แม้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยังไม่ได้ออกมาคอนเฟิร์มจะร่วมช่วยพรรคลุยศึกเลือกตั้งหรือไม่ แต่ข่าวการรีเทิร์น ของ “เดอะ มาร์ค” ก็สร้างความคึกคักให้กับ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นอย่างยิ่ง โดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ Nation Online วิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นภาพชัดๆ ว่า การกลับมาของ “อภิสิทธิ์” จะส่งผลอย่างไรต่อ “พรรคประชาธิปัตย์”
โดยสิ่งที่ต้องขบคิดพิจารณาเพิ่มเติม ก็คือเรื่องราวความหลังระหว่าง “อภิสิทธิ์” กับ “บิ๊กตู่” ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 เขาได้ประกาศ “ไม่เอาประยุทธ์” ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ก็ฟาดฟันกับ "อภิสิทธิ์" มาโดยตลอด ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ กระทั่งถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังนั้นการกลับมาของ “อภิสิทธิ์” จะส่งผลต่อยุทธศาสตร์การร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งของ "พรรคประชาธิปัตย์" หรือไม่ และอย่างไร ?
บทความที่น่าสนใจ
เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?
“รวมไทยสร้างชาติ” กับจุดขาย “ขวาจัด” ปังหรือแป้ก ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ?
“อภิสิทธิ์ รีเทิรน์”
รศ.ดร.ธนพร แสดงความคิดเห็นว่า การกลับมาร่วมสู้ศึกเลือกตั้งของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ กับ “พรรคประชาธิปัตย์” แต่อย่างน้อยๆ ชื่อของ "อภิสิทธิ์" ก็ยังมีมนตร์ขลัง ในการเรียกอดีตแฟนคลับจำนวนหนึ่ง ให้กลับมาสนับสนุนพรรค
ผมพูดตรงๆ นะ วันนี้ “ประชาธิปัตย์” ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ การที่ “คุณอภิสิทธิ์” กลับมา ยังไงคะแนนก็บวกเพิ่ม เพียงแต่มากหรือน้อยมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถามว่าตอนนี้โดยสถานการณ์ ก็อยู่ในจุดต่ำสุดอยู่แล้ว
ดังนั้น “พรรคประชาธิปัตย์” จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ต้องมีอะไรใหม่ๆ ต้อง Turning Point ให้เกิดจุดเปลี่ยน โอเคแหละ ถ้ายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องเรียกขวัญกำลังใจคนรุ่นเก่ากับแฟนคลับที่เหนียวแน่นให้กลับมาก่อน
ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 “แฟนคลับประชาธิปัตย์” จำนวนมากเคยเปลี่ยนใจไปเลือก “พลังประชารัฐ” วันนี้ก็ต้องดึงแฟนคลับเก่าๆ ให้กลับมา ดังนั้นการที่ไปเชิญ “คุณอภิสิทธิ์” มาลงปาร์ตี้ลิสต์ ผมว่ายังไงก็ทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ดีขึ้นแน่นอน เพราะมันไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว
ขั้วบิ๊กตู่ ขั้วเพื่อไทย ล้วนเคยมีสตอรี่กับอภิสิทธิ์
แม้การกลับมาของ “อภิสิทธิ์” อาจส่งผลบวกต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งในระดับหนึ่ง แต่โจทย์ที่ท้าทาย ที่ผู้บริหารของ “พรรคประชาธิปัตย์” ต้องนำไปขบคิดพิจารณา ก็คือบทบาทในอดีตที่ “อภิสิทธิ์” ล้วนเคยมีสตอรี่กับทั้ง 2 ฝั่ง
ผมพูดตรงๆ นะ คนอื่นไม่กล้าพูดอย่างผม สิ่งที่สำคัญที่สุด “พรรคประชาธิปัตย์” จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนกับ “คุณอภิสิทธิ์” ตั้งแต่ต้นว่า หลังการเลือกตั้ง พรรคตัดสินใจอยู่กับฝ่ายไหน
เชื่อว่าจะต้องมีการคุยกันแน่ๆ และเป็นเงื่อนไขสำคัญ หลังการเลือกตั้งเนี่ย “ประชาธิปัตย์” จะไปเป็นรัฐบาลกับใคร เพราะอย่าลืมนะครับว่า “คุณอภิสิทธิ์” ก็มีสตอรี่กับทั้ง 2 ข้าง
สตอรี่กับ “คุณประยุทธ์” ในการเลือกตั้งปี 2562 “คุณอภิสิทธิ์” เป็นหัวหน้าพรรค ก็ประกาศว่า จะไม่สนับสนุน “คุณประยุทธ์” เป็นนายกฯ สตอรี่กับ “พรรคเพื่อไทย” ก็ต่อสู้กันมาตลอดอายุการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน
ทั้ง 2 ข้างมีสตอรี่กับ “คุณอภิสิทธิ์” หมดเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ต้องเคลียร์กับ “คุณอภิสิทธิ์” ก่อนก็คือ “ประชาธิปัตย์” จะไปเป็นนั่งร้านให้กับข้างไหน พูดกันให้ชัด จะไปเป็นนั่งร้านให้ “ลุงป้อม” หรือเป็นนั่งร้านให้ “ลุงตู่”
ถ้าไปเป็นนั่งร้าน “ลุงป้อม” ก็หมายความว่า “คุณอภิสิทธิ์” ก็จะต้องไปเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” แต่ถ้าจะไปทาง “ลุงตู่” คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องร่วมโหวต “ลุงตู่” เป็นนายกฯ
ถ้าถามผมว่า “คุณอภิสิทธิ์” จะกลับมาร่วมงานกับ “พรรคประชาธิปัตย์” ได้ไหม ผมบอกเลยว่า “ได้” เพราะท่านเป็นสมาชิกพรรคอยู่แล้ว มีเสื้อคลุมให้ ท่านก็สามารถทำงานได้เลย
แต่สิ่งที่สำคัญ ทางพรรคต้องคุยกับ “คุณอภิสิทธิ์” ก่อนว่า หลังเลือกตั้งแล้ว จะไปเป็นนั่งร้านให้กับข้างไหนกันแน่ ซึ่งมันจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการทำงานให้กับ “คุณอภิสิทธิ์” ถ้าท่านตอบตกลง
ถ้า “อภิสิทธิ์” ร่วมศึกเลือกตั้ง “ประชาธิปัตย์” มีแนวโน้มได้ ส.ส. ตามเป้า
ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ "พรรคประชาธิปัตย์" ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน นั่นก็คือ 52 คน ซึ่งในกรณี “อภิสิทธิ์ รีเทิร์น” รศ.ดร.ธนพร ก็ประเมินว่า มีความเป็นไปได้
ถ้า “คุณอภิสิทธิ์” ไม่มา “พรรคประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.ต่ำกว่า 40 คน แต่ถ้า “คุณอภิสิทธิ์” มา จะได้ ส.ส. ถึง 50 คน ซึ่งจำนวน ส.ส. 50 คน มันเป็นขนาดที่เหมาะสมในการร่วมรัฐบาล ผมถึงได้บอกว่า “คุณจุรินทร์” กับผู้บริหารพรรคจะต้องเคลียร์กันให้ชัดว่า สรุปแล้วเนี่ยจะอยู่กับ “ลุงป้อม” หรืออยู่กับ “ลุงตู่”
ถ้าอยู่กับ “ลุงป้อม” ก็แปลว่าต้องอยู่กับ “พรรคเพื่อไทย” ด้วย เพราะว่า “เพื่อไทย” ยังไงก็ไม่แลนด์สไลด์ หรือหากอยู่กับ “ลุงตู่” ก็ต้องเอาให้ชัด (แคนดิเดตฯ เพื่อไทย เป็นใครไม่สำคัญ สุดท้ายบิ๊กป้อมเป็นนายกฯ)
ซึ่งคำว่าอยู่กับ “ลุงตู่” หมายความว่า สมมติ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้ ส.ส.มากกว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ก็ต้องยอมรับนะว่า การจับขั้วรัฐบาลแบบปี 2562 ก็ยังเป็นขั้วเดิม เพียงแต่ “พรรคพลังประชารัฐ” แบ่งเป็น 2 พรรค ซึ่งถ้าประชาธิปัตย์จะร่วมงานกับปีกนี้ “คุณอภิสิทธิ์” ก็ต้องโหวตสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ
คำถามก็คือ “คุณอภิสิทธิ์” จะเลือกใครล่ะ ถ้า “พรรคประชาธิปัตย์” จะตั้งรัฐบาลกับ “พล.อ. ประวิตร” ก็ต้องเป็นรัฐบาลร่วมกับ “พรรคเพื่อไทย” นี่คือประเด็นที่ผมคิดว่า ในการหารือระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “คุณอภิสิทธิ์” ต้องมีพูดคุยกันเรื่องนี้แน่นอน
ยุทธวิธีแพ็คคู่ กอดคอกันเป็นรัฐบาล
ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชัดเจนแล้วว่า จะต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดย รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า หลายพรรคได้จับมือหลวมๆ ล่วงหน้าแล้ว อีกทั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” ยังมียุทธวิธีแพ็คคู่ ที่นอกจากจะได้เป็นรัฐบาลแล้ว ยังได้ครอบครองกระทรวงระดับเกรดเออีกต่างหาก
ผมพูดกับ “เนชั่น” เลยนะครับว่า ยุทธวิธีของ “พรรคประชาธิปัตย์" เขาไปเป็นแพ็คคู่กับ “ภูมิใจไทย” ผมพูดตรงๆ นะ ตอนตั้งรัฐบาลปี 2562 ทั้ง 2 พรรคเริ่มรู้แล้วว่า ถ้าขายเป็นแพ็คคู่ มันเลือกกระทรวงได้ “ภูมิใจไทย” ได้คมนาคม ได้สาธารณสุข ได้ท่องเที่ยวและกีฬา ส่วน “ประชาธิปัตย์” ได้เกษตร ได้พาณิชย์ ได้พัฒนาสังคม และได้รองนายกฯ พรรคละ 1 ที่นั่ง
พูดตรงๆ ก็คือ ถ้าไม่ไปเป็นแพ็คคู่ เขา (พรรคแกนนำ) คงไม่ปล่อยกระทรวงเกรดเอให้หรอก หากไม่แพ็คคู่ ไม่มีคู่หู อำนาจต่อรองในการเลือกกระทรวงมันก็น้อย
ฉะนั้นวิธีการที่ทำให้พรรคที่มี ส.ส.ไม่เยอะ แต่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการบริหารกระทรวงใหญ่ๆ ได้ ก็ต้องใช้วิธีการขายเป็นแพ็คคู่แบบนี้แหละครับ