึ่งหากรถเก่า หรือเป็นการนำรถไปใช้ในการทัศนศึกษาของนักเรียน จำเป็นจะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพ หรือจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจประเมินรถก่อนการใช้งาน เพราะบางเรื่องคุณครู อาจไม่มีความรู้เช่น ระบบรถ ระบบล้อ เป็นต้น
นายธนพงษ์ ยังตัวอย่างอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับคนไทย ที่ไปท่องเที่ยวประเทศมาเลเซียเมื่อ 14 ปีก่อน ที่รสบัส 2 ชั้นพลิกคว่ำ และมีผู้เสียชีวิต ซึ่งก็มี ''หน่วยงานกลาง'' ของประเทศมาเลเซียที่ออกมาวิเคราะห์ และออกข้อกำหนดให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ในการกำหนดมาตรฐานรถ 2 ชั้น และข้อกำหนดที่รถบัส 2 ชั้นห้ามสัญจรผ่าน ซึ่งผลของการมีข้อกำหนดของหน่วยงานกลางดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ดังนั้น การมีหน่วยงานกลางที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นกลางและอิสระ ก็จะช่วยทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง และป้องกันปัญหาได้
ด้าน นายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ อดีตนายกสภาวิศวกร สนับสนุนให้มีหน่วยงานที่เป็นการ และเป็นอิสระในการถอดบทเรียน เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว เพราะการสูญเสียแต่ละครั้งมีมูลค่ามหาสาร ทำให้เกิดความเสียหายด้านความเชื่อมั่นต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยว หรือความเชื่อมั่นผู้ประกอบการรถโดยสารเอง ดังนั้น จะต้องจะต้องช่วยกันดูแลความปลอดภัยสาธารณะอย่างจริงจัง โดยจะต้องดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับบุคล ในการสาธิตขั้นตอนการปลอดภัย อุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ต้องครบถ้วน และมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระใช้หลักวิชาการอย่างจริงจังในการขับเคลื่อน รวมถึงรถจะต้องมีสภาพดี ปลอดภัย เพราะรถโดยสารส่วนใหญ่เป็นรถแฟชั่น ที่ใช้วัตถุไวต่อการติดไฟทั้งหมด ทั้งผ้าม่าน หรือเบาะรองนั่ง ซึ่งไม่สามารถประมาทได้แม้จะเล็กน้อย เพราะสามารถทำให้เกิดหายนะได้ทั้งหมด