svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์ “3 เส้นทางสู่อนาคตที่ได้รับการปกป้อง-เจริญรุ่งเรือง-สดใสสำหรับทุกคน” ยืนยันประเทศไทยพร้อมสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต - พร้อมหารือเอกชน-ผู้นำ ตปท.ต่อยอดท่องเที่ยว แก้น้ำ-เกษตร ติดตามวีซ่าเชงเก้น เดินหน้าร่วมสมาชิกกรอบอินโด-แปซิฟิก

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 : 79th Session of the United Nations General Assembly หรือ UNGA ครั้งที่ 79 ระหว่างวันที่ 22 – 28 กันยายน 2567 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงการประชุม UNGA79

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

โดยวันที่ 23 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น นายมาริษ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต หรือ Summit of the Future ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงของไทย ในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) หัวข้อ “Multilateral Solutions for a Better Tomorrow” ว่า การประชุมสุดยอดแห่งอนาคตครั้งนี้ มอบความหวังในการกำหนดเส้นทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และการประชุมครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะสร้างอนาคตที่มนุษยชาติต้องการ

 

โดยประการแรก “อนาคตที่ทุกคนสามารถได้รับการปกป้อง” และการปกป้องนั้น เริ่มต้นด้วยการตอบรับการเรียกร้องใน “คำมั่นเพื่ออนาคต” หรือ Pact of the Future เพื่อการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในแนวทางดำเนินการเพื่อการเติบโต

 

นายมาริษ ย้ำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยท้องถิ่น ซึ่งมีคนและโลกเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างยั่งยืน ไม่แบ่งแยก หรือทำลายล้าง พร้อมแนะนำให้ใช้ชีวิตอย่างกลมกลืน และสมดุลกับธรรมชาติ เพราะหากไม่มีความยั่งยืน ก็จะไม่มีอนาคต

ประการที่สอง คือ “อนาคตที่ทุกคนสามารถเจริญรุ่งเรืองได้”  ซึ่งหัวใจสำคัญของความเจริญรุ่งเรือง คือ การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน มีการศึกษาที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพ และโอกาสในการจ้างงานต้องพร้อมสำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงการลดช่องว่างเรื่องเพศ และการลดช่องว่างทางดิจิทัล เพื่อให้เทคโนโลยีมีส่วนสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองอย่างครอบคลุม ดังนั้น ประเทศไทย จึงต้องสนับสนุนการเรียกร้องของคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก หรือ Global Digital Compact ที่จะลดช่องว่างด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศและภายในประเทศ

 

นายมาริษ ยังยืนยันว่า ประเทศไทย ตระหนักดีว่า สิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานในการสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง สำหรับทุกคน ดังนั้น ประเทศไทย จึงเสนอชื่อเพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำหรับวาระปี ค.ศ.2025-2027 เพื่อมุ่งมั่น และทำให้แน่ใจว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อความรุ่งเรืองและยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใคร หรือประเทศใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่แข็งแรง หรือเปราะบาง ก็ต้องก้าวไปด้วยกัน

 

ประการที่สาม คือ “อนาคตที่สดใสสำหรับทุกคน” เริ่มต้นด้วยการตระหนักถึงบทบาทของเยาวชน ผู้แบกรับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และส่งเสริมเสียงของเยาวชน ลงทุนในศักยภาพของเยาวชน ดังนั้น  ประเทศไทย จึงภูมิใจที่มีตัวแทนเยาวชน เป็นส่วนหนึ่งในคณะผู้แทนในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดอนาคตที่เยาวชนวาดหวังไว้สำหรับตัวเอง

นายมาริษ ยังระบุว่า ความมุ่งมั่นของไทยต่ออนาคตที่สดใสนั้น ไม่ได้จำกัดแค่ปัจจุบันเท่านั้น เพราะประเทศไทยยินดีกับ “ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง” เพราะปฏิญญานี้เตือนว่า จะต้องรับผิดชอบต่อคนที่กำลังจะเกิดมา ซึ่งถูกกำหนดให้สืบทอดโลกใบนี้ต่อไป เพราะการกระทำของในวันนี้ จะหล่อหลอมการดำรงชีวิตของเยาวชน ดังนั้น จึงต้องสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสเหนืออุปสรรค มีคำสัญญาอยู่เหนืออันตราย มีความหวังเหนือความยากลำบาก เพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป พร้อมเห็นว่า อนาคตทั้ง 3 มิตินี้ จะบรรลุได้ด้วยเจตจำนงทางการเมืองเท่านั้น เพื่อเปลี่ยนวิสัยทัศน์นี้ให้เป็นจริงได้

 

นายมาริษ ยังยืนยันว่า ประเทศไทย สนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต และข้อเสนอในการฟื้นฟูระบบพหุภาคี และสถาบันระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ซึ่งความไว้วางใจในระดับโลก และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และความสำเร็จของการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ไม่เพียงขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาทางออกในระบบพหุภาคีเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิก ที่จะร่วมมือกัน และผลักดันให้ก้าวหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็น

 

นายมาริษ ยังหวังว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่อนาคต ที่ทุกคนสามารถได้รับการปกป้อง อนาคตที่ทุกคนสามารถเจริญรุ่งเรือง และอนาคตที่คำสัญญาของเราสำหรับวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าจะกลายเป็นจริง ด้วยความพยายามร่วมกัน และเจตจำนงทางการเมือง จึงขอให้เราสามัคคี และทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายของวันนี้และมอบวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ให้กับทุกคน

 

ทั้งนี้ ในการประชุมได้รับรองคำมั่นเพื่ออนาคต หรือ Pact for the Future ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง หรือ Declaration on Future Generations และคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก หรือ Global Digital Compact ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้กระบวนการจัดทำ Pact for the Future สะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมให้ความเห็นต่อการยกร่างเอการดังกล่าว พร้อมหวังว่าเอกสารจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลก และให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

อย่างไรก็ตาม ในห้วงการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ยังได้หารือทวิภาคีกับทั้งภาคเอกชน โดยบริษัทแรกที่มีโอกาสพูดคุยกันคือ บริษัท Oracle Corporation ที่มีการลงทุนร่วมกับบริษัท AIS ด้วยปริมาณเงินสูงถึง 8 พันล้านบาท สร้าง Cloud Data Center เพื่อใช้ประโยชน์ในการหาแนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน ตลอดจนให้ภาครัฐได้ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เช่น การบริการจัดการเกษตรกรรมอย่างแม่นยำ สร้างประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาภาคการท่องเที่ยวไม่ให้บุคคลที่มีปัญหาสร้างปัญหาเข้ามาในประเทศ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก 

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

นายมาริษ ยังกล่าวถึงการหารือกับประเทศต่าง ๆ โดยได้หารือกับ นางลูมีนีซา-เตโอโดรา โอโดเบสกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนีย ซึ่งรับตามคำขอให้ช่วยผลักดันอนุมัติวีซ่าเชงเก้น  และให้ผลักดันการทำความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงย้ำว่า รัฐสภาไทยให้ความเห็นขอบความตกลงแบบรอบด้าน (PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้วย เรียกว่าเป็นการพัฒนามากยิ่งขึ้น 

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับ นางจูลี บิชอป ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา ซึ่งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงพัฒนาการของสถานการณ์ภาพรวมในเมียนมา จึงได้เล่าถึงความริเริ่มของไทยในการหารือ 3 ฝ่าย ได้แก่ ไทย อินเดีย และเมียนมา ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ ณ ประเทศอินเดีย ซึ่งอินเดียสะท้อนความห่วงกังวลต่อการเชื่อมโยงถนนสายเอเชีย 1 กับถนนเชื่อม 3 ฝ่าย ตลอดจนข้อริเริ่มของไทยในการหารือ 4 ฝ่าย ได้แก่ ไทย จีน ลาว และเมียนมา ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามแดนระหว่างประเทศ ทั้งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ฝุ่นควัน PM2.5 และการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งการประชุมทั้งสองนั้นล้วนได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงเป็นพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในสถานการณ์เมียนมา นางจูลี แสดงความตั้งใจสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาของไทยได้ดี

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

นอกจากนั้น ยังได้หารือกับ นายทอม ซัลลิแวน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งตนได้ยื่นสัตยาบันสาร ที่ไทยได้ลงนามกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ไปแล้ว ถือเป็นเอกสารสำคัญที่เห็นความตั้งใจของประเทศไทยในการร่วมมือกับประเทศสมาชิก IPEF และได้เล่าถึงพัฒนาการสถานการณ์ประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน นายทอม ซัลลิแวน เข้าใจในความพยายามของประเทศไทยที่จะร่วมกับประเทศที่มีบทบาททั้งหมดในการแก้ไขเมียนมาได้โดยเร็ว สหรัฐฯ ก็เห็นความสำคัญของไทย และรับทราบว่าไทยต้องการร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมาให้ลุล่วงไปได้โดยเร็ว

รมว.กต.ร่วมเวที UN โชว์วิสัยทัศน์-ยืนยันไทยสนับสนุนข้อตกลงเพื่ออนาคต

นอกจากนี้ นายมาริษ ยังตอบสื่อมวลชนเกี่ยวกับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 ซึ่งเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลใหม่ว่า มีการประชุมในหลายเรื่อง เช่น การประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ซึ่งประเทศไทยแสดงความตั้งใจในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกในกรอบองค์การสหประชาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาทุกด้าน 

“สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธารต้องเห็นก็คือ  นโยบายต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องการเห็นนโยบายต่างประเทศที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศได้อย่างชัดเจน” นายมาริษ ระบุ

นายมาริษ ย้ำว่า ได้กล่าวถึงความตั้งใจของรัฐบาล เพราะการเพิ่มประสิทธิภาพของสหประชาชาติก็มีความสำคัญ เพราะโลกปัจจุบัน บทบาทของสหประชาชาติถูกลดความสำคัญไปเยอะ ในฐานะประเทศเล็ก เราต้องการเห็นบทบาทสหประชาชาติที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่สมัชชาสหประชาชาติ แต่ต้องการเห็นบทบาทของคณะมนตรีทั้งหลายอย่างคณะมนตรีความมั่นคง ในการแก้ปัญหาประเทศเล็ก ๆ และประเทศกำลังพัฒนาด้วย ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ตลอดจนเน้นความร่วมมือของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น นี่คือเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยอยู่แล้วในฐานะประเทศเล็ก 

“อยากเห็นประเทศเรามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำหนดทิศทางของประชาคมโลกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวทิ้งท้าย