svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้ง66 : สำรวจ"ขุนพลท็อปบูท" ข้างกายพรรค มือประสานฝ่ายความมั่นคง

ส่องความเคลื่อนไหวสนาม"เลือกตั้ง66" ในส่วนผู้สมัคร"ส.ส.บัญชีรายชื่อ" พรรคต่างๆ ชวนให้คิด หลายพรรคแทบไม่มี"ขุนพลท็อปบูท" ระดับนายพลลงสมัครเลย ติดตามได้ในโพลิทิกส์พลัส โดย"เมฆาในวายุ"

หากไล่สำรวจผู้สมัคร"ส.ส.บัญชีรายชื่อ"ของพรรคต่างๆกับศึกหย่อนบัตรงวดนี้ น่าคิดว่าหลายพรรคแทบไม่มี"ขุนพลท็อปบูท"ระดับนายพลลงสมัครเลย แตกต่างกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา  ปรากฏการณ์แบบนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไล่เรียงหน้าประวัติศาสตร์ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ พบว่าการเมืองไทยกับกองทัพมีสายใยบางๆเชื่อมยึดไว้ ในยามมีสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ว่ากรณีใดๆ การหารือในชั้นต้นของคีย์แมนรัฐบาลกับแม่ทัพนายกองกับภาวะความมั่นคงของประเทศในการเดินหมากขั้นต่อไปนั้นมักจะเกิดขึ้น

แฟ้มภาพ  การเกณฑ์ทหาร เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคการเมืองบางพรรคหาเสียง

การจัดรูปขบวนรับ"ศึกเลือกตั้ง66" กลับพบว่า หลากพรรคไร้สายใยบางๆเหล่านี้  มองไปถึงวันข้างหน้า หากการไต่ระดับนโยบายของแต่ละพรรคที่วางไว้ในตอนหาเสียงนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเหล่าทัพ เช่นปฏิรูปกองทัพ,ยกเลิกเกณฑ์ทหาร,ตัดลดงบซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเหล่านี้ วันดีคืนดีพรรคเหล่านั้นได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าได้หรือไม่ล้วนเป็นเรื่องให้ชวนคิดพิจารณา 

มาไล่เรียงรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อและสตาฟฟ์หลังบ้านของคีย์แมนพรรคดูว่า แต่ละพรรควางสายใยไว้อย่างไร

พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา  แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ

"พรรครวมไทยสร้างชาติ" ไม่พบขุนพลระดับนายพลในสามเหล่าทัพ(กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ)ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีของพรรค มีเพียงหัวเรือใหญ่ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" จัดในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  แต่ไม่ต้องสงสัยเพราะคีย์แมนพรรค"ลุงตู่"นั้นยืนหนึ่งในฝั่งอนุรักษ์นิยม และน่าจะดีลกับคนในแวดวงกองทัพได้ง่าย

"บิ๊กอี๊ด" พลเอกธัญญา เกียรติสาร" อดีตแม่ทัพภาคสอง สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

"พรรคพลังประชารัฐ" วางหัวหน้าพรรค "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" ไว้เป็นผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่1 รวมทั้งแคนดิเดตสร.1 และน่าจะเป็นพรรคเดียวที่บุคคลระดับผบ.ทบ.ในวันวานสวมเสื้อนักการเมืองในวันนี้ แต่"บิ๊กทหาร"ที่แวดล้อม"ลุงป้อม"และมาช่วยงานการเมืองโดยมิได้ลงสมัครผู้แทนราษฎรนั้นพบชื่อ"พลเอกธัญญา เกียรติสาร" อดีตแม่ทัพภาคสอง,"พลเอกณัฐ อินทรเจริญ" อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, "พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" อดีตรมว.กลาโหมและอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาเป็นคนเดินเกมหาแต้มให้"ลุงป้อม"ร่วมกับฝ่ายเสธ.คนอื่นๆที่ช่วยงาน"บิ๊กป้อม"มายาวนาน "พปชร." น่าจะไร้ปัญหากับแวดวงท็อปบูทเพราะ"ลุงป้อม"และทีมงานหาใช่คนอื่นคนไกล

"พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" อดีตรมว.กลาโหมและอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กลับมาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพปชร.

 

"พรรคเพื่อไทย" มี "พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี"ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่27 ที่พอจะคุ้นชื่อกันบ้างสมัยเป็นแม่ทัพภาคสี่ หรือจะนับ"นางประวีณ์นุช อินทปัญญา" ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 22 ซึ่งเป็นภริยาของ"พลเอกนพดล อินทปัญญา" ส.ว.และเป็นเพื่อนกับ"ลุงป้อม"ไว้ว่าด้วยก็พอกล้อมแกล้ม  

"พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี"ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่27 พรรคเพื่อไทย

แต่สายใยของพท.นั้น ภริยาของ"บิ๊กกี่"น่าจะช่วยเชื่อมได้มากกว่า   แตกต่างอย่างยิ่งกับยุค"ไทยรักไทย"ยุคแรกที่มีชื่อของพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา,พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รวมทั้งยุคที่สองที่มีชื่อ"พลตรีศรชัย มนตริวัต" คนใกล้ชิด"พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ" ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ  หรือสมัยพรรคพลังประชาชน นอมินีของพรรคไทยรักไทยที่มีขุนพลกรุงเทพฯ "สมัคร สุนทรเวช" เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ผู้สมัครส.ส.ระบบสัดส่วนก็แทบไม่มีแม่ทัพนายกองชั้นนำมาลงสมัคร(19 กันยายน 2549 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกยึดอำนาจและถูกยุบพรรคเพราะทุจริตเลือกตั้ง2เมษายน2549 ) หรือในยุคนารีขี่ม้าขาว"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"นั้นพบเพียง"พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา" ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ

"เสธ.อ้าย" พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 พรรคประชาธิปัตย์

"พรรคประชาธิปัตย์"  วาง"เสธ.อ้าย" พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26  แต่วันนี้บารมีของเสธ.อ้ายจะเบ่งบานเหมือนในวันวานหรือไม่นั้น ไม่อาจทราบได้

ส่วนพรรคที่ไร้บิ๊กเนมแวดวงท็อปบูทนั้น ปรากฏชื่อของ"พรรคภูมิใจไทย,พรรคเสรีรวมไทย,พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคไทยสร้างไทยและพรรคประชาชาติ" เพราะพรรคเหล่านี้ไม่มี"บิ๊กเนม"ของแวดวงนายทหารชั้นนายพลมาลงสมัคร(อาจมีนายทหารระดับชั้นรองๆปรากฏชื่ออยู่บ้างแต่บารมีอาจไม่เทียบชั้นพรรคอื่นๆที่กล่าวไว้ข้างต้น)

"พรรคก้าวไกล" ไม่มีขุนพลท็ปบูทวางไว้ในผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในงวดนี้ แตกต่างจากครั้งที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นเพราะมีชื่อของพลโทพงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ในพรรค แต่คราวนี้พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสองน่าจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่าพรรคฝั่งประชาธิปไตยนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องแยกตัวอย่างชัดแจ้งกับฝ่ายกองทัพ และน่าจะเป็นจุดขายที่"พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสอง" ชูไว้ขายกับชาวประชาว่าระบอบ3ป.ต้องยุติและแยกฝ่ายกองทัพออกจากการเมืองโดยชัดแจ้ง

ติดตามกันว่าวันที่ 14 พ.ค. พรรคใดจะได้เดินเข้าตึกไทยคู่ฟ้ากับกลเกมการหาเเต้มยามนี้ ในเมื่อบางพรรคพกขุนพลท็อปบูทมาลุย เเต่บางพรรคไร้เงาเเม่ทัพนายกองมาหนุนในการหาเเต้ม