svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มากับดวง! “อังคณา” จับสลาก ฝ่าด่าน สว.สีน้ำเงิน นั่งปธ.กมธ.พัฒนาการเมืองฯ

มากับดวง! “อังคณา” จับสลาก ฝ่าด่าน สว.สีน้ำเงิน นั่งประธาน กมธ. การพัฒนาการเมืองฯได้ หลังโหวตสองรอบได้คะแนนเท่ากัน ยัน พร้อมจับมือทุกฝ่ายทำงาน เตรียมสานต่องานสว.ชุดเก่าที่ค้างอยู่ ขณะ"ผู้ว่าปู"ตั้งใจประสานรอยร้าว วอนอย่าด้อยค่าสว.

ที่อาคารรัฐสภา หลังจากที่ประชุมวุฒิสภารับรองรายชื่อกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 21 คณะแล้ว ในวันนี้แต่ละคณะจะประชุมเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ และรองประธานกรรมาธิการรวมถึงตำแหน่งต่างๆ โดยมีรายงานว่า ด้วยกลุ่ม สว. ของวุฒิสภา หรือที่เรียกกันว่า สว.สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่นั้นมีการวางตัวบุคคลทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการแล้ว 20 คณะ เว้นแต่ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ซึ่งมีสัดส่วน สว. สีน้ำเงิน กับ สว. เสียงข้างน้อย 9 ต่อ 9 เท่ากัน วันนี้ต้องลุ้นว่าใครจะได้เก้าอี้นี้

 

โดยการเลือกประธานกรรมาธิการในวันนี้นายกัมพล สุภาแพ่ง สมาชิกวุฒิสภาที่มีความอาวุโสสูงสุดจะทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการประชุม หากการโหวตเลือกรอบแรกยังไม่ได้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานหรือว่ามีคะแนนเท่ากัน ก็จะต้องดำเนินการโหวตในรอบที่ 2 แต่หากยังไม่ได้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานอีกก็จะจะต้องทำการจับสลาก ตามข้อบังคับของสภาข้อที่ 5 

 

สำหรับการประชุมเริ่มต้นมีการเสนอชื่อนางสาวอังคณา นีลไพจิตร กับ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงสี และประภาส ปิ่นตบแต่ง แต่ถอนตัว ซึ่งเดิมที สว. สีน้ำเงินจะส่งชื่อ นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด แต่มีการเปลี่ยนชื่อก่อนที่จะเริ่มเลือก โดยการโหวตในรอบแรกคะแนน 9 ต่อ 9 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการโหวตคะแนนในรอบที่สอง ภายใต้คู่ชิงชื่อเดิม ซึ่งการโหวตรอบที่สองยังคะแนนเท่ากัน 9 ต่อ 9 จึงต้องมีการจับฉลาก และท้ายที่สุดนางสาวอังคณา จับฉลากได้นั่งตำแหน่งประธานกรรมาธิการ  

ทั้งนี้ ประธานกรรมาธิการชั่วคราวไม่ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพช่วงแรกที่เริ่มประชุมก่อนที่จะมีการโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานธิการ 

นางอังคณา นีละไพจิตร  สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน

สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังได้รับเลือก ให้ดำรงตำแหน่งประธานกมธ.ว่า ในการเลือกวันนี้ มีการลงคะแนนรับ 2 รอบ ผลปรากฏว่ามีคะแนนเท่ากัน ก่อนที่จะมีการจับฉลาก พร้อมกับยกมือไหว้และกล่าวขอบคุณ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี แคนดิเดตในการเลือกประธานกมธ. และยืนยันว่าหลังจากนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันโดยนายวีระศักดิ์ ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุน ซึ่งทั้งสองคนไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานกรรมาธิการ ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำงานสนับสนุนส่งเสริมกันได้ และขอบคุณคณะกรรมาธิการทุกคน 

 

ส่วนการเริ่มทำงานจะต้องดูสว.ชุดที่แล้ว ทำอะไรไว้บ้าง มีงานค้างหรือไม่ ซึ่งกรรมาธิการชุดนี้เป็นการรวม 2 กรรมการเข้าด้วยกัน คือคณะกรรมการพัฒนาการเมืองกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน โดยหลังจากนี้ จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาด้วย ซึ่งเรื่องสิทธิพลเมืองกับสิทธิทางการเมืองไม่สามารถแยกจากกันได้ เช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าควรจะแยกกันก็ตาม

 

เมื่อถามว่าสว.ชุดเก่าได้มีการตามเรื่องการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 ของนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ จะมีการ ตามเรื่องนี้ต่อหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่างานที่ สว.ชุดที่แล้วทำค้างไว้ และสว.ชุดปัจจุบันมีมติให้ทำต่อ ก็จะดำเนินการตรวจสอบต่อ

ขณะที่นายวีระศักดิ์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกันว่า ส่วนตัวเคารพนับถือนางอังคณา และมั่นใจว่าการทำงานจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเห็นว่าทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ จะต้องมีความสมานฉันท์กัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะมีข้อขัดแย้งกันบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็จบลงในที่ประชุม 

 

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าการตั้งกรรมาธิการสว. สายสีน้ำเงินกินรวบประธานกรรมาธิการเกือบทุกคณะ นายวีระศักดิ์ ปฏิเสธที่จะพูดถึง เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของกรรมาธิการแต่ละคณะ

 

ส่วนรายชื่อกมธ. ที่หลายคนมองว่าอาจจะมีสิทธิ์ผิดฝาผิดตัว และอาจจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า สิทธิพลเมืองต้องมาก่อน ขออย่าไปด้วยค่า เพราะทุกคนมีสิทธิ์ตามความสนใจ อย่างเช่นตนเองก็มาอยู่ในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง มองว่าเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ที่สว. จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ 

 

นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวเปิดใจที่ได้เข้ามานั่งในกรรมาธิการชุดนี้ว่า ได้แจ้งนางอังคณาไว้แล้ว ตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่เพื่อลบรอยราวเล็กๆ ที่มีอยู่ และต้องการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความสมานฉันท์ การเข้ามาชิงตำแหน่งประธานไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะมีคนเสนอชื่อ และยินดีที่นางอังคณาได้รับตำแหน่ง พร้อมยืนยันสามารถทำงานร่วมกันได้

 

นางอังคณา กล่าวเสริมว่า เคยพูดคุยกันมาก่อน ว่าไม่ว่าใครก็ตาม เป็นประธาน ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ และจะสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ส่วนความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งต้องเคารพในเสียงข้างมาก ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย ทั้งนี้พร้อมรับข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใยจากทุกฝ่าย